วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553

สันติวิธีไม่แพ้ -- ถ้านักสันติวิธีไม่ยอมแพ้

พี่น้องที่สมาทานแนวทางสันติวิธีท้อใจกับความรุนแรงที่เกิดต่อเนื่องในสังคมไทย และได้บ่นผ่าน FB มาให้ได้รับรู้ เลยขอตัดต่อคำตอบในประเด็นนี้มาให้ช่วยกันคิดต่อเกี่ยวกับสันติวิธีและนักสันติวิธี...

ความรุนแรงหลายระลอกที่ทำให้เกิดการเจ็บการตายในสังคมไทย ทำให้พี่น้องที่สมาทานแนวทางสันติวิธีท้อถอย ท้อใจ คิดว่าสันติวิธีพ่ายแพ้ และเจ็บปวดกับความพ่ายแพ้นั้น

อย่าลืมว่านักสันติวิธีไม่ใช้ความรุนแรงแม้เมื่อถูกกระทำความรุนแรง โดยจะยอมแบกรับทุกข์นั้นไว้เอง การแบกรับทุกข์เป็นอะไรที่ต้องฝึก ความโกรธเป็นธรรมดาของมนุษย์ และที่โกรธก็เพราะตัวตนถูกกระแทกกระทั้น ยิ่งมองตัวตนของตัวเองใหญ่หรือสำคัญ ก็ยิ่งโกรธปี๊ดได้ง่าย ความโกรธยังมาจากความกลัวด้วย กลัวว่าจะถูกทำร้ายเลยต้องทำร้ายเขาก่อน

คำถามน่าจะอยู่ที่จะทำอย่างไรกับความโกรธของตัวเองต่างหาก เมื่อโกรธแล้วก็อย่ายึดอยู่กับความโกรธ หรือปล่อยให้ความโกรธผลักดันการกระทำ โกรธแล้วไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง

ส่วนคนที่ท้อแท้เพราะใช้สันติวิธีแล้วคนก็ไม่ยอมกัน ยังใช้ความรุนแรงต่อกัน ถ้าท้อสิ่งที่แพ้คือตัวคุณเอง ไม่ใช่สันติวิธี เพราะท้อใจก็เลยปล่อยมือจากสันติวิธี

อย่าคิดใน mode แบบโปรดสัตว์เลย คือคิดว่าฉันทำดี ทำไมพวกแกไม่สำนึก อะไรประมาณนั้น ถ้าคนเหล่านั้นจะใช้ความรุนแรงกัน เราอาจสลดใจ แต่ไม่ควรท้อถอย อย่าลืมว่านักสันติวิธียอมจะแบบรับทุกข์ของการกระทำความรุนแรงไว้เอง

การเป็นนักสันติวิธีไม่ได้แปลว่าเรากลายเป็น God ที่ทุกอย่างจะดีไปได้อย่างใจ หรือกำกับควบคุมทุกอย่างไปได้หมด เมื่ออะไรไม่เป็นอย่างใจ ก็น่าจะพยายามเข้าใจ สงบใจ และวางอุเบกขาเสียบ้าง

บางทีคำถามทั้งหมดนี้มีคำตอบเดียวกัน คือการฝึกใจและตัวตนของนักสันติวิธีเอง ใจอย่าวูบไหว หรือวูบก็อย่าสั่นอยู่นาน ส่วนตัวตนก็ฝึกทำให้มันเล็กเสียบ้าง บางครั้งก็ให้อ่อนนุ่มเพื่อจะโอบรับความต่างและโหดร้ายของคนไว้ให้ได้

วันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2553

ตัดใจแต่ทำไมไม่ขาด

@Nuttheera หลายๆครั้งที่เราคิดว่าเราสามารถตัดใจได้แล้ว แต่พอเห็นหน้า ความตั้งใจที่จะตัดใจก็หายไปหมดเลยค่ะ เบื่อตัวเองมาก

การเลิกหรือตัดขาดจากคนรักไม่ใช่เรื่องง่าย วิธีการที่จะช่วยให้ตัดใจได้ขาดสะบั้นทันทีคือมีแฟนใหม่ ทางเลือกนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

คนที่อยู่ในสถานการณ์ต้องตัดใจ ด้วยเหตุผลนานาประการไม่ว่าจะเป็นคนที่เรารักไม่รักเรา รักแต่พัฒนาความสัมพันธ์ไม่ได้ เคยรักแต่ไม่รักเราแล้ว ฯลฯ ต่างก็ยังรักคนรักที่จำต้องพรากอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ใยในใจที่ทำให้โหยหาคน ๆ นั้นมาตั้งแต่แรกยังคงอยู่และมักจะเหนียวดี เลยเกิดอาการตัดใจไม่ขาดให้ยิ่งทุกข์ทรมานหนักเข้าไปใหญ่

การตั้งใจว่าจะตัดใจแต่เพียงอย่างเดียว โดยยังต้องพบปะ เจอะเจอ คงไม่พอ เพราะการเจอกันทำให้ ใยในใจออกฤทธิ์กระตุ้นหรือหล่อเลี้ยงความโหยหาหรือความเคยชินเดิม ๆ

บางทีการหลีกเลี่ยงไม่เห็นหน้า ไม่พบปะ ไม่ยุ่งเกี่ยวไปพักใหญ่ ๆ ให้หลายอย่างในใจ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความหลง ความโกรธ คลายตัวลงมาก ๆ จนความผูกพันแบบเดิม ๆ ไม่หลงเหลืออยู่ จะดีกับใจคุณมากกว่านะค่ะ

อย่าไปเชื่อถ้าจะมีคนบอกว่าไม่รักกันแล้วก็ยังเป็นเพื่อนกันได้ คำพูดแบบนี้อาจจะจริงเมื่ออะไรในใจคลายไป แต่ไม่เวิร์คเลยถ้าหลายเรื่องยังคุกรุ่น

ถอยไปไกล ๆ เพื่อตั้งหลัก รักษาใจเราเอง เมื่ออะไรในใจจางหายไปหมดแล้วค่อยดูว่าจะวางคน ๆ นั้นไว้ในชีวิตเราอย่างไรค่ะ

อย่าเบื่อตัวเอง เพราะคนในสถานการณ์ต้องตัดใจก็เป็นแบบนี้ด้วยกันทั้งนั้น เขาไม่บอกคุณว่าเขาก็ทุกข์ทรมานเหมือนคุณเท่านั้นเอง


Check List รัฐประหาร -- อะไรทำให้ทหารยึดอำนาจรัฐ

Check List รัฐประหาร

การรัฐประหารได้รับความสนใจทางวิชาการน้อยลง เพราะไม่ค่อยจะมีใครทำให้ได้เห็นนัก หทารประเทศไหนที่ออกมายึดอำนาจมักจะถูกมองว่าอ ล้าหลัง-ไร้สมองอย่างไรอยู่ นักสังเกตการณ์ทางการเมืองหลายคนสรุปว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องพ้นยุคพ้นสมัย ฟันธงอย่างมั่นใจว่าไม่เกิดอีกแล้วอย่างแน่นอนในประเทศนี้ ทั้งที่ถูกหักปากกาเซียนโดยการยึดอำนาจของ รสช. (23 กุมภาพันธ์ 2534) และ คมช. (19 กันยายน 2549) มาแล้ว

การยึดอำนาจของทหารเคยเป็นประเด็นฮ๊อตในช่วงทศวรรษที่ 1970 – 1980 เมื่อความพยายามจะพัฒนาประชาธิปไตยในหลาย ๆ สังคมการเมืองล้มเหลว ทหารในหลายประเทศพากันเคลื่อนกำลังจากที่ตั้งออกมายึดอำนาจรัฐ เปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาล และผู้นำกองทัพเข้าไปใช้อำนาจทางการเมืองในฐานะผู้ปกครอง จนเป็นอภิมหาแนวโน้มในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้มีการศึกษาวิจัยและวิทยานิพนธ์เรื่องการรัฐประหาร (ของข้าพเจ้าก็เป็นหนึ่งในนั้น) ออกมาเป็นองค์ความรู้ที่น่าสนใจ ก่อนที่จะซา ๆ ไปเมื่อกระแสการพัฒนาประชาธิปไตยระลอกปลายศตวรรษที่ 20 เข้ามาแทนที่

ระยะนี้มีข่าวลือว่าจะเกิดรัฐประหารบ่อยมาก แต่การทำความเข้าใจเรื่องรัฐประหารออกแนว เมาท์เสียมากกว่า การย้อนกลับไปดูว่าการศึกษารัฐประหารได้บอกอะไรเราไว้บ้าง น่าจะเป็นประโยชน์บ้าง

ลองมาดูเร็ว ๆ ว่าคนที่ศึกษาการยึดอำนาจทางการเมืองโดยทหารเห็นว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ทหารบางกลุ่มเลือกจะยึดอำนาจรัฐ อ่านแล้วลองติ๊กตามก็ได้ว่าตอนนี้มีปัจจัยอะไรบ้างแล้ว เพื่อจะได้สรุปกันเอาเองว่าเป็นไปได้ไหมที่จะเกิดรัฐประหารในเร็ววันนี้

· เงื่อนไข ปัจจัยหลายประการถูกจัดว่าเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ทหารตัดสินใจยึดอำนาจ

o ความวุ่นวายไร้เสถียรภาพในระบบการเมือง

§ ความขัดแย้งที่กลายเป็นความรุนแรง – ปัจจัยนี้เกิดก่อนการยึดอำนาจในหลายกรณี

o ความสั่นคลอนของระบบเศรษฐกิจ

§ ความยากจนเรื้อรังและขยายในวงกว้าง

§ วิกฤตเศรษฐกิจ – การว่างงานและธุรกิจล้มละลาย

§ รัฐบาลพลเรือน (ดูเหมือน) จะไม่มีความสามารถในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจ

§ การพึ่งพิงรัฐอื่นในทางเศรษฐกิจจนขาดความเป็นอิสระทางการเมืองในด้านอื่น

o ปัจจัยภายนอกรัฐ เช่นการสนับสนุนโดยตรงโดยอ้อมของรัฐมหาอำนาจ

งานวิจัยการรัฐประหารในรัฐต่าง ๆ พบว่าเงื่อนไขเหล่านี้ไม่ค่อยสัมพันธ์ในทางสถิติกับการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นนัก เงื่อนไขจะสำคัญในกรณีที่ทหารไม่เคยทำรัฐประหารมาก่อนหรือว่างเว้นจากการทำรัฐประหารมานาน ๆ แต่ถ้าเคยทำมาแล้ว เงื่อนไขก็จะลดความสำคัญลง ความอยากทำรัฐประหารมีความสำคัญมากกว่า เพียงแต่รอจังหวะหาเหตุการณ์เหมาะ ๆ มาเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจ

เช่นเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถูกยกมาเป็นเหตุผลหลักในการรัฐประหารที่เกิดขึ้นช่วงเย็นวันเดียวกันนั้น เงื่อนไขจึงกลายเป็นเพียงโอกาสเหมาะจะยึดอำนาจมากกว่าเหตุผลของการยึดอำนาจ

· ผลประโยชน์กับความอยากทำ ผลประโยชน์หลายประเภทเกี่ยวข้องโดยตรงโดยอ้อมกับการยึดอำนาจรัฐ

o ผลประโยชน์ของ ชาติ ผลประโยชน์ของชาติกลายเป็นคำหลวม ๆ ที่คนหลายกลุ่มแย่งชิงกันนิยามความหมาย การรัฐประหารทุกครั้งอ้างอิงถึงการรักษาผลประโยชน์ของชาติเสมอ แต่ก็ถูกตั้งคำถามว่าทหารนิยามผลประโยชน์ของชาติจากมุมของสถาบันและกลุ่มของตัวเองหรือไม่ คนกลุ่มอื่นอาจจะนิยามต่างไป และไม่เห็นด้วยกับการมองของทหาร

การรัฐประหารแต่ละครั้งจะอ้างผลประโยชน์ของชาติโดยอิงกับเงื่อนไขทางการเมือง เช่นความแตกแยกในสังคม การใช้ความรุนแรงระหว่างพี่น้องร่วมชาติ เป็นต้น

o ผลประโยชน์ของ ชนชั้น

§ ทหารมองว่าตัวเองเป็นใครในเชิงชนชั้น – ไพร่, ชนชั้นกลาง, ฯลฯ

§ ทหารถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง/ ชนชั้นสูงหรือไม่

o ผลประโยชน์ของกองทัพ – กองทัพในฐานะสถาบันทางการเมืองมีผลประโยชน์ในระบบการเมืองหลายประการ

§ ส่วนแบ่งทรัพยากรส่วนรวมที่กองทัพต้องแย่งชิงกับส่วนอื่น ๆ ของสังคมการเมือง

§ เกียรติภูมิของกองทัพ

§ ความสามารถในฐานะสถาบันที่ทำหน้าที่ด้านความมั่นคง – ความแตกแยกในกองทัพกระทบกับความสามารถนี้ได้

o ผลประโยชน์ของกลุ่มทหาร งานวิจัยพบในสิ่งที่คนไทยน่าจะซาบซึ้งดีในเวลานี้คือ กองทัพไม่ได้มีเอกภาพเป็นกลุ่มก้อนเดียว แต่ประกอบขึ้นด้วยคนที่มีความคิดและความต้องการของตนเองจำนวนมาก คนเหล่านี้มีการจับกลุ่มเป็นพี่น้อง เพื่อนฝูง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ผลประโยชน์ผูกพันกัน หลายกลุ่มจึงต้องสู้ตายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกตน

o ผลประโยชน์ส่วนตัวของทหาร ทหารเป็นคนเช่นเดียวกับพวกเราทั้งหลาย ที่พยายามจะรักษาผลประโยชน์ของตัวเราเอง จึงไม่น่าประหลาดใจที่ผลประโยชน์ส่วนตัวของทหารบางคนจะผลักให้เกิดการรัฐประหารได้

การรัฐประหารแต่ละครั้งมีองค์ประกอบของกลุ่มคนที่เข้าร่วมไม่เหมือนกัน ผลประโยชน์หลากชนิดนี้ผสมผสานกันในการตัดสินใจยึดอำนาจ ทหารบางคนร่วมการรัฐประหารด้วยเหตุผลที่อาจจะดูแปลก ๆ อยู่ เช่นเพื่อเกียรติยศของวงศ์ตระกูล เป็นต้น

· ความสามารถในการทำรัฐประหาร เมื่ออยากยึดอำนาจรัฐ ไม่ได้แปลว่าทหารทุกคน ทุกกลุ่มจะทำได้ ปัจจัยหลายอย่าง ขวางการเกิดรัฐประหารได้

o การหาผู้สนับสนุนด้านการเงินและด้านการทหาร

o ความสามารถและความพร้อมในการดำเนินการทางการเมืองหลังยึดอำนาจมาได้

o ความเป็นเอกภาพในกองทัพ

o กองทัพเป็นที่นิยมชมชอบในสังคมการเมือง – ถ้าใคร ๆ ก็ไม่รัก ก็ลำบากหน่อย

· ปัจจัยขัดขวางการรัฐประหาร

o การให้ความสำคัญกับที่มาของผู้ใช้อำนาจทางการเมือง – คนในสังคมยอมรับวิธีการแบบไหนในการเข้าครองอำนาจรัฐ ยอมรับผู้นำที่ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจหรือไม่

o ความกลัวว่ากองทัพจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ เพราะการแย่งอำนาจระหว่างกลุ่มทหาร ทหารตีกันเองมีพลเมืองอยู่ตรงกลาง ก็คงได้วายวอดร่วมกัน

o ความกลัวการแตกแยกของคนในสังคมที่อาจลุกลามเป็นสงครามการเมือง

o ท่าทีของประชาคมโลกต่อการรัฐประหาร

ปัจจัยเหล่านี้ผสมผสานอย่างแตกต่างกันในการรัฐประหารแต่ละครั้ง ไม่มีสูตรสำเร็จ ลองพิจารณาแต่ละอย่างแล้วลองเอามาประกอบเข้าด้วยกันอาจจะพอเดาอย่างมีฐานทางวิชาการได้บ้างว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ข้อควรระวัง – การยึดอำนาจรัฐอาจมีรูปแบบต่างไปจากเดิมที่เราคุ้นเคย คืออาจไม่มีการเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจรัฐให้เห็นทันที แต่อำนาจไม่ได้อยู่ในมือคนที่อยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป การอำพรางเช่นนี้อาจทำให้ผู้ดูทั้งหลายไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่ารัฐประหารได้เกิดไปแล้ว

อีกประการหนึ่งคือรัฐประหารในประเทศไทยมักจะเกิดเป็น 2 ขั้น คือการยึดอำนาจรัฐจากรัฐบาลเดิม แล้วแทนที่ด้วยผู้นำพลเรือนที่คณะรัฐประหารไว้วางใจ เวลาผ่านไปสักพักก็ยึดอำนาจอีกรอบเพื่อรวบอำนาจ และกำจัดสถาบันที่สร้างปัญหาโดยการขัดคอ อย่างรัฐสภา หลังจากขั้นที่สองนี้ ผู้นำการยึดอำนาจมักจะเข้าไปดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลเอง ใช้อำนาจทางการเมืองเองโดยตรง เห็นกันอย่างนี้มาตั้งแต่ 2475 แล้วละ

วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2553

ทหารคือ "พลเมืองในเครื่องแบบ" -- Citizen in Uniform


ผู้ปกครองในสังคมการเมืองที่ไม่ได้แบ่งบทบาทหน้าที่ด้านการปกครองและการจัดการทางการเมืองเป็นเรื่อง ๆ โดยแต่ละเรื่องมีหน่วยงานหรือสถาบันเฉพาะทำหน้าที่นั้น ๆ อย่างที่เราคุ้นเคยในนี้ ได้อำนาจมาและรักษาไว้โดยการใช้กำลัง ไม่น่าแปลกที่ผู้ปกครองเหล่านั้นมักจะเป็นนักรบที่เก่งกาจด้วยเสมอ

ในสังคมที่ไม่แบ่งบทบาทหน้าที่เช่นนี้คนหรือสถาบันหนึ่งจึงเล่นบทบาทหรือทำหน้าที่หลายอย่าง ทั้งออกกติกา บังคับใช้กฎ ตัดสินผิดถูก โดยไม่ต้องแบ่งเป็นนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ที่ถูกแบ่งแยกจากกันอย่างที่คนสมัยใหม่เชื่อว่าควรจะเป็น ในบริบทเช่นนั้น กำลังทหารจึงเป็นฐานอำนาจสำคัญของการแสวงหาอำนาจ

ความคิดสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับปัจเจกที่ทรงพลังอำนาจในฐานะเจ้าของอำนาจทางการเมือง และเสรีภาพของปัจเจกในฐานะค่านิยมทางการเมืองสูงสุด พยายามจะจำกัดอำนาจรัฐเพื่อไม่ให้รังแกปัจเจกโดยการแบ่งแยกอำนาจ และการแบ่งหน้าที่บทบาท ความเชื่อใหม่ ๆ เหล่านี้ทำให้กองทัพกลายเป็นเพียงสถาบันที่มีบทบาทหน้าที่เฉพาะและต้องอยู่ภายใต้การบัญชาการของพลเรือนที่เข้าครองอำนาจโดยกระบวนการเลือกตั้งจากปัจเจกหรือพลเมืองซึ่งเจ้าของอำนาจทางการเมืองที่แท้จริง

แต่หลักการ ‘Civilian Supremacy’ นี้ไม่ค่อยปรากฎเป็นจริงในหลายสังคมการเมืองที่พยายามจะรับเอารูปแบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมมาจัดรูประบบการเมืองของตน การแทรกแซงทางการเมืองของผู้นำกองทัพที่ใช้กำลังทหารเป็นฐานอำนาจทางการเมืองของตนกลายเป็นประสบการณ์ร่วมของหลายรัฐ

ในขณะเดียวกันทหารในกองทัพสมัยใหม่ก็ถูกกดขี่ข่มเหงโดยผู้บังคับบัญชา โดยข้ออ้างสำคัญคือการรักษาระเบียบวินัยและการฝึกความแข็งแกร่งในฐานะนักรบ ทหารชั้นผู้น้อยต้องบาดเจ็บล้มตายสังเวยการฝึก การรบซึ่งหลายครั้งหลายหนเป็นเรื่องการการแย่งชิงอำนาจของผู้นำกองทัพ

แนวคิด ‘Citizen in Uniform’ เสนอว่ากองทัพและทหารในกองทัพควรถูกมองในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมการเมือง ไม่ใช่แยกออกเป็นเอกเทศจากส่วนอื่นของสังคม ทหารแต่ละคนมีสิทธิ เสรีภาพ บทบาท และความรับผิดชอบในฐานะพลเมืองของรัฐ โดยสิทธิเหล่านี้อาจจะถูกจำกัดบ้างเท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติงานในฐานะบุคคลากรด้านการทหาร แต่ต้องไม่ละเมิดหลักการสำคัญว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

แนวคิดนี้นอกจากจะเป็นการคุ้มครองทหารจากการถูกละเมิดหรือข่มเหงรังแกโดยบุคคลากรในกองทัพแล้ว ยังเป็นความพยายามจะทำให้กองทัพไม่ถูกแยกออกจากส่วนอื่นของสังคมการเมือง การเน้นบทบาทของทหารในฐานะพลเมืองของรัฐ เพื่อกองทัพจะพ้นจากสภาพการเป็นเครื่องมือของผู้ครองอำนาจรัฐในการกดขี่รังแกพลเรือนที่เป็นพลเรือน การใช้กำลังทหารโดยละเมิดกฎหมายของรัฐ หรือการใช้กองทัพเป็นฐานอำนาจทางการเมือง

มีการเสนอว่า การผลักดันให้กองทัพและบุคคลากรในกองทัพมีความพร้อมรับผิด (Accountability) ต่อสังคมการเมืองโดยรวม และการเปิดให้มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวคิด “ทหารในฐานะพลเมืองในเครื่องแบบ” ปรากฏเป็นจริงได้

แต่ความคิดความเชื่อของบุคคลากรในกองทัพว่าตนเองมีบทบาทหน้าที่ในฐานะพลเมืองด้วย ไม่ได้เป็นทหารของสถาบันใดหรือผู้นำคนไหนอย่างเฉพาะเจาะจงก็สำคัญยิ่ง ที่จะทำให้การตัดสินใจใช้ความรุนแรงกับเพื่อนร่วมสังคมการเมืองเป็นไปได้ยากขึ้