วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

กายกรรมในธรรมศาสตร์

เป็นธรรมดาที่ประเด็นว่าด้วยทิศทางการเปลี่ยนแปลงของธรรมศาสตร์จะถูกผลักมาจากหลายทิศทางในขั้นตอนการสรรหาอธิการบดี อย่างเรื่องการขยาย/ย้ายป.ตรีไปรังสิตก็ถูกนำเสนอใหม่ หลายคนลืมไปว่าธรรมศาสตร์ไม่ได้มีสภาพของการยืนคล่อม 2 ที่ แต่ต้องกางขายืนเหยียบท่าพระจันทร์ รังสิต ลำปาง พัทยา เหมือนกายกรรมวิบาก เพราะการใช้บุคลลากรทำงานหลายที่พร้อมกัน

หลายคนที่เข้ามาร่วมโต้เถียงไม่รู้หรือลืมไปแล้วว่าเขาเคยโต้กันในประเด็นอะไรบ้าง จะกลับไปเถียงกันแบบเดิม ๆ ก็คงลำบากเพราะเวลาผ่านมาพอจะเห็นผลกระทบหลายประการทั้งเล็กและใหญ่ เลยอยากขอนำเสนอบางเรื่องให้ได้คิดและเถียงกันต่อ

ประเด็นที่คนธรรมศาสตร์นำเสนอในสื่อเป็นเรื่องการรวมศูนย์อำนาจที่สภามหาวิทยาลัย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลายประการของการจัดการสถาบันการศึกษา ที่รูปแบบการบังคับสั่งการทำให้เกิดการฝ่อทางปัญญาทั้งในเรื่องการสร้างความรู้และการจัดการเรียนการสอน แต่มีอีกหลายประเด็นที่ควรจะได้ร่วมกันคิดร่วมกันในเวลานี้ด้วย

ความกังวลหลายประการของผู้ไม่เห็นด้วยกับการย้ายป.ตรีทั้งหมดไปรังสิตในช่วงรอยต่อ 2 อธิการบดี (นริศ ชัยสูตร และ สุรพล นิติไกรพจน์) ปรากฏเป็นจริงอย่างรวดเร็ว เช่นการรับนักศึกษาป.ตรีได้ไม่เต็มจำนวนที่ธรรมศาสตร์สามารถรับเข้าเรียนได้ เพราะเด็กมัธยมสนใจจะเลือกคณะด้านสังคมศาสตร์ของธรรมศาสตร์น้อยลงกว่าเดิม น่าสนใจว่าแนวโน้มนี้จะเป็นเรื่องชั่วคราวของระยะเปลี่ยนผ่าน หรือหมายถึงการเปลี่ยนใหญ่ที่หลายคณะจะต้องดิ้นรนปรับรับ ฯลฯ

องค์ประกอบรวมของนักศึกษามธ.ที่เปลี่ยนไปเพราะการย้ายที่เรียน ทำให้เกิดคำถามว่าการเปลี่ยนนี้ถูกมองเห็นหรือไม่ และต้องมีการปรับรับเชิงหลักสูตรและเนื้อหาอย่างไรหรือไม่ ที่สำคัญยิ่งกว่าคือความเข้มแข็งทางวิชาการที่เกี่ยวกับ “เมือง” (วิถีชีวิต โลกทัศน์ การโต้เถียงสาธารณะ ฯลฯ) จะทำให้เราปรับรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้หรือไม่ เพราะดูเหมือนความรู้เรื่องเมืองและคนเมืองที่สะสมกันมายาวนานอาจจะไม่ตอบโจทย์ทิศทางใหญ่ที่มหาวิทยาลัยถูกผลักไปนัก

ฝั่งอาจารย์ที่รับผิดชอบดูแลหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนยังมีภาพฝันถึงคืนวันเมื่อครั้งตัวเองยังเป็นนักศึกษามธ. จึงพยายามจะคงรูปแบบหลายประการไว้ รวมทั้งการพยายามทำให้เด็กมัธยมที่เข้ามาสู่มธ.กลับไปมีคุณสมบัติเดิม ๆ อย่างที่ตัวเองเคยเป็น อย่างหนึ่งที่ท่านเหล่านี้ลืมไปคือ เมื่อครั้งตนเองยังเป็นนักศึกษามธ.จำนวนคนเรียนทั้งมหาวิทยาลัยน้อยกว่านี้หลายสิบเท่าตัว การให้นักศึกษาหลายพันเรียนหนังสือไปพร้อม ๆ กันเหมือนเมื่อครั้งยังอยู่ท่าพระจันทร์เดินไปเรียนวิชาพื้นฐานด้วยกันที่ศิลปศาสตร์ กลายเป็นการสร้างความโกลาหล และความแตกต่างในการจัดการของแต่ละวิชา จนดูเหมือนทิ้งขว้างเด็กอย่างไรอยู่

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับบุคคลากรทุกระดับให้เดินทางข้าม 3 จังหวัดไปปฏิบัติงานที่ศูนย์รังสิต (รวมทั้งเหาะเหินเดินอากาศไปลำปางและพัทยา) สร้างความเดือดร้อนในระดับต่าง ๆ กันให้คนในหน่วยงานต่าง ๆ กำลังความสามารถของคณะในการจัดการกับปัญเหล่านี้แตกต่างกัน จนทำให้ต้องตั้งคำถามว่าการปล่อยให้การจัดการย้ายที่ปฏิบัติงานเป็นเรื่องระดับคณะจะเป็นการซ้ำเติมความยากลำบากของบุคคลากรหลายกลุ่มที่ต่อรองไม่ได้หรือไม่

วิธีคิดราวกับว่าท่าพระจันทร์ – รังสิต (รวมทั้งศูนย์อื่น ๆ ของธรรมศาสตร์) ห่างกันเพียงหนึ่งป้ายรถเมล์ ทำให้ประเด็นการเดินทางกลายเป็นปัญหาสาหัสของคนจำนวนมาก ภาพผู้คนยืนรอรถตู้ (ที่ไม่รู้ว่าอีก 3 วันจะมาถึงไหม) เป็นแถวยาวเหยียดเกิดขึ้นซ้ำซาก เพราะความจำเป็นต้องวิ่งไปมาระหว่างศูนย์ต่าง ๆ ของธรรมศาสตร์ การไม่จัดการกับการขนส่งสาธารณะที่ดีพอเป็นปัญหาใหญ่ อาจมีคนเถียงว่าทำไมไม่ขับรถไปกันเอง (ราวกับว่าบุคคลากรของธรรมศาสตร์ทุกคนควรจะมีรถขับเอง) โดยลืมนึกไปว่าค่าน้ำมันในการเดินทางระยะไกลมากกว่าเงินเดือนของคนหลาย ๆ คนได้

คำแนะนำที่ว่าบุคคลากรควรย้ายไปอยู่รังสิตก็เป็นอะไรที่น่ามหัศจรรย์ เพราะจะให้เขาไปอยู่ที่ไหน ที่พักของมหาวิทยาลัยไม่ได้เพียงพอจะรองรับ ถ้าจะให้แต่ละคนดูแลตัวเอง ต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม และวิชาการก็สูงมากเกินกว่าที่คนธรรมศาสตร์จะแบกรับไหว

คนที่ใส่ใจกับความเป็นไปของธรรมศาสตร์จะช่วยกันบ่น-คิด-เถียงกันต่อก็ดี และจะดีมาก ๆ ถ้าไปชวนว่าที่อธิการคิดและเถียงในเรื่องเหล่านีได้...