วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ท่าพระจันทร์ - รังสิต กับการเล่น "แม่งู" ในธรรมศาสตร์


ตัวเก็งอธิการบอกว่าจะย้ายการเรียนการสอนป.ตรี บางคณะ (ซึ่งน่าจะหมายถึง 8 คณะด้านสังคมศาสตร์) กลับมาท่าพระจันทร์ ใครที่สนใจประเด็นนี้น่าจะลองคิดต่อว่าการย้ายกลับหมายถึงอะไร การตัดสินใจในประเด็นนี้น่าจะคงข้อเสนอของฝ่ายค้านการย้ายไปรังสิตว่าด้วย "ไม่บังคับย้าย - ไม่บังคับอยู่" เพราะบางคณะอาจจะไม่ได้อยากกลับมาด้วยเหตุผลนานาประการ เช่นการขาดแคลนพื้นที่ เป็นต้น


ตอนย้ายไปอาศัยการบังคับ ทำให้เกิดปัญหาเพราะความไม่พร้อมและขาดความสามารถจะจัดการการเรียนการสอน 2 ที่ไปพร้อมกันในระดับคณะ เมื่อจะย้ายกลับก็น่าจะเปิดให้แต่ละคณะได้เลือกและจัดการตามความเหมาะสมเพื่อจะไม่สร้างปัญหาแบบเดิมหรือไม่?

ที่น่าคิดต่อคือจะทำอย่างไรกับโครงการพิเศษของคณะต่าง ๆ ที่ใช้พื้นที่ท่าพระจันทร์อยู่ ณ เวลานี้ โดยเฉพาะการใช้พื้นที่ของบางคณะที่แผ่ขยายมาใช้พื้นที่ส่วนกลางไปมาก (โดยหลักคิดน่าสนใจว่าออกสตางค์สร้างตึกใหม่เยอะ จึงต้องได้สิทธิใช้พื้นที่มากกว่าพวกคณะยาจกทั้งหลาย)

การย้ายไปมาระหว่างท่าพระจันทร์ - รังสิตน่าจะเปิดให้คนในประชาคมได้ร่วมคิดและร่วมเสนอด้วยหรือไม่? และน่าจะยืดหยุ่นพอที่จะโอบอุ้มความต่างของคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ของธรรมศาสตร์ เพื่อจะได้ไม่เกิดสภาพสับสนอลหม่านเหมือนวงเล่น "แม่งู" ขนาดใหญ่เมื่อครั้งต้องย้ายไปรังสิตรอบที่แล้ว

คนธรรมศาสตร์ไม่ได้คิดเหมือนกัน ปัญหาที่มีก็ต่างกัน หวังว่าท่านว่าที่อธิการจะทำให้ธรรมศาสตร์กลับมามีน้ำจิตน้ำใจ เพื่อจะเข้าใจ ไม่ซ้ำเติม และช่วยเหลือผู้คนที่ยากลำบากเพราะการโตแบบอิงตลาดของมหาวิทยาลัยในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา

โศกนาฏกรรมของธรรมศาสตร์


ปัญหาของการขยายตัวทุกทิศทางของธรรมศาสตร์ -- ขยายปริญญาตรี-โท-เอก และเพิ่มศูนย์รังสิต ลำปาง พัทยา -- เป็นการขยายแบบมหัศจรรย์คือใช้คนเกือบจะเท่าเดิมให้ทำทุกอย่างที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่แลกไปในการเติบโตแบบนี้คือคุณภาพการศึกษาและการผลิตความรู้โดยนักวิชาการของธรรมศาสตร์เอง เพราะแค่วิ่งพล่านในระยะทางไกล ๆ เพื่อสอนหนังสือก็ไม่เหลือแรงกายและสมองจะทำอะไรได้อีกมากนัก

เด็ก ๆ ป.ตรีที่รังสิตจะรู้บ้างไหมว่าความเหนื่อยของอาจารย์ที่วิ่งไปมาระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตรต่อวัน ทำให้สิ่งที่คนเรียนได้ไม่ใช่อะไรที่ดีที่สุดที่คนสอนหนังสือจะให้ได้ แต่เป็นซากที่หมดแรงแต่ใจสู้เพราะเห็นว่าอนาคตของธรรมศาสตร์แท้ที่จริงคือเด็กป.ตรีราคาถูกที่ถูกเฉดหัวไปอยู่รังสิต สำหรับอาจารย์หลาย ๆ คนการย้ายตามไปอยู่ปทุมธานีมีต้นทุนทางวิชาการ สังคม เศรษฐกิจ และชีวิตส่วนตัวเกินกว่าจะทำเช่นนั้นได้ มธ.จึงเป็นผีดิบที่ตายไปแล้วยังพิกลพิการอีกต่างหากเช่นนั้นเอง

คนที่แย่ยิ่งกว่าคือบรรดาข้าราชการสาย ค และลูกจ้าง ที่ไม่มีทางเลือก ต้องไปรังสิตตามบัญชา ทำให้สภาพของบุคคลากรของธรรมศาสตร์อ่อนล้าและอ่อนแรง

น่าสมเพทว่าคนของธรรมศาสตร์หลายคนออกไปต่อสู้เพื่อคนจนผู้ยากไร้ในสังคมไทยอย่างแข็งขัน แต่ไม่สามารถจะทำอะไรเพื่อปกป้องคนยากไร้ ไร้อำนาจต่อรองในมหาวิทยาลัยเองอีกมากมาย

เพราะเป็นศิษย์เก่าและเป็นอาจารย์ของธรรมศาสตร์ที่เคยสู้ไม่ถอยในประเด็นเหล่านี้จนถูกตั้งฉายาว่าเป็นนักหาเรื่องของมหาวิทยาลัย สภาพที่เห็นทำให้สลดใจอย่างสุด ๆ จริง ๆ ....