วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

"รักนวลสงวนตัว" แบบ "Victorian"

คำถาม -- @nez147:  ขอถามอาจารย์หน่อยได้มั๊ยครับ ค่านิยมผู้หญิงไทยต้องรักนวลสงวนตัวนี่ไม่ได้มีมาแต่โบราณใช่มั๊ยครับ? เป็นค่านิยมที่เพิ่งสร้างหรอฮะ?

ตอบ: ความเข้าใจเรื่อง “รักนวลสงวนตัว” เวลานี้เป็นการตีความตามกติกาเรื่องเพศร่วมสมัย ที่ต่างไปจากความหมายเดิมอยู่มาก

แนวคิด “รักนวล” ที่สอนในโรงเรียนเน้นการไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศจนกว่าจะแต่งงาน เรื่องเพศที่ถูกต้องเป็นที่ยอมรับถูกขังไว้ในการแต่งงาน เซ็กส์นอกสมรสถูกจัดว่าเป็นความผิด การเน้นให้รักนวลบอกผู้หญิงให้รอร่วมเพศเมื่อแต่งงาน โดยอ้างอิงว่าเป็นวิถีปฏิบัติตามวัฒนธรรมไทย

หลักฐานบันทึกทางประวัติศาสตร์บอกว่าสามัญชนชาวสยามไม่ได้รอแต่งงานก่อนแล้วค่อยร่วมเพศ บางรายชอบพอกันแล้วหนีตามกันไปก่อนจะกลับมาขอขมา

พิธีกรรมที่ต้องใช้หญิงบริสุทธิ์ไม่ได้ใช้หญิงสาว แต่ใช้เด็กหญิงที่ยังไม่มีประจำเดือน เพราะตระหนักถึงความไม่แน่นอนของสาว ๆ ที่อาจจะไปมีอะไรกับใครก่อนแต่งงาน

การคุมประเวณีเคร่งครัดเป็นเรื่องของหญิงชนชั้นสูง ที่ถูกส่งไปแต่งงานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลและราชอาณาจักร จะว่าไปแล้วการตีความรักนวลสงวนตัวว่าต้องไม่มีเซ็กส์ก่อนแต่งงานอย่างเคร่งครัดโดยอ้างประเพณีไทย เป็นการอ้างประสบการณ์แบบชนชั้นสูง

ความหมายของ “รักนวล” แต่เดิมเป็นเรื่องการเตือนผู้หญิงให้เลือกผัวอย่างระมัดระวัง จะได้ไม่ยุ่งยาก ไม่ได้แปลว่าห้ามร่วมเพศก่อนแต่งงาน

การตีความรักนวลสงวนตัว ณ เวลานี้เป็นการตีความแบบ Victorian มาก คือกลัวเรื่องเพศ พยายามขังเรื่องเพศไว้ในการแต่งงาน แต่กลับอ้างอิงเหตุผลว่าเป็นเรื่องของความเป็นไทย

โปรดอ่านรายละเอียดประเด็นเหล่านี้ใน ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, ประวัติศาสตร์ของเพศซิถี: ประวัติศาสตร์เรื่องเพศ/เรื่องเพศในประวัติศาสตร์ไทย.

วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ด่านายกยิ่งลักษณ์แบบไทยๆ + หญิงๆ

เข้าใจได้ที่จะมีคนมากมายไม่ชอบและด่าทอนายกยิ่งลักษณ์ด้วยเหตุต่างๆกัน วิธีที่เธอถูกด่าบอกอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับสังคมไทย 

คนไทยหลายกลุ่มไม่เถียงกันในประเด็น ไม่สู้กันด้วยเหตุผล แต่มักหยิบยกลักษณะของคนมาชี้ว่าเขาคิดผิด เช่นเพราะเขาเป็นคนไม่ดีสิ่งที่พูดจึงผิด 

คนไทยไม่แยกความคิดเห็นของคนออกจากตัวตนของคนนั้น จึงไม่ยกเหตุผลมาหักล้างความคิดที่เราไม่เห็นด้วยแต่ใช้วิธีด่าตัวคนแบบหยาบสุดๆแสบสุดๆ 

การด่านายกหญิงโดยพูดถึงความเป็นหญิงเหนือของเธอทำให้คนที่ไม่ถูกใจเธอสะใจได้ แต่ก็ทำให้เห็นว่าแท้ที่จริงสังคมไทยก้าวไม่พ้นมายาคติของเพศสภาพ

การด่าผู้หญิงให้ได้ผลต้องหยิบยกเรื่องเพศที่มีนัยยะความเป็นหญิงไม่ดี - ผัวทิ้ง มั่วเซ็กส์ ขายตัว ฯลฯ มุขอมตะแบบนี้ถูกใช้อัดผู้หญิงมาตลอด 

สังคมไทยไม่ก้าวข้ามเพศสภาพ ด่าโดยโยงความเป็นหญิง+นัยทางเพศทำร้ายนักการเมืองหญิงได้แต่ไม่ทำให้เราเห็นประเด็นที่ควรคิดต่อหรือแก้ไข 

เถียงในประเด็น+ยกเหตุผลไม่ต้องรสนิยมคนที่นิยมดูการเมืองเหมือนดูลำตัด ด่ากันหยาบๆแสบๆได้ความสะใจแต่ไม่พาสังคมไทยไปไหนนอกจากวนอยู่ที่เดิม 

นายกปูไม่ได้ดีไปหมด ปกป้องเธอโดยไม่เลือกประเด็นแบบไม่ให้ใครแตะก็ไม่สร้างสรรค์ ด่าเธอแบบไม่ลืมหูลืมตาหยาบคายไร้ประเด็นก็ไม่สร้างสรรค์ 

วิพากษ์+ตั้งคำถามกับนายกยิ่งลักษณ์ในประเด็นนโยบาย การทำงาน การใช้อำนาจ ดีกว่า จะได้มีอะไรคิดต่อประเทืองปัญญาได้บ้าง 

วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อคติทางเพศกับการจัดกลุ่มเสี่ยง HIV/AIDS

@tomornism ถามว่า “อ.คิดอย่างไรกับการไม่รับเลือดบริจาคจาก 'ชายรักชาย' (ไม่รวม ญ รัก ญ) ด้วยเหตุผลเป็นพฤติกรรมเสี่ยงเหมือนคนเคยซื้อบริการทางเพศครับ”

การไม่รับบริจาคเลือดจาก “กลุ่มเสี่ยง” มักถูกให้เหตุผลเรื่องความปลอดภัยของเลือดเอง เคยได้ยินคำอธิบายว่ากระบวนการตรวจสอบเลือดของผู้บริจาคใช้เวลา ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาในเวลาที่เกิดความต้องการเลือดประมาณมากแบบเร่งด่วน ทำให้เกิดความเสี่ยงของผู้รับเลือดที่บริจาคมาได้

หลักการในที่นี้เป็นการทำให้เลือดปลอดภัยมากที่สุด คำอธิบายทางเทคนิคเช่นนี้ทำให้คนที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญโต้เถียงยาก เพราะไม่กล้ารับรองความปลอดภัยที่เกินความสามารถของเรา แต่พยายามชี้ให้เห็นว่าแนวปฏิบัติเช่นนี้มีผลทางสังคมในแง่การตอกย้ำอคติทางเพศของระบบความเชื่อที่เชิดชูรักต่างเพศและเกลียดกะเทย เกย์ ทอม/ดี้ ฯลฯ

การจัดพฤติกรรมบางประเภทเป็นพฤติกรรมเสี่ยงต่อการรับหรือแพร่เชื้อ HIV/AIDS มาจากฐานคิดเชิงระบาดวิทยาที่พยายามจะป้องกันการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยใหม่ โดยดูจากลักษณะร่วมของผู้ติดเชื้อเดิม

กลุ่มที่จัดว่าเสี่ยงมาโดยตลอดคือ คนขายบริการทางเพศ  “รักร่วมเพศ” และ “ร่วมเข็ม” ในการเสพยาเสพติด

คำอธิบายหลักในเวลานี้บอกว่า การแพร่กระจายเชื้อผ่าน “สารคัดหลั่ง” ของมนุษย์ แต่คนทั่วไปมีแนวโน้มจะมองกลุ่มเสี่ยงแบบเดิม กลายเป็นว่าการคิดเชิงระบาดและวิธีปฏิบัติที่มาฐานคำอธิบายทางการแพทย์ ตอกย้ำสนับสนุนการประณามรูปแบบพฤติกรรมทางเพศนอกกรอบหลายประการ

แม้ว่าจะมีคำอธิบายจากฐานด้านการแพทย์เพื่อจะทำให้เห็นความเฉพาะเจาะจงของรูปแบบพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้น แต่การจัดกลุ่มและคำอธิบายทางการแพทย์ก็ยังถูกหยิบยกหรือประทับในความเข้าใจของคนว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องเพศกับเอดส์ กลายเป็นการประณามต่อเนื่องไม่สิ้นสุด

คำตอบของคำถามที่ @tomornism ถามก็คือ การเลือกจะไม่รับเลือดจากคนบางกลุ่มเป็นเรื่องเข้าใจได้ในแง่ความเสี่ยง และคนที่ต่อสู้ในประเด็นนี้เองก็ไม่อยากจะผลักดันให้ยกเลิกเสียเลยทีเดียวเพราะตระหนักถึงความไม่แน่นอนที่เป็น “ความเสี่ยง” ทางเทคนิคที่จะกลายเป็นอันตรายได้

ที่ต้องสู้กันคือ รูปแบบพฤติกรรมเสี่ยงที่จัดแบบเหมารวมกลายเป็นตัวหล่อเลี้ยงอคติทางเพศของคน การทำให้เห็นความเฉพาะเจาะจงขององค์ประกอบพฤติกรรมเสี่ยง เช่นการร่วมเพศในรูปแบบที่ทำให้เกิดการปะปนแลกเปลี่ยนสารคัดหลั่งไม่ว่าในลักษณะใดต่างหากที่เสี่ยง จะทำให้คนตระหนักว่าแม้ตัวเองจะมีวิถีชีวิตแบบ “รักต่างเพศ” (Heterosexuality) ก็มีโอกาสเสี่ยงได้ น่าจะประโยชน์กว่าในเชิงการป้องกันและการลดอคติทางเพศ

ถ้ามองการไม่รับบริจาคเลือดจาก Homosexuals โดยไม่พิจารณาต่อก็จะกลายเป็นปัญหาได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดสินความเหมาะสมของวิธีการโดยใช้ความเข้าใจแบบสังคมศาสตร์อย่างเดียว ข้อเรียกร้องน่าจะเป็นการทำให้เจาะจงมากขึ้นว่าอะไรคือความเสี่ยง การไม่รับบริจากเลือดจากบางกลุ่มควรจะเจาะจงมากขึ้นไหมว่าบรรดาหญิงรักหญิง/ชายรักชายต้องมีพฤติกรรมอย่างไรจึงจะจัดว่าเสี่ยง ไม่ใช่เพราะเป็น Homosexuals เลยเสี่ยงไปหมด

ความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นจะเป็นประโยชน์ในด้านการสร้างความเข้าใจพฤติกรรมเสี่ยง และลดการตีขลุมรังเกียจในเรื่องเพศได้ การตั้งคำถามและชวนให้คิดต่อว่าด้วยอคติทางเพศจึงเป็นเรื่องสำคัญ

วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เลิกเพราะรัก จากเพราะแคร์ -- Part 1

การยุติความสัมพันธ์อาจไม่ได้เป็นเพราะหมดรัก แต่หลายคนเลิกกันเพราะรักต่างหาก ประมาณว่า "เลิกเพราะรัก จากเพราะแคร์" จริงไหม?

คนที่เรารักไม่จำเป็นจะต้องไปกันได้ดีกับเรา แต่มีแง่มุมปีนเกลียวที่ทำให้เหนื่อยในคสพ. เลยเลิกกันเพื่อถนอมรักก็เป็นได้ 

คิดดูให้ดี เราอาจจะพบว่าเราทำร้ายคนที่เรารักมากกว่าคนที่เราเกลียดเพราะความคาดหวังให้เขาเข้าใจ พอเขาไม่รู้ใจก็ปี๊ดแตก เหนื่อยอ่อนกันทั้งคู่

ความเหนื่อยอ่อนจากการอยู่ในคสพ.ที่มีความคาดหวัง และต้องการจัดการอารมณ์ของตัวเองและคนรัก กลายเป็นจุดจบของความรักของหลายคน

คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเมื่อไรปล่อยมือจากคสพ.ที่กลายเป็นสงครามความคาดหวังและอารมณ์ ปล่อยให้เดินข้ามเส้นไปกลายเป็นความเกลียดโกรธข้ามภพชาติ

เวลารู้สึกว่าเจ็บปวด เราอาจทำหรือพูดอะไรหลายอย่างที่ทำร้ายอีกฝ่ายด้วยไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ หยุดทำร้ายกันดีกับใจทั้งคู่ 

การถนอมรักให้อยู่นานอาจไม่ใช่เรื่องการยึดเหนี่ยวอีกฝ่ายให้เป็นของเรา แต่เป็นการปล่อยมือจากการเหนี่ยวรั้งคนรักและคสพ.จนอึดอัดและเจ็บปวด

คนที่เดินจากไปจากชีวิตเรา หรือการเดินออกจากชีวิตใครบางคนอาจเป็นการรักษาความรู้สึกดีๆที่เป็นฐานของความรัก ไม่ใช่เพราะเกลียดชังก็เป็นได้

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

หึง - หวง

หึง - หวงถูกมองเป็นเรื่องความระแวง+ยึดมั่นกับความเป็นเจ้าของ กับความเจ้าชู้ไม่รู้จักพอ ความหึงอาจเป็นเรื่องของความไม่พอดีของคนในคสพ.ด้วย?

อาการหึงหวงทำให้คนหึงเจ็บเพราะความไม่ไว้ใจ+ระแวง+เหนื่อยกับการไล่ล่า ฝ่ายถูกหึงเห็นเป็นเรื่องน่ารำคาญหรือเสียความรู้สึกเพราะอีกฝ่ายไม่ไว้ใจ

การมองคสพ.ว่าเป็นเรื่องของความเป็นเจ้าของคนรัก ทำให้ความหึงหวงกลายเป็นส่วนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงยากของคสพ. โดยเฉพาะกรณีที่ความคาดหวังไม่ตรงกัน

เพราะคนเริ่มรัก รักถดถอย และเลิกรักไม่พร้อมกัน อัตราความเบื่อและต้องการความตื่นเต้นใหม่ไม่เท่ากัน ทำให้คสพ.ไม่พอดีกันได้โดยง่าย

ในคสพ.คนยังต้องการความเป็นส่วนตัว แต่มักจะนิยามความเป็นส่วนตัวและการแบ่งปันเวลาและอารมณ์ไม่เหมือนกัน ความหวาดระแวงจึงตามมา

เมื่อเผชิญอาการหึง ความรำคาญบังตาคนถูกหึงจนไม่ยอมมองหาเหตุแห่งความหึง ฝ่ายคนหึงก็ถูกบดบังด้วยความระแวงจนไม่เห็น 'ใจ' คนที่ตัวเองรัก

ความระแวง-หึงหวงอาจลดน้อยลงเพราะการทำความเข้าใจและสื่อสารกัน แต่คนมักเชื่อว่าเพียงเพราะรักกันต้องรู้กันโดยไม่ต้องพูดเลยต้องปวดหัวยืดเยื้อ

หลายกรณีความหึงหวงบอกถึงความต่างพื้นฐานเกินปรับเข้าหากัน เมื่อรู้แล้วก็ลาจากอย่ายึดยื้อเลี้ยงไข้ ทำร้ายกันไปมาจนกลายเป็นเกลียดกันเลย

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

ตีตรา-ใส่ร้าย- ป้ายสี: รัฐไทย กฎหมายและการค้าบริการทางเพศ

ตีตรา-ใส่ร้าย- ป้ายสี: รัฐไทย กฎหมายและการค้าบริการทางเพศ

ทัศนะเรื่องการค้าบริการที่แย้งกันเอง 
• การค้าบริการในฐานะความชั่วร้ายที่จำเป็น คือเป็นการกระทำที่เลวร้ายแต่ไม่มีก็ไม่ได้ เพราะจำเป็นต่อการสนองความต้องการทางเพศของผู้ชายเพื่อไม่ให้ไปล่วงละเมิด "หญิงดี" คนอื่นในสังคม ถ้ามองว่าไม่ดีไปเลยอาจยุ่งน้อยกว่านี้
• ความเข้าใจเกี่ยวกับการค้าบริการทางเพศสุภาพคนซื้อเป็นผู้ชาย คนขายเป็นผู้หญิง มองไม่เห็นความซับซ้อนของปรากฏการณ์ที่ฝ่ายผู้ขายเป็นไปโดยซับซ้อน
• การประณามหญิงค้าบริการ/ คนค้าบริการ - whore stigma (ตีตรา "กะหรี่")
   การปลูกฝัง/ ตอกยำ้ผ่านหลายช่องทาง
   ตัวอย่างความละมุนของการตีตรา "กะหรี่" จากละคร "กลรัก ลวงใจ" เคนบอกว่า "บัวระวงเธอไม่น่าเป็นผู้หญิงขายตัวเลย" (ไม่เช่นนั้นก็จะได้อยู่ร่วมกันได้?) ทำให้คนดูไม่รู้ตัวว่ากำลังรับเอาวิธีมองคนค้าบริการทางเพศในทางลบ??

กฎหมายสะท้อนความขัดแย้งกันเองนี้ คือเน้นการปรามไม่ใช่การปราบหรือจำกัดให้สิ้นซาก 
แต่การบังคับใช้กฎหมายตั้งบนฐานอคติและความไม่ชัดเจน
ผลคือการรังแกคนมากมายโดยรัฐ
การตีตรากับความเป็นพลเมือง - การมองตัวเองและถูกคนอื่นมอง

• ตีตราคน
    -  กฎหมายให้ภาพของคนค้าบริการที่เฉพาะ เช่น ยากจน โง่เขลาเบาปัญญา ถ้าไม่ได้มีภาพตามนี้ก็ชั่วเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
    -  อาการ สัญญาณ และพฤติกรรมที่สื่อว่าค้าบริการ -- ไล่ปราบหรือรีดไถ??
    -  คนที่ไม่เหมือนภาพที่กฎหมายกำหนด หรือความเข้าใจทั่วไป ถูกตีตราซำ้ซ้อน -- TGs/ male sex workers เจอกับการกล่าวหาโดยรัฐในแง่มุมอื่น เช่นยาเสพติดหรือโขมยของเพิ่มเติมไปจากค้าบริการทางเพศ
    -  Whore stigma - การถูกลงโทษโดยกฎหมายอื่นแม้เมื่อไม่ได้ละเมิดพรบ.ปราม/ เปิดให้คนด่ากันได้ซึ่งหน้า/ ประณามได้/ รังแกได้ เช่นขายบริการโดนข่มขืนไม่ได้ ตร.ไม่รับแจ้งความเมื่อโดนกระทำความรุนแรง หรือเบี้ยวค่าตัว

• ใส่ร้าย/ ป้ายสี - พฤติกรรมบางอย่างทำให้ถูกจัดว่าขายบริการ โดนดูหมิ่นเหยียดหยามได้ ลงโทษแบบมั่วๆโดยอ้างกฎหมายผิดๆถูกๆได้
    ใส่ร้ายได้โดยไม่เห็นว่าเป็นความอยุติธรรม

การตีตรา-ใส่ร้าย-ป้ายสี ทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครอง เข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพและบริการสาธารณะอื่น ถูกกระทำความรุนแรง/เอารัดเอาเปรียบ - ความเป็นมนุษย์กับความเป็นพลเมืองลดลง

การใช้กฎหมายแบบนี้ทำให้คนเข้าใจกฎหมายผิด และตอกยำ้อคติของคน กลายเป็นว่าการค้าบริการผิดเพราะทั้งออกนอกกรอบเรื่องเพศ และผิดกฎหมาย กลายเป็นการตอกยำ้กันไปมา วนเวียนไปเรื่อย ๆ

การค้าบริการจึงถูกประณามแบบย้อนแย้งกันเอง และรังแกคนโดยไม่เห็นความซับซ้อนของประเด็น

ความไม่เท่าเทียมและการต่อสู้ในโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียม อำนาจต่อรองไม่เหมือนผู้หญิงชนชั้นกลาง คนค้าบริการลุกขึ้นสู้ไม่ได้ง่ายนัก มีแนวโน้มสยบยอม เพราะมีตำแหน่งแห่งที่เสียเปรียบในทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบกับการถูกตีตรา "กะหรี่" ทำให้รู้สึกตำ่ต้อย 

วิธีมองการค้าบริการในสังคมไทย - รังเกียจแต่ซื้อ ไม่เปลี่ยนโครงสร้างที่เชื่อว่าทำให้คนค้าบริการ ไม่ช่วยคนนอกจากจะเลิกค้า หรือไม่ช่วยเพราะรังเกียจ การมองเช่นนี้เป็นฐานของการรังแกและเบียดขับโดยประชาสังคมและรัฐที่น่าคิดต่อร่วมกัน

การสู้ในประเด็นการค้าบริการทางเพศไม่ได้เรียกร้องให้สงสาร แต่เป็นเรื่องการทำความเข้าใจ เคารพคนในฐานะคน- ท้าทายวิธีการมองโลกและการยึดหลักความเป็นพลเมืองและสิทธิในบริบทของความไม่เท่าเทียมและหลากหลายที่มีมิติของการตีตรา

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

จุดเปลี่ยนเรื่องเพศประเทศไทย -- ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

จุดเปลี่ยนเรื่องเพศประเทศไทย

หัวข้อการอภิปรายนี้สื่อว่ามีการเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศสภาพ/เพศวิถีในสังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่คนอาจเห็นต่างกันได้ว่า
เรื่องเพศเปลี่ยนไปหรือไม่ ประสบการณ์ของบางคนอาจทำให้รู้สึกหรือเข้าใจไปได้ว่าเรื่องเพศไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่วนอยู่กับที่

เป็นไปได้หรือไม่ว่าเราจะมองไม่เห็นหรือไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเพศสภาพ/เพศวิถี การเปลี่ยนแปลงหลายแง่มุมในเรื่องเพศเป็นผลของการสะสมความรู้ การต่อสู้ผลักดันและการโต้เถียงที่เมื่อถึงจุดหนึ่งกลายเป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นตาตื่นใจ ในขณะที่บางเรื่องที่ดูเหมือนจะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ แท้ที่จริงมีการเปลี่ยนในรายละเอียดหรือในระดับประสบการณ์และการเห็นโลกของคนไปมาก

การเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศสภาพ/เพศวิถีในสังคมการเมืองไทยอาจไม่ใช่อะไรที่เห็นได้ชัด หรือตรงไปตรงมานัก

การอภิปรายนี้แกะรอยความต่อเนื่อง/เปลี่ยนแปลงเรื่องเพศในสังคมไทยใน 4 ประเด็น

• เสียงแบบกระแสหลักที่พูดผ่านสื่อและจนท.รัฐ
   การประสานเสียงว่าด้วยเรื่องเพศที่ถูกต้องในลักษณะเดียวกัน ทำให้เกิดภาพลวงตาของความไม่เปลี่ยนแปลงที่ทำให้คนทำงานประเด็นเพศวิถีหลายคนท้อใจ
   แง่มุมที่น่าสนใจของเสียงแบบกระแสหลักได้แก่
   - การเรียกร้อง/ปลูกฝัง/ตอกยำ้ความชัดเจนของความเป็นหญิง-ชาย การจำกัดเรื่องเพศที่ถูกต้องไว้ในการแต่งงานแบบผัวเดียว-เมียเดียว การจัดให้วิถีทางเพศแบบรักต่างเพศ (Heterosexuality) เป็นเรื่องปกติเพยงรูปแบบเดียว และการให้ค่ากับการ "รักนวล" แบบไม่เปิดเผยเนื้อตัวร่างกายหรือยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศนอกสมรส ดูจะเป็นประเด็นหลักที่สื่อกระแสหลักและรัฐสนับสนุนส่งเสริม
   - การใช้เรื่องเพศนอกกรอบโจมตีกันในทางการเมือง กลายเป็นความคล้ายคลึงของการเมืองต่างสี เราได้เห็นการโจมตีศัตรูทางการเมืองโดยหยิบยกวิถีชีวิตทางเพศหรือพฤติหรรมทางเพศมาประณามหรือลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม เช่น การกล่าวถึงความเป็นคนข้ามเพศ/รักเพศเดียวกัน โดยสถาปนาให้นักการเมืองบางคนเป็นเจ๊ หรือการใช้พลังของการนินทาโดยกล่าวอ้างเรื่องความสัมพันธ์ซ้อน ใครเป็นชู้กับใคร
   ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เข้าใจไปได้ว่าเพศวิถีกระแสหลักช่างทรงพลังและมั่นคง

• เสียงวิพากษ์และการโต้เถียง/โต้แย้งเพศวิถีกระแสหลักที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลัก/กระแสรอง
   แม้ว่าเพศวิถีกระแสหลักจะถูกนำเสนอต่อเนื่องและเป็นฐานของการตัดสินถูกผิดในเรื่องเพศหรือการกดดันประณาม คนหลายกลุ่มไม่ยอมให้มีการผูกขาดการชี้ถูกผิดหรือรูปแบบความเหมาะสมทางเพศ เราได้เห็นการตั้งคำถามกับกระแสการตัดสินเรื่องเพศในละคร (ดอกส้มสีทอง) พฤติกรรมทางเพศของดารา (ฟีล์ม-แอนนี่) การตัดสินเรื่องเพศของพิธีกร (Woody) การแก้ผ้าเล่นสงกรานต์
   เราตั้งคำถามกับการตัดสิน/ประณาม เราชวนคิดถึงฐานคติเรื่องเพศของคน เราตั้งคำถามกับอาการ sex panic/ ความกลัวเซ็กส์ของคนบางกลุ่มในสังคม
   มีการตั้งข้อสังเกตต่อเนื่องเกี่ยวกับการบีบบังคับ เบียดขับ และรุมประณามผู้คนบนฐานของตัวตนและวิถีชีวิตทางเพศ หลายคนเรียกร้องการเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิดในเรื่องเพศ
   คำถามก็คือการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้หมายถึงอะไรเราพยายามจะเปลี่ยนอะไร? 
   เป็นไปได้หรือไม่ว่าการทำงานทางวิชาการ กึ่งวิชาการ และการเคลื่อนไหวทางสังคม ในประเด็นเพศวิถี เป็นเรื่องของการตั้งคำถามกับการให้ค่า การตัดสินเรื่องเพศ การผูกขาดความถูกต้อง ไม่ใช่การทำให้คนเปลี่ยนมาคิดเหมือนกัน เช่นมองเรื่องเพศทางบวกหรือลบเหมือนกัน แต่เป็นการทำให้คนเห็นต่างโดยไม่รู้สึกผิดหรือตำ่ต้อย 
   ไม่มีการมองเรื่องเพศแบบไหนที่ดีไปกว่ากัน ถ้าไม่ละเมิดกัน/ ไม่รังแกคนอื่น

• การเรียกร้องการรับรอง/คุ้มครองจากรัฐโดยขบถทางเพศ
   ความสำเร็จในบางเรื่อง?เราได้เห็นการจัดที่ทางที่ทางของเรื่องเพศนอกกรอบในพื้นที่สาธารณะ - การจัดพท.เฉพาะ เช่น LGBT ในแวดวงความสวยงามและบันเทิง ให้ภาพของการยอมรับ?
   รัฐไทยยอมถอยในบางเรื่อง เช่นกรณีศาลปกครองกับสด.43
   ที่น่าสนใจคือเราได้เห็นร่องรอยของการทำงานทางปัญญาที่เป็นฐานการต่อสู้เชิงนโยบาย เช่นประเด็นเพศสภาพและระบบสองเพศสภาพอย่างเคร่งครัด ความจำกัดของเพศวิถีกระแสหลัก และการกำกับโดยอำนาจที่แยบยล 
   การทำงานทางวิชาการ การเคลื่อนไหวทางสังคมเพืื่อนำเสนอประเด็นปัญหาเฉพาะเหล่านี้ทำให้เกิดคำอธิบาย ชุดเหตุผล ภาษา ที่ขบถทางเพศใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ และเป็นตัวช่วยของรัฐและคนในรัฐในการทำความเข้าใจประสบการณ์และวิืถีชีวิตทางเพศที่หลากหลายของคนในสังคม กลายเป็นฐานในการคุ้มครอง รับรองสิทธิ และเพิ่มพูนเสรีภาพในการจัดการชีวิตของตนเองให้กับพลเมือง
   การเขียน ทำวิจัย เปิดวงโต้เถียง รณรงค์สร้างความเข้าใจ ฯลฯ ที่ดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจหรือมีผลกระทบทันที กลายเป็นฐานการเปลี่ยนแปลงหลายประการได้เมื่อถึงเวลาหนึ่ง การทำงานในเรื่องเพศวิถีจึงไม่ได้สูญเปล่า

• การสร้างพท.และเครือข่ายเพื่อสนับสนุนทางเลือก วิถีชีวิต
   หลายกลุ่มไม่รอความเมตตาจากรัฐ แต่สร้างเครือข่ายเพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ปัญหา และความทุกข์จากแง่มุมต่างๆของเรื่องเพศ ชุมชนที่สนับสนุนเกื้อกูลกันและกัน หรือเห็นต่างกันได้อย่างสร้างสรรค์
   การเพิ่มทางเลือกให้กับคนในบางสถานการณ์ เช่น เครือข่ายท้องไม่พร้อม กระเทยไทย 
   กิจกรรมที่คนมองเห็นบ้างไม่เห็นบ้างเหล่านี้ สร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนและการเมืองของพลเมืองในการจัดการกับกิจกรรม/กิจการของตัวเอง นี่ไม่ใช่หรือที่เป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตยในความหมายของการปกครองโดยประชาชน การเพิ่มพูนความสามารถของคนในการนำเสนอปัญหาเฉพาะของตน การเข้าใจสถานการณ์ของตนเอง และการจัดการกับปัญหาร่วมกันของกลุ่มคนโดยไม่ต้องพึ่งพิงรัฐไปทุกเรื่อง

ทั้งหมดนี้คือจุดเปลี่ยนเรื่องเพศประเทศไทยที่มาจากการทำงานทางความคิด ทางใจและจิตวิญญาณของคนมากมาย หลายคนมาร่วมในการประชุมวิชาการเพศวิถีศึกษานี้

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ตัดใจให้ขาด

เคยทวิตเรื่องตัดใจ - ปล่อยมือจากรัก หลายคนอยากอ่านแต่หาไม่เจอ เลยเอามาเรียบเรียงและเพิ่มเติมบางประเด็น ให้อ่านกันใหม่อีกรอบ

เหตุให้ต้องตัดใจจากรักมีได้หลายอย่าง เราเลิกรัก คสพ.ทำให้ทุกข์และกลายเป็นการทำร้ายกันไปมาระหว่างคนรัก หรือคนรักอยากเดินจากไป ฯลฯ

การตัดคสพ.ไม่ง่าย แม้เมื่อเราเป็นฝ่ายอยากเดินจากไป ความเคยชินและความผูกพันเดิมหลายเรื่องยังอยู่ หลายคนใช้วิธีเดินหนีไปโดยไม่บอกเลิก

กระบวนการตัดใจมักยืดเยื้อเรื้อรัง เต็มไปด้วยอาการโหยหาและใจจะขาดเพราะเสียเธอไปของฝ่ายที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเมื่อคนรักเดินจากไป

การตัดใจจากคนที่รักไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้ายังโกรธและน้อยใจเพราะการกระทำของคนนั้นแปลว่ายังตัดไม่ขาด และคนนั้นยังครองที่ในใจของเราอยู่

บางคนตัดใจจากคนรักโดยวิ่งเข้าสู่ความสัมพันธ์ใหม่เพื่อการฟื้นสภาพจิตใจ เพื่อจะเจอปัญหาใหม่และทำร้ายใจคนเพิ่มขึ้นอีกคนเพราะไม่ได้รัก

หลายคนตัดใจโดยทำให้คนรักกลายเป็นปีศาจอมนุษย์ เพ่งมองไปที่แง่มุมร้ายๆ และขยายให้เลวร้ายกว่าที่เขาเป็น คิดว่าความเกลียดจะทำให้เลิกรัก

ความพยายามเกลียดคนรักทำให้ยิ่งหมกมุ่นคิดถึงสิ่งที่เขาเป็นและเคยทำ กลายเป็นทำร้ายตัวเองโดยการมองแต่แง่ร้าย เคียดแค้นและไม่ปล่อยวาง

การตัดใจให้ขาดไม่ใช่การรอให้คนรักออกไปจากชีวิต แต่น่าจะเป็นการหันหลังเดินจากมา แม้ว่าจะเกิดอาการลังเลก้าวเดินไม่ออกอยู่ช่วงหนึ่ง 

สัญญาณของการตัดใจไม่ขาด คือการกระทำหรือคำพูดของคนๆ นั้นยังทำให้น้อยใจและเจ็บจี๊ดได้ อย่าจิตตก ซึมซับความเจ็บและตัดใจต่อไป 

การมองส่วนดีและไม่ดีของคนรักที่ทำให้ทุกข์และสุข  ยอมรับปัญหา ถึงเวลาต้องเดินจากไปเพื่อจะได้ไม่ต้องทำร้ายกันต่อไปอาจช่วยให้ตัดใจได้

ตัวช่วยสำคัญในกระบวนการตัดใจที่ต้องใช้เวลาและแรงใจ คือมิตรภาพของเพื่อนที่ห่วงใย ให้เวลากับเรา รับฟังและร่วมทุกข์จะช่วยให้ผ่านไปได้ 

การตัดใจยากลำบากไม่ได้แปลว่าเราอ่อนแอ แต่เป็นอาการของมนุษย์ที่รักไม่เป็นดังใจ ขอเป็นกำลังใจให้คนกำลังตัดใจทุกคนค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หึงคนที่ไม่รัก?

คำถามของ @Oh_Na_Lin: แปลกจริงๆคะ หนูคิดว่าหนูหึง คนที่หนูไม่รู้ว่าหนูชอบเขาหรือเปล่า? คือหนูยังไม่แน่ใจว่าชอบพี่เขาหรือเปล่า แต่วันนี้หนูเจอพี่เขาคุยกะแฟนเก่า เลยรู้สึกแปลกๆหูอื้อ ตาลายเลยคะ

เราหึงคนที่เราไม่แน่ใจว่ารักชอบได้ไหม? อาการเหมือนหึงหวงทั้งที่ยังไม่ชัดเจนนั้นคืออะไร ถ้าดูหนังละครโรแมนติคทั้งหลาย อะไรประมาณนี้จะเป็นฉากที่ให้สะท้อนความในใจของพระเอก-นางเอกว่าที่คิดว่าไม่รักนั้น “แท้ที่จริงก็รักเธอ” แล้วก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ความสัมพันธ์แบบ happy ending ที่หลายคนซาบซึ้ง

อาการหึงหวงถูกมองเป็นสัญญานว่าเราคงต้องรักคนที่เราหึงเป็นแน่แท้ การสรุปแบบนี้ทั้งใช่และไม่ใช่??

ความรู้สึกรัก-ไม่รักไม่น่าจะเป็นอะไรที่แบ่งได้ง่าย ๆ เป็นขาวเป็นดำ ในแต่ละเวลาความรู้สึกของแต่ละคนอาจจะอยู่ตรงจุดใดจุดหนึ่งระหว่างรัก-ไม่รักก็เป็นได้ เหตุการณ์บางอย่างทำให้หลายคนกระโดดไปที่ขั้วใดขั้วหนึ่งของรัก-ไม่รักทันที เพราะคิดว่าอารมณ์แบบนี้แยกขาดจากกันเด็ดขาด
เช่นการถูกทดสอบโดยมีคนอื่นโผล่เข้ามาขวางระหว่างเรากับคนที่เล็ง ทำให้หลายคนด่วนตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่งเพราะหึงหวง

ในหลายเวลาเราอาจจะยังไม่ได้รัก แต่พึงใจ อยากรู้จักให้มากขึ้น อยากทดสอบว่าจะไปกันได้ไหม ก่อนจะยกระดับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดขึ้น

คนที่อยู่ในขั้นนี้อาจจะหึง-หวงคนที่ตัวเองพึงใจได้ เพราะอยากพินิจพิจารณาคนนี้โดยไม่มีคนอื่นมาแย่งมองแย่งดูด้วย เพราะกลัวว่าถ้าวันหนึ่งจะยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นมาอาจต้องรับประทานแห้ว เพราะคนอื่นมาแย่งไป คล้าย ๆ กับหึงเผื่ออนาคต

บางคนหึง เพราะหวงความสนใจที่คนที่เล็งอยู่มีให้ตัวเองแบบเต็มร้อย ไม่อยากแบ่งปันความสนใจนั้นให้คนอื่น อยากจะให้โลกนี้มีเพียงเรากับเขายืนจ้องกันไปมาอย่างหวานชื่น ถ้าเขาต้องหันไปมองทางอื่นด้วยก็โกรธเคือง

และก็เป็นไปได้อีกเช่นกันว่าหึงเพราะหวงคน ไม่อยากเสียเขาหรือเธอไปให้คนอื่น
ความหึงในเวลาที่ยังไม่ได้รักปักใจ อาจจะเป็นเพราะหวงความสนใจ หวงคน หวงความเป็นไปได้ในอนาคต

ไม่ว่าจะหึงเพราะอะไร ปัญหาของการหึง-หวงในระยะที่ยังไม่แน่ใจว่ารักหรือไม่ ทำให้หลายคนคิดว่าถ้าหึงก็แปลว่ารักแล้ว หรือไม่ก็กลัวจะเสียคนที่เล็งไปให้คนอื่น เลยรีบยกระดับความสัมพันธ์ตัดหน้าคนที่เห็นเป็นคู่แข่งทันที

การรีบยกระดับความสัมพันธ์ของหลายคน ไม่ได้ตามมาด้วยการทำงานกับความสัมพันธ์ด้วยการเรียนรู้กันและกัน การปรับตัว ปรับความคาดหวัง และปรับวิถีชีวิต เลยทำให้ต้องปวดหัวมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป

น่าจะลองถามตัวเองดี ๆ ว่าต้องการอะไร และยินดีจะลงแรงกาย-ใจกับการสร้างความสัมพันธ์ไหม ก่อนจะคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรกับความหึงของตัวเองดี

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงชื่อ "ยิ่งลักษณ์"

ดูรายงานเรื่องนายกหญิงใน แล้วเคลื่อนไปจากที่อยากสื่ออยู่มาก ประเด็นที่น่าคิดตอนนี้คือมีนายกเป็นผู้หญิงแล้วสังคมไทย/ผู้หญิงไทยได้อะไร


เราคาดหวังนายกหญิงให้จัดการกับความขัดแย้งยืดเยื้อและกระบวนการปรองดองให้ปรากฏเป็นจริง จัดการปัญหาเศรษฐกิจ และใส่ใจนโยบายผู้หญิง


ความขัดแย้งยืดเยื้อบดบังนโยบายอื่น องค์กรผู้หญิงที่คาดหวังจากนายกหญิงอาจต้องอกหักเพราะนโยบายผู้หญิงไม่ถูกมองเป็นเรื่องเร่งด่วน


การทำให้กระบวนการปรองดองปรากฏเป็นจริงต้องอาศัยความกล้าหาญและเจตนารมย์ที่แน่วแน่ นักเลือกตั้งทั่วไปไม่ค่อยมี? แล้วยิ่งลักษณ์มีไหม?


หลายคนไม่แน่ใจยิ่งลักษณ์เพราะเธอมาเร็ว น่าเป็นห่วงว่าจะจัดการกับการเมืองในพรรคและระบบราชการไม่ได้เอง การมีนามสกุลชินวัตรทำให้บางคนไม่วางใจ


ยิ่งลักษณ์ต้องทำให้คนไทยเห็นว่าเธอเป็นนายกของ "เรา" ทุกคน ไม่ใช่นายกเฉพาะกิจหรือของคนบางกลุ่ม ช่วง honeymoon period ไม่มีหรือสั้นมากๆๆ


ภาระ ปัญหา และสถานการณ์ทางการเมือง ไม่เอื้อต่อการปรับตัวของนายกมือใหม่ ที่กลายเป็นตัวแทนทดสอบความสามารถของคนเพศสภาพหญิงไทยทั้งหมดไปด้วย


หลายเรื่องที่รุมเร้าผู้ใช้อำนาจรัฐ ทำให้หลายคนเป็นห่วงว่าที่นายกยิ่งลักษณ์ และกังวลว่าอะไรจะเกิดขึ้นในการเมืองไทยในอนาคตอันใกล้นี้


ผู้หญิงก้าวขึ้นเป็นนายกโดยโยงใยกับชายผู้มีอำนาจ ในสถานการณ์ยากลำบาก แถมถูกมองเป็นตัวบ่งชี้ความสามารถของผู้หญิงไทย หนักหน่วงไม่น้อย ขอแสดงความเห็นใจไม่ว่าจะต้องการหรือไม่

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เปรียบเทียบนโนบายผู้หญิงของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ -- เลือกตั้ง 2011

พรรคการเมืองในระบบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนมักมีความชัดเจนด้านนโยบายน้อยลง เพื่อดึงดูดคะแนนเสียงคนหลากหลายกลุ่ม ชัดเจนเกินไปอาจไม่โดนใจบางกลุ่ม

พรรคการเมืองไทยถูกวิจารณ์ว่าไม่มีนโยบาย เพราะการเลือกตั้งแบบไทยๆเป็นการบริหารจัดการฐานเสียงมากกว่าการดึงดูดด้วยนโยบาย

นโยบายที่พรรคการเมืองไทยพูดถึงบ้างมักจะเป็นเรื่องปากท้องเป็นหลัก ออกแนวแจกกึ่งสงเคราะห์ในรูปแบบประชานิยม

คนบางกลุ่มอาจมองหานโยบายเฉพาะที่สนองความต้องการเฉพาะของกลุ่มตน อาจงงกับนโยบายที่เน้นปากท้องและมองหาเรื่องเฉพาะของตนไม่เจอ

นโยบายผู้หญิงมักไม่ค่อยพูดถึงอย่างชัดเจนโดยพรรคการเมือง แต่การเลือกตั้ง 2011 เรื่องผู้หญิงๆเป็นที่ฮือฮาเพราะการก้าวกระโดดของยิ่งลักษณ์

เรื่องผู้หญิงในนโยบายพรรค(ถ้ามี)มักมองจากที่ทางของผู้หญิงในครอบครัวแบบพ่อ-แม่-ลูก นโยบายผู้หญิงจึงออกแนวแม่เมียเป็นหลัก

มองหานโยบายผู้หญิงของปชป.ก็เป็นไปตามคาดคือไม่ได้กล่าวถึง แต่ต้องไปแกะและเดาว่าเรื่องผู้หญิงไปอิงกับกลุ่มนโยบายอะไรได้บ้าง

อาจโมเมได้ว่าผู้หญิงไทยจะได้ประโยชน์จากกลุ่มนโยบาย “เศรษฐกิจต้องเดินหน้า” ของปชป.ในฐานะเกษตรกร แรงงาน ลูกหนี้ และคนชรา

ผู้หญิงหลายกลุ่มน่าจะได้ปย.จากกลุ่มนโยบาย ครอบครัวต้องเดินหน้าของปชป.การลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน ค่าเล่าเรียน ไฟฟ้า น้ำประปา ค่ารักษาพยาบาล

นโยบายหนึ่งของปชป.ที่ดูเหมือนจะตอบโจทย์ผู้หญิงหลายกลุ่มคือ การพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก แต่พวกไม่มีลูกเห็นว่าไม่น่าสนใจ

ดูเหมือนนโยบายปชป.จะเห็นผู้หญิงในฐานะแม่และเมีย พวกที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเหล่านี้ต้องไปรอประโยชน์ร่วมกับคนกลุ่มอื่น

คำถามที่น่าคิดคือแล้วผู้หญิงไทยมีแง่มุมชีวิตอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับความเป็นแม่และเมียไหม หลายเรื่องต้องการแนวทางชัดเจนในการจัดการหรือไม่

ที่น่ากลัวก็คือนโยบายปชป.พลิกโฉมทะเลใต้ขายการท่องเที่ยว ทำให้ผู้หญิงหลายกลุ่มสงสัยในใจว่าจะขายพวกเธอโดยอ้อมหรือไม่

ที่ผ่านมารัฐไทยขายผู้หญิงพ่วงไปกับการท่องเที่ยวโดยไม่ยอมรับรองและคุ้มครองพนักงานบริการทางเพศรูปแบบต่างๆในฐานะแรงงาน

พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายเฉพาะเรื่องผู้หญิง ส่งเสริมสิทธิ ความเท่าเทียม การศึกษาของแม่บ้าน สถานที่ดูแลเด็ก และ “ศูนย์พึ่งได้”

นโยบายผู้หญิงของพท.ดูจะต่างระดับกันอยู่มาก บางเรื่องเป็นหลักการเช่นการสนับสนุนสิทธิเสมอภาค บางเรื่องลงไปในรายละเอียดอย่างการศึกษาของแม่บ้าน

พท.ขายนโยบายกองทุนส่งเสริมบทบาทสตรีจว.ละ100ล้านผ่านป้ายหาเสียง มุ่งส่งเสริมอาชีพและรายได้ของผู้หญิง นโยบายผู้หญิงย้อนกลับไปเป็นเรื่องปากท้อง

นโยบายพท.พูดถึงประเด็นอื่นของผู้หญิง แต่หลักๆก็ยังเห็นผู้หญิงเป็นแม่เมียและโยงกลับไปสู่เรื่องปากท้อง

ปชป.และพท.ไม่บอกเราว่ามีท่าทีอย่างไรในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ ความรุนแรงทางเพศ สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ที่คาใจผู้หญิงหลายกลุ่ม

เป็นไปได้ว่าความไม่ชัดเจนของนโยบายผู้หญิงเป็นเพราะไม่อยากหาเรื่องทำให้บางกลุ่มไม่พอใจ แต่ก็เป็นไปได้ว่าเป็นเพราะไม่ใส่ใจว่าเป็นเรื่องสำคัญ

การมองประเด็นผู้หญิงโดยทึกทักว่าผู้หญิงไทยไม่เป็นแม่ก็ต้องเป็นเมียหรือเป็นทั้ง2อย่าง ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากมายไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ?

ประเด็นผู้หญิงที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับความเป็นแม่-เมียวนอยู่ที่เดิมและถูกบดบังด้วยความขัดแย้งทางการเมืองมาหลายปี คงต้องวนต่อไปเช่นนี้อีกนาน

วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ท้อ/ไม่ท้อเพราะรอรัก

มีคำถามจากสมาชิก ทวิตรักว่า ได้บอกรักคนหนึ่งไป เขาบอกให้รอขอดูไปก่อน แล้วควรจะรอถึงเมื่อไร เรารอรักไปได้เรื่อย ๆ ไม่จบสิ้นหรือไม่? นานแค่ไหนจึงจะนับว่านานเกินไป?

คำถามนี้น่าคิดเพราะคนจำนวนมากกำลัง “รอรัก” ในลักษณะต่าง ๆ อย่างรอความรัก รอให้คนรักเปลี่ยนใจมารัก รอให้เขาชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรกับคสพ. รอให้คนรักที่จากไปกลับมาหา ฯลฯ การรอรักจึงหมายความถึงอะไรหลายอย่างสำหรับแต่ละคน

เมื่อถูกบอกรัก บางคนยินดีทดลองเข้าสู่ความสัมพันธ์ทันทีและศึกษาและปรับเปลี่ยนเรียนรู้กันไปในความสัมพันธ์ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่ต้องรอรัก แต่ต้องลงแรงกาย-ใจจัดการกับความสัมพันธ์

แต่หลายคนต้องการเวลาคิดว่าจะเอาอย่างไรกับการถูกบอกรัก บางคนอยากใช้เวลาพิจารณาว่าคนนี้เหมาะจะใกล้ชิดมากขึ้นหรือไม่ แม้จะเป็นเพื่อนกันมาแล้วก็ขอดูเพราะเป็นเพื่อนไม่เหมือนเป็นแฟน

จากตกหลุมรัก-บอกรัก-เข้าสู่คสพ. บางคนใช้เวลายาวนานเพื่อ ดูใจและทำความรู้จักให้แน่ว่าจะเลือกคนนี้ ทำให้ฝ่ายบอกรักเข้าสู่สถานการณ์รอให้รัก/รอให้ชัดได้

บางครั้งเมื่อบอกรักไปแล้วอีกฝ่ายปฏิเสธ ฝ่ายบอกรักไม่ยอมแพ้แถมเชื่อว่าความรักมากมายที่ตัวเองมีให้อีกฝ่าย + ความจริงใจ+ ความอดทนจะเปลี่ยนใจคนที่เรารักแต่ไม่รักเรา

การรอให้เขารักได้นาน ๆ ถูกมองเป็นการพิสูจน์รักได้เหมือนกัน ยิ่งรอได้นานแปลว่ารักจริงเช่นนั้นหรือ? หรือแปลว่าการเฝ้ารอรักไม่เลิกเป็นเพราะบางคนบอกไม่ได้ว่าถึงเวลาไหนควรเลิกรอ?

หลายครั้งที่อาการรอรักไม่ใช่เรื่องง่าย มีความกระวนกระวายเพราะไม่แน่นอนสูง คนที่รอรักได้นาน ๆ อาจถูกชื่นชมว่ามั่นคง โดยลืมไปว่าการรอรักทำให้หลายคนมองข้ามแง่มุมอื่น ๆ ของชีวิตไปได้ ถ้ายอมสละได้ก็ไม่เป็นไร

ก่อนเริ่มวงสนทนา ได้มีการลองถามสมาชิกผ่านโพลออนไลน์ว่าเคยรอรักนานที่สุดแค่ไหน คำตอบอยู่ระหว่าง 2 เดือนไปจนถึง 8 ปี นอกจากนี้ยังมีคนตอบนอกรอบว่ารอมา 10 ปีแล้ว

การรอรักทำให้บางคนเป็นสุข บางคนเป็นทุกข์

@KAEMz: บอกตัวเองอยู่เสมอว่าตราบใดที่ระหว่างทางที่รอยังมีความสุขกับมันก็จะรอต่อไปอยู่อย่างนั้น -- ตัวอย่างของการรออย่างเป็นสุข
@nrad6949: ระหว่างทางรอมันอาจเจ็บปวดจนไม่สามารถทนรอได้อีกครับ -- ตัวอย่างของคนที่รอแบบอมทุกข์

ความสามารถรอรักของหลายคนผูกพันอยู่กับความหวังที่รุ่งโรจน์ว่าเขาจะรัก และความรู้สึกดีของการเป็นฝ่ายรัก มีความเสี่ยงและไม่แน่นอนเป็นตัวบั่นทอน

@nrad6949: บางครั้งเราก็อยากชัดเจน บางครั้งรอเหมือนจะไม่ชัดเจนครับ -- การรอทำให้ทุกข์เพราะไม่แน่นอนและไม่ชัดเจน และความหวังลางเลือนด้วย
@voffle_vaw: ทำไมการรอใครสักคน บางครั้งก็ยาวนานครับ -- เพราะความไม่แน่นอน และบางทีความไม่แยแสของคนที่เรารอทำให้ทุกข์จนดูเหมือนเนิ่นนาน?
@TORBCC: การเผชิญหน้ากับความเกลียดชังหรือรำคาญของฝ่ายไม่รักถือเป็นความเสี่ยงด้วยมั้ยครับ – อาการรำคาญของคนที่เรารักทำร้ายใจของคนเป็นฝ่ายรอสุดๆ

ความทุกข์เพราะไม่แน่นอน อาการรำคาญและผลักไสของคนที่ไม่รักเรา ฯลฯ ทำให้หลายคนทุกข์จนเริ่มเห็นว่าที่สละตัวตนไปช่างไร้ค่า และกอบกู้ตัวตนได้เหมือนกัน

บางคนที่สละตัวตนเพื่อคนรักจนแตกยับไม่เป็นชิ้น อาจไม่มีความสามารถจะกอบกู้ตัวตนคืนกลับมาได้อีก และทุกข์ทนทำร้ายตัวเองไปเรื่อย ๆ

การรอรักอาจหวานเย็นสำหรับบางคน แต่ร้อนผ่าวและทิ่มแทงสำหรับหลายคน ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบเฉพาะที่แตกต่าง

บางคนสุขกับการแอบรัก ขอเพียงได้รัก บางคนไขว่คว้าอยากครองคู่ ยอมทนสู้เพื่อให้ได้มา ทางเลือกที่ดูเหมือนดีและเป็นสุขสำหรับบางคนอาจจะไม่ได้เรื่องสำหรับคนอื่น

การรอรักต้องรออย่างโดดเดี่ยวไหม ยุทธวิธีของบางคนที่รอรักคือรักคนอื่นไปด้วยเพื่อลดความทุข์ของการรอ อย่างนี้จะเรียกว่ารอรักไหมนะ?

วงสนทนา “ทวิตรัก" ทำให้เห็นว่า "รอรัก" มีหลายแบบ ทำให้คนทุกข์สุขได้แตกต่างกันตามวัยและความคาดหวัง ไม่มีสูตรสำเร็จเพื่อจะบอกว่าเมื่อไรควรเลิกรอ

หลายคนต้องทนทุกข์เพราะสละตัวตนหรือถูกผลักไสโดยคนไม่รัก ทุกข์ถึงที่สุดอาจ ตาสว่างว่าถึงเวลาเลิกรอเสียที มีอย่างอื่นในชีวิตรออยู่มากมาย

บางคนไม่ยอมเลิกรอแม้จะทุกข์แสนทุกข์ และรู้ว่าไม่มีหวัง การได้ย้อนดูทุกข์ของตัวเองอาจทำให้ได้คิดว่าเรากำลังทำอะไรและต้องการทุกข์แบบนี้หรือไม่

บางทีการจัดการกับทุกข์เพราะรักอาจต้องอาศัยการเผชิญหน้ากับทุกข์ เพื่อที่จะเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรกับทุกข์นั้น ติดอยู่กับทุกข์หรือปล่อยมันไป

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ผู้หญิงในการเมือง -- นักเลือกตั้งกับแม่ยกการเมือง

นักการเมืองหญิงถูกคาดหวังให้เป็นตัวแทนผู้หญิง เพียงเพราะมีเพศสภาพหญิงเลยถูกทึกทักว่าต้องรู้ เข้าใจและใส่ใจประเด็นผู้หญิง

ดูเหมือนคนจะไม่ชอบนักการเมืองหญิงที่ไม่รู้เรื่องผู้หญิง แต่ก็ไม่ชอบนักการเมืองหญิงที่พูดแต่เรื่องผู้หญิง เรียกร้องให้ทำอะไรได้หลายอย่าง

นักเลือกตั้งหญิงถูกคาดหวังให้เป็นตัวแทนประชาชนและเป็นตัวแทนของผู้หญิง บางคนทำได้ บางคนเป็นไม่ได้ทั้งสองอย่าง

นักเลือกตั้งหญิงอาจเลือกใช้ประเด็นผู้หญิงในแนวสงเคราะห์สร้างฐานและความเชื่อถือทางการเมือง แต่ไม่ได้พยายามเข้าใจประเด็นจริงจังก็เป็นได้

การเข้าใจประเด็นเฉพาะในสังคมต้องอาศัยการติดตามและศึกษา การผลักดันนโยบายต้องอาศัยความเข้าใจการเชื่อมโยงและลำดับความสำคัญของประเด็นต่าง ๆ

ถามนักเลือกตั้งหญิงในประเด็นผู้หญิง อาจได้เห็นการให้ข้อมูลหรือการดำน้ำแง่มุมต่างๆของชีวิตผู้หญิงอย่างพิสดารขึ้นอยู่กับฐานความรู้ของแต่ละคน

เมื่อถามประเด็นเดี่ยว นักเลือกตั้งตอบแนวคิด นโยบายเหมือนให้ความสำคัญกับเรื่องนั้นมาก แต่เรื่องนั้นอาจไม่ออกเป็นนโยบายหรือไม่มีผลในทางปฏิบัติ

การตอบประเด็นนโยบายแต่ไม่ทำ นอกจากจะเป็นการเบี้ยวแบบตรงไปตรงมาของนักเลือกตั้งแล้ว อาจเป็นผลของการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นนโยบายด้วย

พรรคการเมืองอาจคิดประเด็นผู้หญิงมากน้อยต่างกัน แต่ไม่ได้จัดประเด็นผู้หญิงเป็นอันดับต้นของนโยบาย มีเรื่องอื่นสำคัญกว่า

การซักถามนักเลือกตั้งหญิงเกี่ยวกับประเด็นผู้หญิงไม่พอ ต้องให้เธอจัดให้เห็นว่าประเด็นผู้หญิงอยู่ลำดับไหนหรือไม่อยู่ในสายตาของพรรคที่เธอสังกัด

ประเด็นผู้หญิงอาจไม่ได้ถูกเห็นเป็นเรื่องใหญ่ในสังคม เห็นเป็นประเด็นซ๊อฟต์ๆ ไม่เร่งด่วนขอขาดบาดตาย ทนกันไปก่อนได้

ประเด็นผู้หญิงเกี่ยวข้องกับความยากจน ปากท้อง ความปลอดภัย และการเลี้ยงดูกล่อมเกลาอนาคตของชาติ ไม่น่า soft นัก? ที่เห็นว่า soft เพราะไม่ใส่ใจ?

ผู้หญิงในรัฐไทยอาจเป็นเพียงฐานเสียง แต่ไม่ได้เป็นฐานนโยบาย ประเด็นผู้หญิงจึงไม่ได้ถูกผลักดันในการเมืองของนักเลือกตั้งอย่างจริงจังนัก


ผู้หญิงไทยกลายเป็นแม่ยกนักเลือกตั้ง อุ้มเธอและเขาเข้าสภา แต่ไม่ได้อยู่ในสายตาในการผลักดันนโยบาย 


วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Feminist Mind -- เพศสภาพในการเมือง

ทวิตประเด็นผู้หญิงในการเมือง เพื่อจะบอกว่าคนเพศสภาพหญิงไม่จำเป็นต้องมี feminist mind และ feminist mind ไม่ได้มีแต่ในคนเพศสภาพหญิง

Feminist mind ไม่ใช่การเชิดชูหญิง ว่าหญิงดีกว่าชาย แต่เป็นความตระหนักรู้ว่าเพศสภาพมีผลต่อชีวิตทางสังคม ทำให้ปัญหาและความต้องการของคนต่างเพศสภาพไม่เหมือนกันได้

Feminist mind รู้ว่าความเป็นหญิง/ชายทำให้คนมีบทบาทที่ทางเฉพาะ นโยบายสาธารณะและกติกาของสังคมต้องโอบอุ้มความต่างนี้ไว้เพื่อสร้างความเป็นธรรม

Feminist mind รู้ว่าผู้หญิงหลายคนแบกเอาความเป็นแม่มาที่ทำงานด้วย ทำให้ไม่สอดคล้องกับการทำงานที่คาดหวังให้คนทิ้งเรื่องส่วนตัวไว้บ้าน การมีบริการเลี้ยงดูเด็กเป็นเรื่องจำเป็น

Feminist mind รู้ว่ามีสองมาตรฐานในเรื่องเพศสำหรับชายหญิง ทำให้หญิง/ชายเผชิญกับปัญหาคนละแบบ ทุกข์คนละอย่าง หลายเรื่องไม่เป็นธรรม

Feminist mind ใส่ใจกับผลกระทบของเพศสภาพ และคิดถึงการจัดสรรทรัพยากรที่สอดคล้องกับบทบาทที่แตกต่างกันของชายหญิง ไม่ใช่ยึดผู้ชายเป็นแม่แบบในการกำหนดกติกาและนโยบาย

Feminist mind พร้อมจะเปลี่ยนจะปรับเพศสภาพ โดยไม่ยึดติดว่าความเป็นหญิงและความเป็นชายอย่างที่คุ้นเคยกันนี้ต้องอยู่คู่ฟ้าดิน

Feminist mind ไม่ใช่ Female chauvinism ไม่คลั่งหญิง ตั้งคำถามกับความไม่เป็นธรรมในระบบนิยมชาย และพร้อมจะต่อสู้กับการกดขี่รังแกทุกรูปแบบ

วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ไม่กล้าบอกรัก


ทุกข์ของคนจำนวนไม่น้อยมาจากการตกหลุมรักแต่ไม่กล้าบอกรักด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน น่าสนใจว่าอาการไม่กล้าบอกรักเป็นเพราะอะไร

คนไม่กล้าบอกรักเพราะกลัวว่าเมื่อบอกรักไป คนที่รักจะไม่รักตอบทำให้ต้องเสียใจ และกลัวเลยไปด้วยว่ามิตรภาพที่มีอยู่จะแปรเปลี่ยนไปด้วย

ที่ไม่กล้าบอกรักเป็นอาจเป็นเพราะความไม่ชัดเจนของสัญญาณว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร ทำให้ความเสี่ยงของการบอกรักสูง

“ทวิตรัก” ชวนคุยเรื่อง “เก็บรักไว้ไม่กล้าบอกเธอ” พบว่าคนกลัวความผิดหวังและสูญเสียเช่น กลัวว่าได้แฟนแล้วเสียเพื่อน หรือไม่ได้แฟนแต่ก็เสียเพื่อนอยู่ดี

การบอกรักเปลี่ยนระยะห่างและความคาดหวังระหว่างคน ไม่ว่าจะสมหวังหรือผิดหวังเมื่อบอกไป คสพ.กับคนที่เราบอกรักก็จะเปลี่ยนอยู่ดี

@pannavij: ไม่ต้องบอกไม่ได้เหรอ – ไม่บอกก็คงจะได้ถ้าไม่กระวนกระวาย แต่หลายคนเป็นทุกข์เพราะไม่ได้บอกรักเหมือนอยู่ในความไม่ชัดเจน

สองมุมที่น่าสนใจของการไม่กล้าบอกรัก – ไม่แน่ใจว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร กับไม่แน่ใจว่าเขารู้สึกอย่างไร
@Mymiinz: บางครั้งไม่กล้าบอกเพราะยังไม่มั่นใจกับใจตัวเอง
@PAREs___:  บางครั้งที่ไม่กล้าบอกอีกฝ่าย เพราะรู้สึกว่าเขาคงไม่ได้คิดเหมือนเราเลยไม่อยากบอกให้คสพใมันเปลี่ยน

คนกลัวผิดหวังเพราะไม่รู้ว่าคนที่รักคิดอย่างไร รู้สึกเหมือนเราไหม แต่เพราะไม่กล้าบอกรักทำให้อีกฝ่ายไม่รู้ว่ารัก คสพ.เลยไม่เริ่มต้น วนเวียนไปมาน่าเวียนหัว

หลายคนบอกรักไปเพื่อจะได้คำตอบที่ไม่ชัดเจนกลับมา ไม่รู้ว่าเขารับรักหรือปฏิเสธรัก เช่นขอทำความรู้จักกันไปอีกนิด หรือขอเวลาตัดสินใจ เคยเจอแบบนี้ไหม?

น่าคิดว่าคนกลัวผิดหวังเลยยอมทุกข์อยู่กับความไม่รู้ว่าคนที่รักคิดอย่างไร มากกว่าจะเสี่ยงภัยเพื่อให้ชัดเจนว่าเขารักเราบ้างไหม

เป็นไปได้ไหมว่าการอยู่กับความคลุมเครืออาจจะเป็นทุกข์น้อยกว่ารู้แจ้งชัดเจนว่าคนนั้นไม่รักเราสักนิด แถมทำเหมือนเราเป็นเชื้อโรคเมื่อรู้ว่าเรารัก

บางคนพยายามซ่อนรักเก็บรัก แต่ไม่รู้ตัวว่าความรู้สึกฉายส่องทางการกระทำและคำพูดจนคนรอบข้างรู้ได้ บางทีคนที่แอบรักก็รู้โดยไม่ต้องบอกJ

@AkaPae: เก็บไว้ไม่กล้าบอกเธอ แต่ทุกคนรอบข้างรู้กันหมดค่ะ// หลายคนคิดว่าเก็บรักได้มิดชิด โดยไม่รู้ว่าทั้งโลกมองเห็นรักที่มีอยู่ได้ชัดๆ

หลายกรณีฝ่ายถูกรักดูออกว่าคนนี้กำลังหลงรักฉัน แต่ไม่อยากด่วนสรุปเพราะกลัวดูพลาด ต้องมีการยืนยันด้วยคำพูดเพื่อความชัดเจนอยู่ดี

@NalinTe: เพื่อนหนูดูออกว่าหนูกำลังมีความรักอะค่ะ แต่เค้ากลับดูไม่ออกว่าเป็นเค้า -- เขาอาจจะดูออกแต่ไม่อยากบอกว่ารู้หรือถามให้ชัดเจน เพราะเกรงว่าถ้าเข้าใจผิดจะมองหน้ากันไม่สนิท

คนกลัวบอกรักแล้วเสียเพื่อน แต่การบอกรักเพื่อนก็อาจเป็นการทดสอบมิตรภาพได้เช่นกัน ว่าจะก้าวข้ามความหวั่นไหวและแรงกดดันของการอยากเปลี่ยนเพื่อนเป็นแฟนได้หรือไม่

@SouJang: กลัวบอกไปแล้วจะเป็นเพื่อนไม่ได้อีกค่ะ ถ้าเกิดเค้าไม่รักตอบ -- ความเป็นเพื่อนอาจถูกกระทบในตอนแรก ถ้ามิตรภาพแข็งแรงมาก ๆ ก็อาจฟื้นใหม่ได้นะคะ

@Jingjai: หนูว่าบางครั้งการแอบรักก็เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของความรัก -- บางคนเป็นสุขเพราะแอบรัก จินตนาการได้เต็มที่ไม่ต้องปวดหัวกับความไม่ลงตัวของความเป็นจริง

ไม่กล้าบอกรักทำให้บางคนกระวนกระวายบางเวลา เพราะความไม่ชัดเจน แต่เมื่อบอกรักไปแล้วสมรักก็ต้องเผชิญกับปัญหาชุดใหม่ของการปรับรับคสพ.

@TORBCC: ถ้าต่างฝ่ายต่างลังเลเพราะไม่แน่ใจ สุดท้ายก็แห้้วทั้งคู่ใช่มั้ยครับ -- การไม่กล้าบอกรัก อ้ำอึ้งไปมาทั้งสองฝ่ายอาจจะเป็นสาเหตุหลักของการแห้วในโลกนี้เลยทีเดียว

@pannavij: ด้วยตรรกะเดียวกัน เราจะบอกยกเลิกคนที่เราบอกรักไปได้ไหม -- การบอกเลิกก็ยากมากหรืออาจจะยากกว่าบอกรักอีกนะ หลายคนเลยไม่กล้าบอกเลิก

การบอกรักและบอกเลิกรักเป็นเรื่องยากด้วยกันทั้งคู่ อย่างแรกมีความเสี่ยงผิดหวังและสูญเสีย อย่างหลังทำร้ายใจคนแม้จะหมดรักแล้ว

อย่าคิดว่าคนอื่นจะดูไม่ออกว่าเรารู้สึกอย่างไรกับเขา แต่ก็อย่าทึกทักว่าเขาจะดูออกทะลุปรุโปร่งไปหมดโดยไม่ต้องพูดจา ไม่อย่างนั้นจะมีภาษาเอาไว้ทำไม

ความใกล้ชิดสนิทสนมไม่ได้มาพร้อมกับความรักเสมอไป บอกได้เพียงว่าใกล้ชิดกันแต่อาจไม่ได้แปลว่ารัก

เราคิดว่าการบอกรักมีความเสี่ยงต่อการผิดหวังและสูญเสีย แต่การเก็บรักก็มีแง่มุมที่ดี สำหรับคนที่ไม่พร้อมจะดำเนินและรักษาคสพ.ในรูปแบบคนรัก

คนมักเข้าใจว่าคนที่รักรักเราตอบจะทำให้เป็นสุข โดยไม่ตระหนักว่าการถูกรักตอบคือการก้าวไปในทิศทางของคสพ.ที่ต้องประคองและเรียนรู้

ความรักเป็นเรื่องของการเลือก – เลือกว่าจะทำอย่างไรกับความรู้สึก และเลือกว่าจะอยู่กับปัญหาชุดไหนในชีวิต