วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553

วันสตรีสากล – วันเมียหลวงแห่งชาติ

วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็น "วันสตรีสากล" แต่สำหรับหลาย ๆ คนในสังคมไทยวันที่ 8 มีนา กลายเป็น "วันของหญิงดี" หรือ "วันเมียหลวงแห่งชาติ"

การพูดถึงประเด็นผู้หญิงในเวลาที่สื่อกระแสหลักในบางสังคมได้ประกาศมรณกรรมของสตรีนิยมและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคหลังสตรีนิยม ดูเชยเฉิ่มอย่างไรอยู่ แต่คำถามที่น่าคิดก็คือผู้หญิงในสังคมไทยเป็นสุขดีกับตำแหน่งแห่งที่ความเป็นหญิงของตนเองหรือไม่ ความเท่าเทียมตามกฎหมายได้แก้ปัญหาอะไรบ้างหรือได้สร้างปัญหาอะไรใหม่

เมื่อผู้คนมองมาหาคำตอบเพื่อความเข้าใจประเด็นผู้หญิงจากแวดวงนักคิดและนักเคลื่อนไหว ก็ยิ่งงงหนักเข้าไปอีก เพราะดูเหมือนจะพูดกันคนละเรื่องอย่างเมามัน ทำให้พาลถูกนินทาว่าเพราะความเป็นหญิงเลยทำให้ทะเลาะเบาะแว้งกันเหมือนแมวกัดกันเช่นนี้

อันที่จริงสตรีนิยมไม่ได้สอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ประกอบไปด้วยความคิดและแนวทางที่แตกต่างหลากหลาย แต่คนมักเข้าใจว่าสตรีนิยมพูดเรื่องผู้หญิงแบบแคบ ๆ

ประเด็นผู้หญิงก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการเป็นแม่ เมีย และการเลี้ยงลูก แม้ว่าเรื่องเหล่านี้จะคือโลกทั้งโลกของผู้หญิงจำนวนมาก

ความแตกต่างหลากหลายของผู้หญิงเป็นเรื่องที่พูดกันอยู่ในแวดวงวิชาการ แต่สังคมไม่ได้รับรู้ว่าผู้หญิงแตกต่างกันอย่างไร และความต่างนี้นำไปสู่อะไร

เวลาฟังคนพูดถึงปัญหาผู้หญิงในวัน "เมียหลวงแห่งชาติ" แล้ว ผู้หญิงหลาย ๆ คนตั้งคำถามว่าแล้วมันเป็นเรื่องของฉันตรงไหน ไม่เห็นจะเกี่ยวเลย ทำไมต้องเอาผู้หญิงชั้นกลางค่อนสูงมานำเสนอวิธีการจัดการกับบทบาทความเป็นแม่เมียและการทำงานนอกบ้าน ในขณะที่ปัญหารุมเร้าของผู้หญิงกลุ่มอื่น ๆ ต่างไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปากท้องและความยากจน ไปจนถึงความทุกข์ยากอันเนื่องมาจากกติกาของเพศวิถี

ไม่น่าแปลกที่หลาย ๆ คนจะเข้าใจไปได้ว่านักสตรีนิยมคือเมียหลวงหวงผัว เพราะนั่นคือภาพที่ได้เห็นจากกิจกรรมวันสตรีสากล และที่สื่อนำเสนอ

ผู้หญิงมองโลกและมีประสบการณ์ความเป็นหญิงต่างกันได้ เพราะความต่างของชนชั้น ความเชื่อ วิถีชีวิต รวมทั้งวัยที่ต่างกัน แล้วใครจะพูดแทนคนอื่นได้

ผู้หญิงพูดไม่เหมือนกันหรือทะเลาะกันไม่ได้เป็นอาการเฉพาะของความเป็นหญิง แต่เป็นธรรมดาของการอยู่ในสังคมที่ตำแหน่งแห่งที่ต่างกันเห็นโลกต่างกัน

น่าจะมีเวทีวันสตรีสากลหลาย ๆ เวที วงเล็กวงน้อยที่ผู้หญิงได้มีโอกาสคิดถึงประเด็นที่สำคัญสำหรับเธอแต่ละคน และได้ฟังคนอื่นที่ไม่เหมือนตัวเองมากกว่าจะพูดถึงหรือนำเสนอประเด็นผู้หญิงอย่างแคบ ๆ ที่กีดกันผู้หญิงจำนวนมาก...