วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แสนยานุภาพของเมียหลวง



ทำไมเมียหลวงในละครจึงมักจะเป็นคนดี น่าสงสาร ได้แต่ร้องไห้เมื่อโดนเมียน้อนย่ำยี แล้วก็มักจะเอาชนะเมียน้อยได้โดยการยึดมั่นกับความเป็นเมียหลวงและไม่ตอบโต้


ส่วนเมียน้อยในละครก็มักจะร้อนและแรง แสดงออกโดยการแต่งหน้าจัดๆ แต่งตัวโป๊ๆ (เพราะกลัวคนดูไม่รู้ว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี) กิริยาหลักคือการกรี๊ด ในที่สุดมักจะพ่ายแพ้แก่เมียหลวงที่ได้ผัวคืนไปเสมอ


โครงเรื่องหลักแบบนี้สะท้อนการควบคุมทางสังคมที่เข้มงวด ว่าด้วยการมีความสัมพันธ์ซ้อนในเวลาที่รูปแบบเรื่องเพศที่ถูกจัดว่าถูกต้องคือผัวเดียว - เมียเดียว


เมียหลวงถูกให้ภาพว่าดีเสมอ เนื่องจากเธอประพฤติตามกติกาถูกต้องคือเป็นเมียในการแต่งงาน ส่วนเมียน้อยคือคนที่เข้ามาซ้อน บ่อนทำลายระบบผัวเดียว - เมียเดียวอย่างตรงไปตรงมา จะให้บอกว่าดีได้อย่างไร ไม่เช่นนั้นกรอบเพศวิถีกระแสหลักก็จะสั่นคลอนถอนรากจนอยู่ไม่ได้


เมียหลวงมีตัวช่วยมากมาย ตั้งแต่ความเห็นใจและการช่วยกันรุมประณามเมียน้อย/เกลี้ยกล่อมผัวให้ได้สติของผู้คนรอบข้าง ไปจนถึงกฎหมายของรัฐที่พยายามจะคุ้มครองเมียหลวงอยู่มาก 


การมีความสัมพันธ์ซ้อนเป็นเรื่องซับซ้อนมีปัจจัยเกี่ยวข้องและองค์ประกอบที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละคู่ความสัมพันธ์ แต่เรามักจะถูกบอกเล่าผ่านนิยายและละครโดยลดทอนความซับซ้อนเสมอ


หรือแท้ที่จริงละครเมียหลวง - เมียน้อยที่เราติดกันงอมแงมเป็นการควบคุมทางสังคมที่แยบยล โดยบอกเราว่าอะไรดี - ไม่ดี คนทำตามกติกาเรื่องเพศคือคนดีและต้องชนะคนไม่ดี (ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามเรื่องเพศ) เสมอ


เราจึงไม่ค่อยจะได้เห็นภาพความซับซ้อนของความสัมพันธ์ผัวเมียที่ไม่ได้เป็นสุขไปทุกเรื่อง และเต็มไปด้วยปัญหาที่ต้องอาศัยความเข้าใจและปรับเข้าหากัน หรือภาพของเมียน้อยที่หลากหลายและเข้าไปซ้อนในความสัมพันธ์ด้วยเหตุต่าง ๆ กัน


คงเพราะอย่างนี้คนในความสัมพันธ์ซ้อนในชีวิตจริงจจึงเผชิญกับสถานการณ์ของตัวเองได้ยากลำบาก และมักจะโทษคนอื่นที่ละเมิดกติกาเรื่องเพศมากกว่าจะพิเคราะห์องค์ประกอบที่เป็นทุกข์และไม่พอดีของความสัมพันธ์ของตัวเองหรือคนรัก


พลังอำนาจของกรอบเรื่องเพศกระแสหลักในการกำกับคนโดยแยกดีชั่วแบบไม่ซับซ้อนและการประณามทางสังคมแบบโหด ๆ คือแสนยานุภาพที่แท้จริงของเมียหลวง แสนยานุภาพนี้อาจช่วยให้เมียหลวงตัวจริงบางคนชนะเมียน้อยได้ผัวคืน ในขณะที่บางคนทนทุกข์กับสถานะเมียหลวงโดยไม่คิดใคร่ครวญถึงที่มาที่ไปของการเป็นเมียหลวงของตัวเอง และเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมตัวเองจึงไม่ชนะเมียน้อยเสียที


กลายเป็นว่าทั้งเมียหลวง - เมียน้อย ต่างก็ถูกกำกับรังแกโดยกรอบเรื่องเพศกระแสหลักในกระบวนการสถาปนาระบบผัวเดียว - เมียเดียวให้ปรากฏเป็นจริง...

วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รักขม


คนไม่น้อยตกหลุมรักเพื่อจะเติมเต็มตัวตน ที่เขา/เธอรู้สึกว่างเปล่าและโดดเดี่ยวเพราะการอยู่คนเดียว เขา/เธอคาดหวังว่าการมีความรัก/คนรักจะทำให้ชีวิตที่ว่างเปล่านั้นเป็นสุขและมีความหมาย แต่เมื่อเข้าสู่ความสัมพันธ์ได้ไม่นานก็มักพบว่าคนรักมีความต้องการเป็นของเขาเองเช่นเดียวกัน กลายเป็นว่าความต้องการของคนสองคนที่รักกันขัดแย้งกันเองอย่างน่าปวดหัว ช่วงเวลาที่เคยหวานชื่นกลายเป็นขมขื่นขึ้นเรื่อยๆ หลายคนที่เดินมาถึงจุดนี้มักรู้สึกว่าชีวิตยามมีคนรักกลับเหงาและว่างเปล่าเสียยิ่งกว่าเมื่อก่อนจะเริ่มความสัมพันธ์เสียอีก 


บางคนใช้เวลายาวนานเพื่อจะตัดตนเองให้หลุดจากความสัมพันธ์ที่เจ็บปวดนั้น บางคนวนเวียนยึดติดอยู่กับความรักนั้นแบบไม่ปล่อยมือทั้งที่ไม่เป็นสุข


การหาคนผิดถูกในสภาพรักขมแบบนี้อาจไม่ช่วยให้เราเข้าใจความรักและความสัมพันธ์มากนัก เพราะแท้ที่จริงสิ่งที่เผชิญคือความต่างของตัวตน ความเชื่อและความต้องการของคนมากกว่าจะเป็นเรื่องถูกผิด การยอมรับให้ได้ว่าคนรักเป็นมนุษย์อีกคนที่มีชีวิตเป็นของเขาเอง ตัวตนของเขาไม่ได้สลายหายไปเพราะเขามาเป็นคนรักของเรา เขาไม่ได้อยู่เพื่อจะสนองความต้องการของเราแต่เพียงอย่างเดียว แม้แต่ "แม่" ของหลายๆคนที่บอกว่ารักลูกนักก็ไม่สามารถจะสนองความต้องการทุกลมหายใจเข้าออกของลูกได้ไปหมด


คำถามที่น่าคิดต่อคือ เราจะอยู่กับความคาดหวังให้ความรักมาเติมเต็มชีวิตและมองหาคนที่จะทำให้เราเป็นสุขไปเช่นนี้ หรือจะเรียนรู้จะรักและอยู่กับคนที่เรารักในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่ต่างก็มีความต้องการเป็นของตัว โดยเกื้อกูลและเข้าใจกันให้ได้