วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อคติทางเพศกับการจัดกลุ่มเสี่ยง HIV/AIDS

@tomornism ถามว่า “อ.คิดอย่างไรกับการไม่รับเลือดบริจาคจาก 'ชายรักชาย' (ไม่รวม ญ รัก ญ) ด้วยเหตุผลเป็นพฤติกรรมเสี่ยงเหมือนคนเคยซื้อบริการทางเพศครับ”

การไม่รับบริจาคเลือดจาก “กลุ่มเสี่ยง” มักถูกให้เหตุผลเรื่องความปลอดภัยของเลือดเอง เคยได้ยินคำอธิบายว่ากระบวนการตรวจสอบเลือดของผู้บริจาคใช้เวลา ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาในเวลาที่เกิดความต้องการเลือดประมาณมากแบบเร่งด่วน ทำให้เกิดความเสี่ยงของผู้รับเลือดที่บริจาคมาได้

หลักการในที่นี้เป็นการทำให้เลือดปลอดภัยมากที่สุด คำอธิบายทางเทคนิคเช่นนี้ทำให้คนที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญโต้เถียงยาก เพราะไม่กล้ารับรองความปลอดภัยที่เกินความสามารถของเรา แต่พยายามชี้ให้เห็นว่าแนวปฏิบัติเช่นนี้มีผลทางสังคมในแง่การตอกย้ำอคติทางเพศของระบบความเชื่อที่เชิดชูรักต่างเพศและเกลียดกะเทย เกย์ ทอม/ดี้ ฯลฯ

การจัดพฤติกรรมบางประเภทเป็นพฤติกรรมเสี่ยงต่อการรับหรือแพร่เชื้อ HIV/AIDS มาจากฐานคิดเชิงระบาดวิทยาที่พยายามจะป้องกันการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยใหม่ โดยดูจากลักษณะร่วมของผู้ติดเชื้อเดิม

กลุ่มที่จัดว่าเสี่ยงมาโดยตลอดคือ คนขายบริการทางเพศ  “รักร่วมเพศ” และ “ร่วมเข็ม” ในการเสพยาเสพติด

คำอธิบายหลักในเวลานี้บอกว่า การแพร่กระจายเชื้อผ่าน “สารคัดหลั่ง” ของมนุษย์ แต่คนทั่วไปมีแนวโน้มจะมองกลุ่มเสี่ยงแบบเดิม กลายเป็นว่าการคิดเชิงระบาดและวิธีปฏิบัติที่มาฐานคำอธิบายทางการแพทย์ ตอกย้ำสนับสนุนการประณามรูปแบบพฤติกรรมทางเพศนอกกรอบหลายประการ

แม้ว่าจะมีคำอธิบายจากฐานด้านการแพทย์เพื่อจะทำให้เห็นความเฉพาะเจาะจงของรูปแบบพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้น แต่การจัดกลุ่มและคำอธิบายทางการแพทย์ก็ยังถูกหยิบยกหรือประทับในความเข้าใจของคนว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องเพศกับเอดส์ กลายเป็นการประณามต่อเนื่องไม่สิ้นสุด

คำตอบของคำถามที่ @tomornism ถามก็คือ การเลือกจะไม่รับเลือดจากคนบางกลุ่มเป็นเรื่องเข้าใจได้ในแง่ความเสี่ยง และคนที่ต่อสู้ในประเด็นนี้เองก็ไม่อยากจะผลักดันให้ยกเลิกเสียเลยทีเดียวเพราะตระหนักถึงความไม่แน่นอนที่เป็น “ความเสี่ยง” ทางเทคนิคที่จะกลายเป็นอันตรายได้

ที่ต้องสู้กันคือ รูปแบบพฤติกรรมเสี่ยงที่จัดแบบเหมารวมกลายเป็นตัวหล่อเลี้ยงอคติทางเพศของคน การทำให้เห็นความเฉพาะเจาะจงขององค์ประกอบพฤติกรรมเสี่ยง เช่นการร่วมเพศในรูปแบบที่ทำให้เกิดการปะปนแลกเปลี่ยนสารคัดหลั่งไม่ว่าในลักษณะใดต่างหากที่เสี่ยง จะทำให้คนตระหนักว่าแม้ตัวเองจะมีวิถีชีวิตแบบ “รักต่างเพศ” (Heterosexuality) ก็มีโอกาสเสี่ยงได้ น่าจะประโยชน์กว่าในเชิงการป้องกันและการลดอคติทางเพศ

ถ้ามองการไม่รับบริจาคเลือดจาก Homosexuals โดยไม่พิจารณาต่อก็จะกลายเป็นปัญหาได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดสินความเหมาะสมของวิธีการโดยใช้ความเข้าใจแบบสังคมศาสตร์อย่างเดียว ข้อเรียกร้องน่าจะเป็นการทำให้เจาะจงมากขึ้นว่าอะไรคือความเสี่ยง การไม่รับบริจากเลือดจากบางกลุ่มควรจะเจาะจงมากขึ้นไหมว่าบรรดาหญิงรักหญิง/ชายรักชายต้องมีพฤติกรรมอย่างไรจึงจะจัดว่าเสี่ยง ไม่ใช่เพราะเป็น Homosexuals เลยเสี่ยงไปหมด

ความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นจะเป็นประโยชน์ในด้านการสร้างความเข้าใจพฤติกรรมเสี่ยง และลดการตีขลุมรังเกียจในเรื่องเพศได้ การตั้งคำถามและชวนให้คิดต่อว่าด้วยอคติทางเพศจึงเป็นเรื่องสำคัญ

วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เลิกเพราะรัก จากเพราะแคร์ -- Part 1

การยุติความสัมพันธ์อาจไม่ได้เป็นเพราะหมดรัก แต่หลายคนเลิกกันเพราะรักต่างหาก ประมาณว่า "เลิกเพราะรัก จากเพราะแคร์" จริงไหม?

คนที่เรารักไม่จำเป็นจะต้องไปกันได้ดีกับเรา แต่มีแง่มุมปีนเกลียวที่ทำให้เหนื่อยในคสพ. เลยเลิกกันเพื่อถนอมรักก็เป็นได้ 

คิดดูให้ดี เราอาจจะพบว่าเราทำร้ายคนที่เรารักมากกว่าคนที่เราเกลียดเพราะความคาดหวังให้เขาเข้าใจ พอเขาไม่รู้ใจก็ปี๊ดแตก เหนื่อยอ่อนกันทั้งคู่

ความเหนื่อยอ่อนจากการอยู่ในคสพ.ที่มีความคาดหวัง และต้องการจัดการอารมณ์ของตัวเองและคนรัก กลายเป็นจุดจบของความรักของหลายคน

คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเมื่อไรปล่อยมือจากคสพ.ที่กลายเป็นสงครามความคาดหวังและอารมณ์ ปล่อยให้เดินข้ามเส้นไปกลายเป็นความเกลียดโกรธข้ามภพชาติ

เวลารู้สึกว่าเจ็บปวด เราอาจทำหรือพูดอะไรหลายอย่างที่ทำร้ายอีกฝ่ายด้วยไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ หยุดทำร้ายกันดีกับใจทั้งคู่ 

การถนอมรักให้อยู่นานอาจไม่ใช่เรื่องการยึดเหนี่ยวอีกฝ่ายให้เป็นของเรา แต่เป็นการปล่อยมือจากการเหนี่ยวรั้งคนรักและคสพ.จนอึดอัดและเจ็บปวด

คนที่เดินจากไปจากชีวิตเรา หรือการเดินออกจากชีวิตใครบางคนอาจเป็นการรักษาความรู้สึกดีๆที่เป็นฐานของความรัก ไม่ใช่เพราะเกลียดชังก็เป็นได้