วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

แม่นาคพระโขนงเวอร์ชั่นแม่บ้านชนชั้นกลาง+รักโรแมนติค

ข้าพเจ้าตามนักศึกษาวิชาการเมืองในนวนิยายของ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ไปทัศนศึกษาศาลแม่นาคพระโขนงที่วัดมหาบุศย์ ได้เห็นอะไรน่าสนใจที่อยากตั้งข้อสังเกตอยู่หลายประการ


ศาลแม่นาคมีคนไปทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมายโดยเฉพาะการขออะไรบางอย่างจากแม่นาค ตั้งแต่ขอให้สมหวังในความรัก ขอให้ไม่โดนเกณฑ์ทหาร ขอหวย ฯลฯ การขอสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สะท้อนภาพของแม่นาคที่คนต้นศตวรรษจดจำ

เรื่องราวของแม่นาคถูกเล่าซ้ำ ๆ ทั้งปากต่อปาก นิทาน/นิยาย ละครหลายรูปแบบและภาพยนตร์ พล็อตหลักของเรื่องกล่าวถึงหญิงทีคลอดลูกตายขณะสามีไปเป็นทหาร เมื่อสามีกลับมาบ้านโดยไม่รู้ว่าภรรยาตายก็อยู่เลยร่วมกัน การถูกปราบของเธอเป็นไปหลายรูปแบบตั้งแต่ถูกเรียกลงหม้อข้าวแล้วถ่วงน้ำ จนถึงการพ่ายแพ้ตอนสมเด็จพุทธาจารย์โต

องค์ประกอบหลักที่แม่นาคทุกเวอร์ชั่นต้องมีคือการยืดแขนเก็บมะนาวที่ตกใต้ถุนบ้าน อะไรประมาณนี้หลอนคนไทยต่อเนื่องมาหลายรุ่น

แต่กิจกรรมที่ได้เห็นที่ศาลแม่นาคสะท้อนความทรงจำเกี่ยวกับแง่มุมชีวิตที่ถูกบอกเล่าของเธอ ไม่ว่าการที่พ่อมากโดนเกณฑ์ไปเป็นทหาร เราจึงเชื่อว่าแม่นาคจะช่วยให้คนรอดพ้นจากการจับได้ใบแดง หรือช่วยให้คนสมหวังกับความรักเพราะเรื่องราวการให้ความสำคัญกับความรักแม้เมื่อตายไปของเธอ

ดูเหมือนเรื่องราวของแม่นาคที่ผูกใจและมีอิทธิพลต่อความทรงจำชนชั้นกลาง ณ เวลานี้ไว้ได้ น่าจะเป็นการตีความใหม่ที่ถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์ของคุณนนทรีย์ นิมิบุตร ที่ให้ภาพแม่นาคที่คนในช่วงรอยต่อศตวรรษเข้าใจหรือเชื่อมโยงกับตัวเองได้

ภาพของแม่นาคในเวลานี้สอดคล้องกับนิยามความเป็นหญิงที่เชื่อมโยงกับความเป็นเมียและแม่ ที่ดำรงอยู่ในครอบครัวแบบชนชั้นกลาง (ประกอบด้วยสามี-ภรรยา-ลูก) ที่แยกขาดจากครอบครัวขยายเดิมและคนในชุมชน คล้าย ๆ กับอยู่บ้านจัดสรรหรือคอนโดที่ต่างคนต่างอยู่ (เพราะอย่างนี้พ่อมากเลยไม่รู้ว่าเมียตายเมื่อกลับจากการไปเป็นทหาร เพราะชีวิตแยกจากครอบครัวเดิมและคนอื่นในชุมชน อะไรประมาณนี้คล้ายคลึงชีวิตคนเมืองชนชั้นกลางไม่น้อย ทำให้เข้าใจได้อย่างรวดเร็ว ทำให้รูปแบบวิถีชีวิตแม่นาคในช่วงเวลานี้เข้าใกล้ครอบครัวแบบ “ลัดดาแลนด์” อยู่มาก)

เรื่องราวของแม่นาคที่ถูกเล่าใหม่นี้ทำให้เธอดูไม่ต่างจากภาพของผู้หญิงและความเป็นหญิงของเพศวิถีกระแสหลักที่คนต้นศตวรรษที่ 21 คุ้นเคย ภาพของแม่นาคในความทรงจำร่วมสมัยน่าจะต่างกับภาพหญิงสามัญชนในช่วงชีวิตของแม่นาคเองอยู่ไม่น้อย เช่นพ่อมากตัวจริงน่าจะต้องไปอยู่บ้านเมีย แวดล้อมไปด้วยญาติฝ่ายเมียมากกว่าจะอยู่กันสองต่อสองแบบบ้านจัดสรรคนเมืองในเวลานี้ เพราะอย่างทำให้เข้าใจได้ยากที่เมื่อกลับจากเป็นทหารแล้วจะไม่รู้ว่าเมียตาย เพราะญาติเมียที่น่าจะต้องดูแลแม่นาคเมื่อคลอดลูกน่าจะบอกให้รู้

แม่นาคที่ถูกนำเสนอแบบแม่บ้านที่อยู่แยกจากครอบครัวเดิมของคน-เฝ้ารอรักนี้ ต้องรสนิยมคนในช่วงเวลาที่ความรักแบบโรแมนติคถูกให้ค่าสูงส่งจนกลายเป็นอะไรที่คนขาดไม่ได้ในการดำรงชีวิต ภาพของแม่นาคในหนังหรือละครออกอาการหญิงที่ยึดมั่นในรักแม้ความตายก็พรากให้จากกันไม่ได้ ความรักและห่วงผัวกลายเป็นสำนึกสุดท้ายก่อนตายที่ดึงให้เธอไม่ไปไหน

ฉากการร่ำลาระหว่างแม่นาคกับพ่อมากในตอนท้าย ๆ ของหนัง “นางนาค” (ฉบับนนทรีย์) 
สะท้อนการยึดเหนี่ยวชายที่เป็นที่รักแบบไม่ยอมปล่อย ภาพการเกาะกุมมือยึดไว้แม้ปลายนิ้วในเวลาที่ต้องพรากจากทำให้บางคนน้ำตาร่วงรินตามแม่นาค-พ่อมากไปด้วย รักโรแมนติคที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมแต่ตอกย้ำกับคนดูว่ารักไม่มีวันตายสอดรับกับความเชื่อเกี่ยวกับความรักโรแมนติคของหลายคน

คนไม่น้อยที่ซาบซึ้งกับแม่นาคฉบับรักโรแมนติคลืมไปว่าตามเรื่องเธอเสียชีวิตไปก่อนที่ความรักจะจืดจาง ถ้าไม่ตายแล้วอยู่ร่วมกับพ่อมากตามวิถีแบบชนชั้นกลางในเวลานี้ อาจเบื่อกันและพาลทะเลาะกันบ้านแทบแตกอยู่เนือง ๆ ก็เป็นได้ ที่รักของเธอดูงดงามนักเพราะคนตายไปก่อนที่ความรักแบบโรแมนติคจะตาย

แม่นาคที่คนในเวลานี้จดจำจึงเป็นการจับพล็อตเก่าใส่ในบริบทและรายละเอียดร่วมสมัย ที่น่าสนใจคือคนมากมายพึ่งพิงแม่นาคหรือย่านาคของพวกเขาว่าจะช่วยเหลือได้ในเรื่องความรัก การเกณฑ์ทหาร ฯลฯ ตามเรื่องเล่าเวอร์ชั่นล่าสุดที่อาจจะต่างจากประสบการณ์ชีวิตของแม่นาคในเวลาของเธอมาก

ของที่ผู้คนเอาไปถวายหรือแก้บนก็สะท้อนรสนิยมร่วมสมัยอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกายแบบ “ชุดไทยประยุกต์” (เท่าที่เห็นแขวนอยู่ในศาลแม่นาคมักเป็นชุดไทยจักรี) เครื่องสำอางค์นานาชนิด ของใช้เด็กอ่อน ของเล่นเด็ก ที่น่าจะต่างจากวิถีชีวิตของผู้คนในช่วงเวลาที่แม่นาคน่าจะมีชีวิตอยู่มาก จนทำให้สงสัยว่าใครเป็นคนกำหนดหรือสื่อว่าแม่นาคชอบอะไร แบบไหน ที่เห็นได้คือการค้าขายและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับแม่นาคมากมาย แม่นาคจึงเกื้อกูลคนจำนวนไม่น้อยที่ขายของและให้บริการคนทีมาเยี่ยมเยียนเธอที่ศาล ณ วัดมหาบุศย์

คนมากมายช่วยกันสร้างภาพของแม่นาคตามเรื่องราวที่เขาได้ยินหรือได้ดู การเล่าเรื่องของเธอในเวอร์ชั่นใหม่ ๆ ผลิตความเป็นแม่นาคแบบร่วมสมัยที่หล่อเลี้ยงความเป็นอมตะในรูปแบบที่เลื่อนไหลไปตามการตีความและความเข้าใจของคนแต่ละรุ่น

แม่นาคเป็นใคร ชีวิตของเธอเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึนบ้างที่พระโขนงอันเป็นที่มาของเรื่องเล่านี้บ้าง อาจไม่สำคัญเท่าการตีความและเล่าเรื่องของเธอ โดยปรับให้เข้ากับความเข้าใจและจินตนาการของยุคสมัย

แม่นาคจึงเป็นอะไรก็ได้ที่เราอยากจะเล่า และเธอคงจะมีที่ทางในสังคมไทยไปอีกนานแสนนาน เพียงแต่ว่าความเป็นแม่นาคน่าจะเคลื่อนไปตามความเชื่อและความหมายของคนที่บอกเล่าและรับรู้เรื่องของเธอในแต่ละช่วงเวลา...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น