วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2555

“ทวิตรัก” หมายเลข 16 – รักออนไลน์


มีคำถามส่งมาว่าด้วยการสานสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ขอตอบให้ร่วมกันอ่าน+ร่วมกันคิด เพราะอาจจะสอดคล้องกับประสบการณ์ของหลายคนที่งงงันปนปวดใจกับการสร้างสัมพันธ์ออนไลน์

มีคนมา “ชวนคุย” ผ่านช่องทางสื่อสารอย่าง “WhatsApp” “Facebook” “MSN” ฯลฯ บ่อยๆ ครั้งละนานๆ ต่อเนื่องกัน เรียกว่าเป็นการ “คบ” กันหรือไม่ ทำไมหลายคนที่ชอบคุยกับเราผ่านช่องทางแบบนี้จึงไม่อยาก “คุย” กับเราตัวเป็นๆ ไม่ยอมโทรมาหา ไม่ยอมนัดเจอ อาการก้ำกึ้งแบบนี้แปลว่าอะไร เราเป็นคนพิเศษในชีวิตของเขาหรือไม่

ถ้าไม่ชอบอาการจะห่างก็ไม่ห่าง จะใกล้ก็ไม่ใกล้แบบนี้จะทำอย่างไรดี

เมื่อความสัมพันธ์ไม่ได้ดังใจ เรามักตั้งคำถามว่าทำไมเขาจึงไม่น่ารักกับเราในวิถีที่เราอยากให้เขาเป็นและทำ โดยไม่ถามตัวเองต่อไปด้วยว่ารู้คำตอบแล้วได้อะไร

คำถามที่ควรจะถามและใคร่ครวญน่าจะเป็นว่า เรารู้สึกอย่างไรกับท่าทีเช่นนั้น และควรจะจัดการกับความรู้สึกนั้นอย่างไร

เวลาที่ Social Media รุ่งเรืองเฟื่องฟูแบบนี้ คนมากมายใช้ช่องทางสื่อใหม่ในการติดต่อสานสัมพันธ์กับคนที่น่าสนใจ โดยมีข้อได้เปรียบคือการจัดการรักษาระยะห่างได้ตามความสะดวกของตัวเอง

เราเลยได้เห็นอาการใกล้ออนไลน์ – ห่างออฟไลน์ หรือสนิทสนมแบบเสมือนจริงโดยไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกันตัวเป็น ๆ อาการประมาณนี้ทำให้หลายคนจัดที่ทางไม่ถูกว่าคนที่ตัวเองใกล้ชิดในสื่อสังคมควรจะเป็นอะไรในชีวิตจริง

บางคนพอใจจะสนิทสนมและดำเนินความสัมพันธ์แบบเสมือนจริงนี้ไปเรื่อย ๆ เพราะข้อจำกัดในชีวิตจริง (เช่นมีลูกมีเมียเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว – เรื่องนี้ดูจะเป็นข้อจำกัดหลักของชายชนชั้นกลางไทย ทำให้ไม่สานสัมพันธ์ออฟไลน์กับหญิงที่ตัวเองไปกระลิ้มกระเหลี่ยออนไลน์)

บางคนพอใจจะดี้ด้าออนไลน์โดยไม่อยากรับความรับผิดชอบและหน้าที่ปฏิบัติของการมีแฟนในชีวิตจริง ก็เลยรักษาระยะห่างในการติดต่อที่จะสร้างความยุ่งยากเกินความสะดวกที่ตัวเองจะยอมรับได้ เราเลยได้เห็นอาการแชทหวานฉ่ำแต่นิ่งสนิทไม่สานต่อแบบตัวเป็นๆ

อย่าลืมว่าโลกออนไลน์เป็นพื้นที่ให้เราหลบหนีจากปัญหา ความทุกข์และความไม่สมบูรณ์ของชีวิตประจำวัน อะไรที่ทำออนไลน์กับออฟไลน์จึงไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเดียวกันอย่างสอดคล้อง

ในที่สุดแล้ว การพยายามหาคำอธิบายว่าทำไมคนจึงทำอย่างที่เขาทำอาจจะเป็นไปไม่ได้เลยก็ได้ ลองถามตัวเองดีไหมว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ทำให้เราเป็นสุขดีอยู่หรือ (ถ้าเป็นสุขคงไม่ถาม “ทวิตรัก” ลองนะ) ถ้าปวดหัวนักก็ถอยดีกว่า

แต่หลายคนก็ไม่สามารถจะถอยไปเฉย ๆ เพราะความเคยชินกับแบบแผนละครหลังข่าว ที่ต้องมีเริ่มต้นและฉากจบให้ชัดเจนรู้เรื่อง ก็เลยพยายามเคลียร์โดยบอกอีกฝ่ายว่า “ฉันจะไปแล้วนะ” โดยทั่วไปเมื่อได้ยินอะไรประมาณนี้ เราจะเห็นอาการยื้อตามมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้ปวดหัวต่อไปอีกพักใหญ่ ๆ

คนที่บอกคนรักว่าทนไม่ไหว ไม่อยู่ด้วยแล้ว มักจะยังไม่ถึงจุดแตกหักจริง เพราะถ้าจะไปก็คงไปเลยโดยไม่ต้องรอให้คนรักยินยอมเลิก

เวลาความสัมพันธ์ไม่เวิร์ค เราแต่ละคนเป็นฝ่ายตัดสินใจเดินจากไปได้เสมอ แต่มักจะรอให้อีกฝ่ายเลือกเดินจากไป

การเลิกกับคนรักต้องอาศัยแรงใจมากมาย ถ้าความสัมพันธ์ไม่เป็นสุขก็ถอยมาอย่ายื้อจะดีกว่าไหม เก็บแรงใจไว้จัดการกับอารมณ์ความรู้สึกตัวเองจะดีกว่า

อันที่จริง ความสัมพันธ์แบบเสมือนจริงเช่นนี้น่าจะทำให้การเดินถอยห่างจากมาง่ายขี้น เพราะไม่ต้องเห็นหน้าเห็นตาปะทะสังสรรค์กันในชีวิตจริงให้ต้องลำบากใจ

เมื่อความสัมพันธ์เริ่มแบบเสมือนจริงก็จบแบบเสมือนจริงบ้างคงดี Unplug/Offline หายไปไม่วนเวียน ถอยมาถนอมใจตัวเองจะดีกว่า

อย่าลืมว่าในความรัก-ความสัมพันธ์ ตัวเราไม่ได้หายไปไหนแม้จะให้ความสำคัญกับคนรักมากมาย ตัวเรา-ใจเราก็ยังสำคัญที่สุด ปล่อยให้แหลกสลายไปก็ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ที่เลวร้ายดีขึ้นได้

อะไรที่มันเกิดออนไลน์ ก็ทิ้งไว้ในพื้นที่ออนไลน์ต่อไป ใช้ชีวิตออฟไลน์ให้เป็นสุขจะดีกว่า...

วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

“ทวิตรัก” หมายเลข 15 – เวลา/ความชัดเจนในสภาวะปิ๊ง/ประทับใจ



เมื่อเกิดปิ๊ง/ประทับใจใครบางคน แล้วเขาก็ดูมีทีท่าคล้ายว่าจะประทับใจเราเหมือนกัน เช่นชอบคุยกับเรา ใส่ใจเรา ฯลฯ คำถามในใจของหลายคนในสถานการณ์นี้คือแล้วเขารู้สึกอย่างไรกับเรา เขาชอบเราไหม เขาอยากสานสัมพันธ์ให้แนบแน่นขึ้นกับเราหรือเปล่า

เรามักลืมไปว่า คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือแล้วตัวเรารู้สึกอย่างไรกันแน่ เราต้องการอะไร คนนี้เหมาะจะอยู่ในชีวิตเราแบบไหน

คนที่เราใช้คุยด้วยแล้วถูกคอ ไปกินข้าวด้วย/ใช้เวลาด้วยแล้วสนุกและรู้สึกดี อาจไม่เหมาะจะเป็นคนรักของเราก็ได้

กติการักในเวลานี้ทำให้เราคาดหวังให้คู่รักของเราเข้าใจเรา เป็นเพื่อนร่วมทุกข์สุข และทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตร่วมกับเราได้ ความเข้าใจ/ใส่ใจ/รสนิยม/วิถีชีวิตเป็นปัจจัยสำคัญให้ความสัมพันธ์ราบรื่น

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าระหว่างเรากับคนที่เราประทับใจมีองค์ประกอบเหล่านี้ครบไหม โดยทั่วไปเวลาทำให้เรารู้คำตอบ เวลาทำให้เราชัดเจนขึ้นด้วยว่าเขาเป็นคนอย่างไร เขารู้สึกอย่างไร เขาอยากจะสัมพันธ์กับเราแบบไหน เวลาทำให้เราเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตัวเราเองมากขึ้นด้วย

แต่คนที่อยู่ในอารมณ์ปิ๊งมักใจร้อนเกินกว่าจะให้เวลาทำหน้าที่ หลายคนอยากรู้ตอนนี้/เดี๋ยวนี้/ทันทีว่าเขารู้สึกอย่างไรกันแน่

เพราะอยากรู้เลยทำให้คิดวนไปมาว่าสารภาพความรู้สึกให้เขารู้แล้วให้เขาบอกมาเลยว่าคิดอย่างไรกับเรา เป็นแฟนกันไหมจ๊ะ อะไรประมาณนั้น

แม้ว่าอยากรู้ใจจะขาด หลายคนก็หวาดหวั่นกับคำตอบที่จะได้รับ เกรงว่าจะเกิดปรากฏการณ์แตกสลายทั้งใจและหน้า

กลายเป็นว่าอยากรู้แต่ไม่อยากเสี่ยง ได้แต่อึดอัดไปมาว่าเรื่องของเราจะเป็นไปในทางไหน
แล้วจะทำยังไงดี ขอตอบแบบให้ทางเลือกไปเลือกเอาเองตามนิสัยและปัจจัยเฉพาะดังนี้

ทางเลือกที่หนึ่งสำหรับคนใจร้อน บอกความรู้สึกและถามเขาไปเลยว่า เธอรู้สึกอย่างเดียวกับฉันไหม

ใครจะเลือกทางนี้กรุณาเตรียมใจรับความเสี่ยง ว่าคำตอบอาจเป็นไปในทิศทางไม่ถูกใจเราได้เหมือนกัน ถ้าใจไม่ถึงจะรับความเสี่ยงก็เลือกทางนี้ยากนะ

แต่แนวโน้มคำตอบที่ได้สำหรับคนทางเลือกนี้คือ คำตอบแบบงง ๆ เพราะอีกฝ่ายก็ไม่แน่ใจว่าเขารู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร เหมือนกับที่เรายังงง ๆ อยู่นี่แหละ

การบอกรักเมื่อยังไม่แน่ใจว่าที่รู้สึกอยู่นี้คืออะไรกันแน่ ทำให้หลายคนยิ่งอึดอัดหนักเข้าไปอีกเมื่อชัดเจนขึ้นว่ารู้สึกอย่างไรและต้องการอะไร แต่ไม่รู้จะนำพาตัวเองให้หลุดพ้นจากความสัมพันธ์ที่เริ่มไปเพราะความไม่แน่ใจได้อย่างไร

เอาเป็นว่าใครจะเลือกทางลุยบอกรัก ต้องยอมรับความเสี่ยง และมีความสามารถในการจัดการภาวะอกหัก และชิ่งได้ไม่เขอะเขินเมื่อความรู้ชัดว่าที่มีอยู่ไม่ใช่รัก

อีกทางเลือกหนึ่งคือ “รอ” เวลาจะให้คำตอบว่าเรารู้สึกอย่างไรและต้องการอะไรกันแน่ เวลาทำให้เห็นคนที่เราปิ๊งชัดเจนขึ้นว่าเขาเป็นคนอย่างไร

เวลาที่ผ่านไปอาจทำให้เราตระหนักว่าไม่สามารถจะใกล้ชิดในฐานะคู่รักกับคน ๆ นี้ได้ เพราะไม่ชอบวิธีกินยำวุ้นเส้นของเขา หรือไม่ชอบที่เขาหยอดเสน่ห์ไม่เลือกหน้าก็เป็นได้

ในที่สุดเวลาจะทำให้อะไรที่ไม่ชัดตอนนี้ ชัดเจนขึ้นได้ ถ้าเราทนอึดอัดปล่อยให้เวลาทำหน้าที่ได้

ทางเลือกหลัก ๆ ในสถานการณ์ปิ๊ง+อยากชัดเจน มีให้เลือกเองตาม “ใจ” และนิสัยของแต่ละคน
ไม่ว่าจะชัดเจนแล้วเจ็บแสบ หรืออึดอัดเพราะคลุมเครือ #ทวิตรักอยู่เป็นเพื่อนคุณเสมอค่ะ


วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เลือดแลกรัก


หลังจาก tweet ประเด็นการทำร้ายตัวเองเพราะรักและ “เลือดแลกรักไม่ได้” ไป มีเพื่อนทวิตภพถามเข้ามาว่า

@cevil2prance: คนที่คิดหรือกำลังทำร้ายตัวเองแบบนี้ควรแก้ยังไงครับ

ขอตอบยาวชวนคิดดังนี้....

คนไม่น้อยทำร้าย/ทำลายตัวเองเพราะผิดหวังในรัก เช่นกรณีคนที่รักไม่รักตอบ หรือคนเคยรักแต่หมดรักไป การทำร้ายตัวเองเป็นไปเพื่อสื่อสารให้โลก (โดยเฉพาะคนรัก) รู้ถึงความเจ็บปวดทุกข์ใจเมื่อรักไม่สมหวัง และแสดงออกถึงความรักท่วมท้นว่าอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีคนที่รักอยู่ในชีวิต ประมาณว่า “เห็นไหมว่าฉันรักเธอมากมายแค่ไหน ทำไมเธอไม่สนใจ ไม่หันมามอง และไม่ให้ค่ากับรักของฉันบ้าง”

ความรุนแรงต่อตัวเองเพราะความรักในหลายกรณีเป็นความพยายามจะเปลี่ยนใจคนรัก ให้รับรักหรือกลับมาอยู่ในความสัมพันธ์ด้วยกันเหมือนเดิม

ใครกำลังอยู่ในสถานการณ์ประมาณนี้ มีคำถามและแง่มุมชวนคิดต่อไปด้วยกัน

ถ้าการทำร้ายตัวเองเป็นไปเพื่อแสดงให้คนรักรับรู้ถึงความรักและความทุกข์ใจ ขอให้ถามตัวเองว่าทำไปแล้วคนรักได้รับรู้อย่างที่เราอยากให้เขารู้ไหม หรือเราจะกลายเป็นไอ้บ้า/อีบ้าที่น่ารำคาญในระดับที่เพิ่มขึ้นจากความรำคาญที่มีอยู่ก่อนแล้ว

แนวโน้มคือการทำร้ายตัวเองมักจะไม่ถูกคนรักมองเห็นอย่างที่คนทำอยากให้เห็นนัก เพราะในขณะที่ความรักบังตาให้เห็นแต่มุมบวกของคนที่รัก ความไม่รักก็บังตาให้เห็นแต่มุมน่าเบื่อน่ารำคาญของคนที่เราไม่รักเหมือนกัน

โอกาสที่การทำร้ายตัวเองประชดรักจะจบลงด้วยการเจ็บตัวฟรีจึงสูงมาก เพราะมักกลายเป็นการกระตุ้มต่อมรำคาญจนพาลเกลียดในคนที่เรารักเสียมากกว่า

แล้วการทำร้ายตัวเองเปลี่ยนใจคนรักให้รักหรือกลับมารักเราได้หรือไม่

ที่น่าเศร้าคือการทำร้ายตัวเองอาจทำให้คนรักใจอ่อนบางคนสงสารว่าได้ทำให้คนที่ตัวเองไม่รักต้องทำเช่นนั้น และสำนึกผิดมากบ้างน้อยบ้าง แต่ความสงสารและสำนึกผิดก็ไม่ใช่ความรักอย่างที่เราต้องการอยู่ดี และไม่มีแรงยึดเหนี่ยวให้คนที่ไม่รักเราอยู่กับเราได้

การพยายามหลอนคนที่ไม่รักเราให้ผวาว่าเราจะทำร้ายตัวเองอีก อาจทำให้ไฟเกลียดลุกโชนขึ้นแทน

สรุปคือ คนมากมายไม่ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการจากคนรักด้วยการทำร้ายตัวเอง การทำร้ายตัวเองไม่ทำให้รักเกิดแต่มักดับความรู้สึกดี ๆ ที่อาจจะมีอยู่บ้างลง และทำให้ความกลัว ความเกลียดเข้าแทนที

ถ้าเช่นนั้นจะทำเช่นไรดี

น่าจะเริ่มจากการยอมรับว่าการไม่สมใจในรักเป็นความทุกข์ ทำให้เราเจ็บปวด ความเจ็บนั้นเป็นของเรา อยู่ในใจเรา ต้องจัดการกับใจเราที่เจ็บ การจัดการนี้ใช้เวลา

เมื่อเห็นตัวเองและเห็นความเจ็บแล้ว ลองคิดต่อว่ามุมมองของเราตอนนี้คืออะไร เป็นไปได้ไหมว่าเรา “จับจ้อง” มองเห็นแต่คนที่เรารักราวกับเขาเป็นศูนย์กลางของจักรวาล การจับจ้องนั้นทำให้เรามองไม่เห็นโยงใยความรักความสัมพันธ์อีกมากมายหลายรูปแบบที่ยึดโยงร้อยรัดเราไว้กับโลก และทำให้เราเป็นเรา

ลองเปลี่ยนมุมที่มองไปแม้เพียงเล็กน้อย จะเห็นคนที่รักและเป็นห่วงเราในระดับต่าง ๆ มากมาย คนที่กังวลกับความโศกเศร้าของเราแต่เรามองไม่เห็นเพราะมัวแต่จดจ่อกับคนรัก คนที่พร้อมจะเป็นเพื่อนทุกข์รับฟังปัญหาและทำกิจกรรมคลายโศกร่วมกับเรา ลากเราให้หลุดพ้นจากห้วงทุกข์

คนเหล่านั้นอาจหมายถึง พ่อแม่ พี่น้อง เครือญาติ และเพื่อนฝูง ลองหันไปมองเขาบ้าง แล้วจะพบมือมากมายที่พร้อมจะฉุดเราให้ลุกขึ้นยืนหรือโอบกอดปลุกปลอบให้คลายเศร้า

(เพื่อนคนหนึ่งเล่าว่า เธอเคยทุกข์สาหัสเพราะคนรักทิ้งไป คืนหนึ่งเธอตัดสินใจฆ่าตัวตาย ณ เวลาที่กำลังจะใช้มีดกรีดเส้นเลือดที่ข้อมือ เธอนึกถึงครูคนหนึ่งที่รักเธอนักว่าจะรู้สึกอย่างไรเมื่อพบว่าเธอฆ่าตัวตาย วูบคิดนั้นทำให้เธอเปลี่ยนใจได้)

ระบายทุกข์ในใจกับคนในแวดวงที่มีความหมายและเห็นเรามีความหมาย ทุกคนคงไม่เข้าใจเราไปหมดทุกเรื่อง แต่พร้อมจะฟังและปลุกปลอบในบางเรื่อง บางคนรับฟังได้ทุกเรื่อง

เอาความทุกข์เพราะรักไปโยนใส่คนอื่นตลอดเวลาก็ไม่เวิร์คในระยะยาว เพราะตัวเราจะวนอยู่กับทุกข์นั้น และคนที่ช่วยกันประคองเราจะเหนื่อยอ่อน ลองดึงใจเราออกจากทุกข์นั้นหันไปใส่ใจกับเรื่องอื่นบ้าง เช่นทำอะไรสนุก ๆ ตามรสนิยม

ลองใช้เวลาทำสิ่งที่เราเพลิดเพลินกับคนรอบตัวที่แคร์เราเหล่านี้ สักพักจะพบว่าความสนุกสนานเบิกบานในชีวิตไม่ได้มาจากการมีคนรักแต่เพียงอย่างเดียว

ทำมาเรื่อย ๆ ดังนี้จะพบว่าการมองโลกของเราจะเริ่ม “กว้าง” ขึ้น จากที่จดจ่ออยู่กับคนคนเดียว และความเจ็บปวดชุดเดียว เราเริ่มเห็นคนอื่นที่มีความหมายในชีวิตเรา และอย่างอื่นที่ทำให้เราเป็นสุขได้

บางคนอาจจะเริ่มมองให้กว้างออกไปอีก จะเห็นคนและสัตว์โลกที่ทุกข์ยากลำบากด้วยเรื่องต่าง ๆ ลองสละเวลาจากงานที่ทำหรือการคิดหมกมุ่นกับทกุข์ของตัวเอง ให้ความช่วยเหลือเท่าที่เราจะทำได้ การถามทุกข์สุข ช่วยเช็ดน้ำตาของคนอื่น ทำอะไรให้คนอื่นบ้างเท่าที่เราจะทำได้ ช่วยลดทุกข์ในใจลงได้ เพราะเริ่มตาสว่างว่าเราไม่ได้ทุกข์อยู่คนเดียวในโลก

หลายคนที่ทนอ่านมาถึงบันทัดนี้อาจท้อถอยว่าทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลา อย่าลืมว่าทุกข์เพราะรักเป็นปมซับซ้อนที่เราเอาใจเราไปผูกไว้เอง กว่าจะคลายได้โดยไม่ติดค้างใช้เวลาเสมอ และเมื่อเดินผ่านมาได้จะรู้กสึกดีกับตัวเองและญาติมิตรรอบข้างที่ยืนเคียงข้างเราไม่หนีหาย

คนที่ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์นี้เอง แต่มีเพื่อนหรือคนรู้จักที่กำลังทุกข์เพราะรัก โปรดเข้าใจว่าเขาทุกข์ การช่วยรับฟังและทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อความเพลิดเพลินและให้เขาเห็นโลกในมุมอื่น ทำให้เขารู้ว่ามีคนที่แคร์เขา น่าจะเป็นพลังเสริมให้เพื่อนทีทุกข์เพราะรักรู้สึกดีขึ้นได้บ้าง
มิตรภาพช่วยคลายทุกข์เพราะรักได้เสมอ

ทุกข์เพราะรักเป็นเรื่องยากเย็นสาหัสเพราะใกล้ใจ แต่ก็ไม่เคยทำให้ใครตายเหมือนอุบัติภัยและโรคร้าย ที่ตายเพราะรักมักทำให้ตัวเองตายเอง เพื่อจะรู้ว่าตายไปความเจ็บก็ไม่จบ และเลือดเนื้อชีวิตที่ทุ่มให้ก็ไม่ได้ทำให้ได้ในสิ่งที่อยากได้อยู่ดี

ลองเอาชนะความเจ็บและความทุกข์นี้โดยอาศัยใจเราและการสนับสนุนของคนรอบข้าง แล้วจะพบว่าเรามีพลังทำอะไรได้มากมายนัก

วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แสนยานุภาพของเมียหลวง



ทำไมเมียหลวงในละครจึงมักจะเป็นคนดี น่าสงสาร ได้แต่ร้องไห้เมื่อโดนเมียน้อนย่ำยี แล้วก็มักจะเอาชนะเมียน้อยได้โดยการยึดมั่นกับความเป็นเมียหลวงและไม่ตอบโต้


ส่วนเมียน้อยในละครก็มักจะร้อนและแรง แสดงออกโดยการแต่งหน้าจัดๆ แต่งตัวโป๊ๆ (เพราะกลัวคนดูไม่รู้ว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี) กิริยาหลักคือการกรี๊ด ในที่สุดมักจะพ่ายแพ้แก่เมียหลวงที่ได้ผัวคืนไปเสมอ


โครงเรื่องหลักแบบนี้สะท้อนการควบคุมทางสังคมที่เข้มงวด ว่าด้วยการมีความสัมพันธ์ซ้อนในเวลาที่รูปแบบเรื่องเพศที่ถูกจัดว่าถูกต้องคือผัวเดียว - เมียเดียว


เมียหลวงถูกให้ภาพว่าดีเสมอ เนื่องจากเธอประพฤติตามกติกาถูกต้องคือเป็นเมียในการแต่งงาน ส่วนเมียน้อยคือคนที่เข้ามาซ้อน บ่อนทำลายระบบผัวเดียว - เมียเดียวอย่างตรงไปตรงมา จะให้บอกว่าดีได้อย่างไร ไม่เช่นนั้นกรอบเพศวิถีกระแสหลักก็จะสั่นคลอนถอนรากจนอยู่ไม่ได้


เมียหลวงมีตัวช่วยมากมาย ตั้งแต่ความเห็นใจและการช่วยกันรุมประณามเมียน้อย/เกลี้ยกล่อมผัวให้ได้สติของผู้คนรอบข้าง ไปจนถึงกฎหมายของรัฐที่พยายามจะคุ้มครองเมียหลวงอยู่มาก 


การมีความสัมพันธ์ซ้อนเป็นเรื่องซับซ้อนมีปัจจัยเกี่ยวข้องและองค์ประกอบที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละคู่ความสัมพันธ์ แต่เรามักจะถูกบอกเล่าผ่านนิยายและละครโดยลดทอนความซับซ้อนเสมอ


หรือแท้ที่จริงละครเมียหลวง - เมียน้อยที่เราติดกันงอมแงมเป็นการควบคุมทางสังคมที่แยบยล โดยบอกเราว่าอะไรดี - ไม่ดี คนทำตามกติกาเรื่องเพศคือคนดีและต้องชนะคนไม่ดี (ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามเรื่องเพศ) เสมอ


เราจึงไม่ค่อยจะได้เห็นภาพความซับซ้อนของความสัมพันธ์ผัวเมียที่ไม่ได้เป็นสุขไปทุกเรื่อง และเต็มไปด้วยปัญหาที่ต้องอาศัยความเข้าใจและปรับเข้าหากัน หรือภาพของเมียน้อยที่หลากหลายและเข้าไปซ้อนในความสัมพันธ์ด้วยเหตุต่าง ๆ กัน


คงเพราะอย่างนี้คนในความสัมพันธ์ซ้อนในชีวิตจริงจจึงเผชิญกับสถานการณ์ของตัวเองได้ยากลำบาก และมักจะโทษคนอื่นที่ละเมิดกติกาเรื่องเพศมากกว่าจะพิเคราะห์องค์ประกอบที่เป็นทุกข์และไม่พอดีของความสัมพันธ์ของตัวเองหรือคนรัก


พลังอำนาจของกรอบเรื่องเพศกระแสหลักในการกำกับคนโดยแยกดีชั่วแบบไม่ซับซ้อนและการประณามทางสังคมแบบโหด ๆ คือแสนยานุภาพที่แท้จริงของเมียหลวง แสนยานุภาพนี้อาจช่วยให้เมียหลวงตัวจริงบางคนชนะเมียน้อยได้ผัวคืน ในขณะที่บางคนทนทุกข์กับสถานะเมียหลวงโดยไม่คิดใคร่ครวญถึงที่มาที่ไปของการเป็นเมียหลวงของตัวเอง และเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมตัวเองจึงไม่ชนะเมียน้อยเสียที


กลายเป็นว่าทั้งเมียหลวง - เมียน้อย ต่างก็ถูกกำกับรังแกโดยกรอบเรื่องเพศกระแสหลักในกระบวนการสถาปนาระบบผัวเดียว - เมียเดียวให้ปรากฏเป็นจริง...

วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รักขม


คนไม่น้อยตกหลุมรักเพื่อจะเติมเต็มตัวตน ที่เขา/เธอรู้สึกว่างเปล่าและโดดเดี่ยวเพราะการอยู่คนเดียว เขา/เธอคาดหวังว่าการมีความรัก/คนรักจะทำให้ชีวิตที่ว่างเปล่านั้นเป็นสุขและมีความหมาย แต่เมื่อเข้าสู่ความสัมพันธ์ได้ไม่นานก็มักพบว่าคนรักมีความต้องการเป็นของเขาเองเช่นเดียวกัน กลายเป็นว่าความต้องการของคนสองคนที่รักกันขัดแย้งกันเองอย่างน่าปวดหัว ช่วงเวลาที่เคยหวานชื่นกลายเป็นขมขื่นขึ้นเรื่อยๆ หลายคนที่เดินมาถึงจุดนี้มักรู้สึกว่าชีวิตยามมีคนรักกลับเหงาและว่างเปล่าเสียยิ่งกว่าเมื่อก่อนจะเริ่มความสัมพันธ์เสียอีก 


บางคนใช้เวลายาวนานเพื่อจะตัดตนเองให้หลุดจากความสัมพันธ์ที่เจ็บปวดนั้น บางคนวนเวียนยึดติดอยู่กับความรักนั้นแบบไม่ปล่อยมือทั้งที่ไม่เป็นสุข


การหาคนผิดถูกในสภาพรักขมแบบนี้อาจไม่ช่วยให้เราเข้าใจความรักและความสัมพันธ์มากนัก เพราะแท้ที่จริงสิ่งที่เผชิญคือความต่างของตัวตน ความเชื่อและความต้องการของคนมากกว่าจะเป็นเรื่องถูกผิด การยอมรับให้ได้ว่าคนรักเป็นมนุษย์อีกคนที่มีชีวิตเป็นของเขาเอง ตัวตนของเขาไม่ได้สลายหายไปเพราะเขามาเป็นคนรักของเรา เขาไม่ได้อยู่เพื่อจะสนองความต้องการของเราแต่เพียงอย่างเดียว แม้แต่ "แม่" ของหลายๆคนที่บอกว่ารักลูกนักก็ไม่สามารถจะสนองความต้องการทุกลมหายใจเข้าออกของลูกได้ไปหมด


คำถามที่น่าคิดต่อคือ เราจะอยู่กับความคาดหวังให้ความรักมาเติมเต็มชีวิตและมองหาคนที่จะทำให้เราเป็นสุขไปเช่นนี้ หรือจะเรียนรู้จะรักและอยู่กับคนที่เรารักในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่ต่างก็มีความต้องการเป็นของตัว โดยเกื้อกูลและเข้าใจกันให้ได้

วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บทสนทนาระหว่าง บก.ลายจุด @nuling และ @chalidaporn ในทวิตภพ เมื่อคืนวันที่ 3 พฤษภาคม 2012


@nuling: อ ครับ ขอความเห็น้รื่องความรักในตัวบุคคลที่ประชาชนมีต่อบุคคลทางการเมืองหน่อยครับ

@chalidaporn: อาการที่ดูเหมือนรัก 'บุคคลทางการเมือง' น่าจะเป็นอาการ 'ติด' เพราะพึ่งพาทางใจมากกว่า

เสรีภาพและการเลือกทางเลือกในชีวิตไม่ใช่เรื่องพึงปรารถนาสำหรับทุกคนทุกเวลา ในยามอ่อนแอทางกายใจเราอยากให้มีคนจัดการทุกข์ให้

การมีที่ยึดเหนี่ยวใจ มีคนคลายทุกข์และนำทางยามวิกฤตทำให้คนมากมายรู้สึกมั่นคงและมีความหวัง ผู้นำที่พึ่งได้กลายเป็นเรื่องจำเป็น

การใช้ความเชื่อทางวัฒนธรรม มีภาพเก่งกล้่าสามารถเกินมนุษย์ พร้อมนำพาผู้คนจากวิกฤต ทำให้ผู้นำบางคนเป็นที่รัก+ที่พึ่งของบางกลุ่มได้

อาการรักผู้นำ/เสพติดผู้นำแบบอยู่ไม่ได้ถ้าขาดท่านสะท้อนความโหยหาทางใจและแง่มุมความเป็นมนุษย์ของผู้คนมากมายไม่ใช่ความโง่

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคืออาการเสพติดผู้นำไม่ค่อยปรากฏในสังคมประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม แต่มักเกิดในสังคมอำนาจนิยมมากกว่า

นักปรัชญาบางคนเสนอว่าผู้นำควรทำให้คนกลัวดีกว่าทำให้คนรัก ประสบการณ์ไทยทำให้เห็นถึงพลังอำนาจของความรักแบบเสพติดผู้นำไม่มากก็น้อย

@nuling: ความรักเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ในชีวิตที่ขาดหายไปหรือเปล่า

@chalidaporn: มนุษย์ปรารถนาจะเชื่อมโยงตัวตนกับคนอื่นเลยเลือกจะอยู่กันเป็นฝูงใหญ่

@nuling: ผู้ปกครองต้องทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความไม่สมบูรณ์ หากขาดพวกเขา

@chalidaporn: ความรู้สึกขาดมีในใจหลายคนเอง และอาจสร้างโดยผู้นำได้ด้วย

เรามักมองผู้นำที่คนเสพติดว้าเขาทำอะไรบางอย่างให้คนรัก โดยลืมไปว่าคนมากมายโหยหาอยากได้ผู้นำเก่งกล้ามาเป็นที่ยึดเหนี่ยวด้วยเช่นกัน

คนมากมายเชื่อมโยงตัวตนและระเบียบทางสังคมเข้ากับผู้นำอันเป็นที่รัก จึงรู้สึกว่าไม่มีผู้นำตัวเขาก็อยู่ไม่ได้และยอมสู้ตายเพื่อผู้นำ

@nuling: คนฉลาดจะมีความรักต่างจากคนธรรมดา?

@chalidaporn: ขึ้นอยู่กับว่านิยามความฉลาดอย่างไร ถ้าความฉลาดคือการใช้เหตุผลอย่างเดียวก็คงไม่ช่วยเมื่อมีรัก

คนฉลาดจำนวนมากหวาดกลัวแง่มุมเชิงอารมณ์อย่างความรักเพราะรู้ว่าเหตุผลอย่างเดียวจัดการไม่ได้และความรักอาจลดทอนเหตุผล

@nuling: คนที่ฉลาดในการมีความรักจะต้องเป็นยังไงครับ

@chalidaporn: รู้ทันว่าความรักคืออารมณ์ปรารถนา+ความหลงที่ปะทะกับข้อห้ามมากมายของสังคม

คนฉลาดรักควรรู้ข้อจำกัดทางใจของตัวเอง เปิดรับประสบการณ์สมหวัง/ผิดหวังอย่างเข้าใจ เพื่อจะหาจุดลงตัวเฉพาะที่จะอยู่กับความรักได้

คนฉลาดรักควรเข้าใจข้อห้ามของสังคมและรู้ใจตนเองพอจะเลือกได้ว่าจะยอมเรื่องไหน และจะสู้ตายในเรื่องอะไร

@nuling: ความรักใน cyber บางคนรักโดยไม่เคยพบกันและจากกันโดยไม่รู้จักกัน เคยมีคนบอกว่ารักในเงาตัวเอง

@chalidaporn: คนที่รักกันตัวเป็นๆก็รักเงาตัวเอง

เราไม่ได้รักคนที่เรารัก แต่มักจะรักภาพของคนๆนั้นที่เราสร้างในจินตนาการ แท้ที่จริงเรากำลังตกหลุมรักจินตนาการของตัวเอง

คนที่มีรักพร้อมจะเติมความอาทรและความเข้าใจเข้าไปประกอบความรักของตัวเองด้วยไหม บางคนรักอย่างจำกัดมากจนแยกไม่ออกจากความเห็นแก่ตัว

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

รักทรมานเพราะความสัมพันธ์ซ้อน

คำถาม: ทำไงให้ทรมานน้อยที่สุดคะ เมื่อเขารู้ว่าเรารัก แต่เขามีเจ้าของแล้ว และอยากให้เราเป็นเพื่อนกันต่อไป

ก่อนตอบคำถามขอฉายภาพรูปแบบความสัมพันธ์ที่รองรับความคาดหวังของผู้คนก่อนเล็กน้อย
กติกาสำคัญของความรักกำหนดจำนวนคนที่จะอยู่ในความสัมพันธ์แบบโรแมนติคไว้น้อยมาก คือต้องเป็นเรื่องระหว่างคนสองคนเท่านั้น และคนสองคนในความสัมพันธ์ต้องมีใจเดียวคือรักคนที่เป็นคู่เท่านั้น รักคนอื่นเพิ่มอีกไม่ได้

กติกาเช่นนี้ทำให้การมีคนในความสัมพันธ์เกินสองคนกลายเป็นเรื่องอึดอัด เจ็บปวดและเป็นบาปผิด หรือการได้รู้ว่าคนที่รักไม่ได้มีเราคนเดียวในใจก็ทำให้เจ็บสุด ๆ ได้อีกเช่นกัน

กติกานี้กำกับความคาดหวังและการดำเนินความสัมพันธ์ของเราอย่างเข้มงวด แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะเชื่อฟังเป็นอันดี ใจคนเป็นอะไรที่กำกับยากนัก เราจึงได้เห็นการมีรักใหม่กับคนใหม่ไม่ว่ารักเก่าจะจางหรือไม่จางและการซ้อนกันไปมาของความสัมพันธ์ของคนหลายคู่

คำถามข้างต้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด คนจำนวนไม่น้อยน่าจะเคยเป็นเส้าใดเส้าหนึ่งในสถานการณ์สุดคลาสสิคนี้

อยากชวนเจ้าของคำถามลองคิดตามเล่น ๆ ไปด้วยกัน เชื่อว่าอย่างน้อยการคิดไปด้วยกันนี้น่าจะทำให้เวียนหัวมึนงงลืมความทรมานไปได้ชั่วคราวอย่างแน่นอน

ขอเริ่มต้นที่ตัวคนถามที่ไปรักคนที่ “มีเจ้าของแล้ว” ซึ่งน่าจะแปลว่าแต่งงานหรือมีแฟนแล้ว และกำลังทรมานกับสถานการณ์ของความสัมพันธ์ซ้อน เชิญชวนให้คิดถึงความรู้สึกทรมานที่ว่านี้กันดีกว่า

เป็นไปได้ไหมว่าความรู้สึกทรมานมาจากความตระหนักว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ทำให้ไม่ “สมรัก” ตามกติกาและความคาดหวังว่าด้วยความรัก

เรามักเอาความรักแบบโรแมนติคไปร้อยเป็นเรื่องเดียวกับความสัมพันธ์และการแต่งงาน การสมรักจึงต้องครบองค์ประกอบคือ คนที่เรารัก-รักตอบเราด้วย ได้เป็นแฟนกัน และเริ่ดสุดคือได้ครองคู่กันตามกฎหมายและประเพณีให้โลกได้รับรู้ด้วย

เพราะอย่างนี้เราจึงไม่สามารถจะทนกับการได้รักโดยไม่ต้องครองคู่ได้ การรักโดยไม่เดินต่อไปมีความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่งทำร้ายใจคนมากมายที่มองขั้นตอนความรักและการสมรักแบบครบองค์ประกอบ

เรายังคาดหวังให้คนรักและความสัมพันธ์ตอบสนองอะไรต่ออะไรหลายอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลาร่วมกันแบบไม่เปิดโอกาสให้เหงา การเป็นเพื่อนคู่คิด การรองรับอารมณ์ ฯลฯ ความคาดหวังทำนองนี้ทำให้การให้เวลา ความเข้าใจและความเอื้ออาทรกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสัมพันธ์ อาการทรมานของคนจำนวนไม่น้อยเป็นเพราะไม่ได้บางอย่างหรือทุกอย่างตามรายการที่คาดหวังว่าจะได้จากคนที่รักเรา

ถ้าบังเอิญเข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์ซ้อนที่คนรักไม่สามารถให้เวลาหรือเอื้ออาทรได้เต็มร้อยตามคาดหวังก็ยิ่งทำให้ทุกข์หนัก การมีความสัมพันธ์ซ้อนโดยไม่เป็นทุกข์จึงต้องลด-ละ-เลิกความคาดหวังหลายประการเกี่ยวกับการใช้เวลา การดำเนินความสัมพันธ์ และองค์ประกอบครบสูตรของความสัมพันธ์ ถ้าเรียกร้องหรือคาดหวังจากความสัมพันธ์ซ้อนแบบที่คาดหวังจะได้จากความสัมพันธ์ตามกรอบกติกา ความปวดหัวปวดใจก็จะตามมาและสร้างความทรมานมากบ้างน้อยบ้างไปเรื่อย ๆ

การใคร่ครวญว่าคนรักในความสัมพันธ์ซ้อนยินดีจะให้เวลาเรามากน้อยเพียงไร และสามารถจะดูแลความรู้สึกเราได้เท่าที่เราคาดหวังหรือไม่เป็นเรื่องสำคัญ อย่าลืมว่าในความสัมพันธ์ซ้อนเวลาของคนรักต้องถูกแบ่งปัน สัดส่วนของการแบ่งปันในหลายสถานการณ์อาจทำให้บางคนรับไม่ได้
การเรียกร้องในสถานการณ์ที่คนถูกเรียกร้องไม่สามารถจะตอบสนองได้เพราะปัจจัยผูกพันอื่น ๆ ในชีวิต มักจะกลายเป็นการทำร้ายฝ่ายที่เรียกร้องหนักขึ้นไปอีก

ทั้งนี้และทั้งนั้นไม่ได้แปลว่าคนอยู่ในความสัมพันธ์ซ้อนไม่ได้ บางคนทำได้โดยปรับความคาดหวัง การเรียกร้อง และวิถีชีวิต คำถามคือคุณยินดีจะปรับเช่นนั้นหรือไม่ และปรับได้ไหม

เราสามารถรักได้โดยไม่ครอบครอง คนที่เรารักอยู่ในชีวิตเราได้หลายรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องเป็นการเป็นคู่รักหรือแต่งงานกัน ถ้าอยากจะเก็บคนที่เรารักไว้ก็อาจจะต้องคิดถึงการจัดที่ทางและรูปแบบความสัมพันธ์ที่พอเหมาะ รูปแบบที่ว่านี้ต้องคิดใคร่ครวญว่าอย่างไรใจตัวเองจะรับไหว

คนมากมายอึดพอจะอยู่กับความสัมพันธ์ซ้อนไปได้ระยะหนึ่ง บางคนปรับใจและความคาดหวังให้อยู่กับความสัมพั้นธ์นอกกรอบไม่ครบองค์ประกอบได้ บางคนทรมานใจสุด ๆ เพราะไม่ปรับใจหรือปรับใจไม่ได้

การเก็บคนรักไว้ในชีวิตในฐานะเพื่อนฟังดูดี แต่ยากมากโดยเฉพาะในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากการเป็นคนรักไปเป็นเพื่อน การตัดใจจากรักต้องอาศัยระยะห่างเพื่อการปรับใจ การพัวพันนัวเนียไปมาทำให้การทำใจแทบจะเป็นไปไม่ได้ สูตรสำเร็จของหลายคนที่ต้องการตัดใจคือหนีห่างหายหน้าไปให้ไกลพอและนานพอ เวลาจะทำให้เราเห็นได้เองว่าคน ๆ นั้นน่าจะมีที่ทางในชีวิตเราต่อไปหรือไม่ ในฐานะอะไร

ทำอย่างไรจึงจะทรมานน้อยที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ แทนที่จะเริ่มด้วยความต้องการของคนรัก น่าจะเริ่มจากการถามตัวเองว่าต้องการอะไรจากความสัมพันธ์ และที่เป็นอยู่นี้ได้อย่างที่ต้องการหรือไม่ ฟังเสียงของตัวเองที่ตอบคำถามนี้ให้ดี บางทีคุณจะรู้ว่าควรจะทำอย่างไรความทรมานที่เผชิญอยู่จะลดลงได้