วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

จากดอกส้มสีทองถึง Insects in the Backyard – การเซ็นเซอร์การนำเสนอเรื่องเพศ เสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตย

ในเวลาที่คนหลายกลุ่มในสังคมไทยเรียกร้องประชาธิปไตยและเชิดชูสิทธิเสรีภาพทางการเมือง จนถึงกับยอมแลกได้ด้วยชีวิต ก็มีเสียงสนับสนุนการเซ็นเซ่อร์หรือแบนสื่อประเภทต่าง ๆ เช่นภาพยนต์หรือละครไปด้วยพร้อมกัน

เสียงเรียกร้องให้รัฐแบนหรือจำกัดการนำเสนอสื่อ (แม้ในเวลาที่มีระบบการจัดเรทติ้งประเทภและระดับอายุของสื่อแล้วก็ตาม) เป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องไม่เปลี่ยนไม่ว่าประชาธิปไตยจะเปลี่ยนรูปปรับร่างไปอย่างไรก็ตาม คนหลายกลุ่มไม่ลังเลที่จะเรียกร้องให้รัฐจัดการกับละครทีวีที่ล้ำเส้นเรื่องเพศที่เหมาะสมอย่าง “ดอกส้มสีทอง” และวางเฉยกับการแบนหนังอย่าง “Insects in the Backyard” เพราะเกรงภัยอันตรายของสื่อประเภทนี้ต่อระเบียบอันดีงามของสังคม

การควบคุมกำกับสื่อในลักษณะนี้อาจจะดูไม่เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกับการกำกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะการวิพากษ์สถาบันหรือวิจารณ์รัฐบาล เรามองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างเสรีภาพในการนำเสนอเรื่องเพศผ่านสื่อกับความเป็นประชาธิปไตยทางการเมือง เราไม่เข้าใจว่าการเรียกร้องหรือคาดหวังให้รัฐเซ็นเซ่อร์สะท้อนฐานคิดที่ไม่เอื้อต่อระบบการเมืองและสังคมที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ อย่างที่เป็นรูปแบบอุดมคติของหลาย ๆ คน?

การอภิปรายของข้าพเจ้าในการเสวนา “Insects in the Backyard: แหกกรงความคิด เพื่อสิทธิมนุษยชน” ชวนคิดถึง 3 ประเด็น – เพศในสื่อ เสรีภาพกับเพศวิถี และเสรีภาพเรื่องเพศวิถีกับเสรีภาพทางการเมือง/ประชาธิปไตย

เพศวิถีในสื่อ

เรื่องเพศในสื่อเป็นเรื่องแปลกประหลาดหรือไม่? หรือแท้ที่จริงเรื่องเพศถูกนำเสนอในสื่อหลากหลายประเภทหรือเป็นส่วนสำคัญของเนื้อหา/ “สาร” ของสื่อกระแสหลัก/กระแสรองอยู่แล้ว คำถามที่น่าคิดกว่าคือทำไมเราจึงชอบบางเรื่อง ไม่ชอบบางเรื่อง บางเรื่องได้รับการสนับสนุน บางเรื่องโดนแบน ทำไมเราชอบ “วนิดา” แต่ไม่ชอบ “ดอกส้มสีทอง” ฯลฯ

สื่อประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อเพื่อความบันเทิงทั้งหลาย นำเสนอเรื่องเพศ/เพศวิถีใน 2 ลักษณะหลัก ๆ คือ แบบแรกเป็นการสะท้อนและผลิตซ้ำความเชื่อ ค่านิยม วิถีปฏิบัติแบบเพศวิถีกระแสหลัก ได้แก่การแบ่งคนออกเป็น 2 เพศสภาพอย่างเคร่งครัด คือเป็นเพียงผู้หญิงหรือผู้ชายอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยความรัก ความสัมพันธ์และเซ็กส์ที่ถูกต้อง/เป็นที่ “ธรรมชาติ” หรือเป็นที่ยอมรับต้องเกิดขึ้นระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายเท่านั้น เซ็กส์ที่เหมาะสมต้องเกิดในการแต่งงานแบบผัวเดียว-เมียเดียว และต้องมีความรักเป็นองค์ประกอบหลัก

อันที่จริงแง่มุมต่าง ๆ ของความรักแบบโรแมนติค/เซ็กส์/ความสัมพันธ์ “ระหว่างชายหญิงเป็นโครงเรื่องหรือ Plot หลักของนิยาย เพลง ละคร ภาพยนต์หลายเรื่องมากมาย เราขบขัน ซาบซึ้งและร้องไห้ไปกับเรื่องราวที่สะท้อนแง่มุมคลุมเครือ อึดอัด และบีบบังคับของความรักและเซ็กส์ในสื่อประเภทต่าง ๆ

แม้จะสะท้อนและตอกย้ำรูปแบบเรื่องเพศตามกรอบกติกากระแสหลัก สื่อก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เสนอเรื่องเพศมากเกินไป ให้คนเห็นเนื้อหนังร่างกายหรือการร่วมเพศชัดเจนแจ่มชัดหรือมากมายนักไม่ได้ เพราะอิทธิพลของการมองเรื่องเซ็กส์ในทางลบ เห็นเซ็กส์เป็นเรื่องสกปรก เกรงว่าการได้เห็นได้รู้จากสื่อมาก ๆ จะทำให้หมกมุ่นเกินไป การมัวเมาในเรื่องเพศจะทำให้เกิดความเสื่อมของเหตุผลหรือระเบียบของสังคม ต้องกำกับควบคุมเข้มงวดไม่ให้หลุดออกนอนกรอบของการขังเซ็กส์ไว้ในการแต่งงานแบบผัวเดียว-เมียเดียวเท่านั้น

สื่อบางประเภทนำเสนอรสนิยม วิถีปฏิบัติและชีวิตทางเพศที่ต่างไปจากกระแสหลัก ตั้งแต่ความรัก/เซ็กส์ระหว่างคนเพศสภาพเดียวกัน เซ็กส์นอกสมรสรูปแบบต่าง ๆ การซื้อขายบริการทางเพศ เซ็กส์กับสัตว์-ศพ-เด็ก ฯลฯ รูปแบบเหล่านี้เป็นอะไรที่หลายคนทำ/เลือกทำ ในช่วงเวลาต่าง ๆ ของชีวิต แต่เราอาจไม่รู้หรือไม่เห็นเพราะเขาไม่ทำให้เห็นหรือไม่บอกให้รู้)

สื่อที่นำเสนอรูปแบบเรื่องเพศต่างไปจากกรอบหลักถูกมองเป็นปัญหา แต่จะเป็นปัญหามากน้อยและโดนลงโทษหนักหนาแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าเรื่องเพศที่นำเสอนออกนอกกรอบไปไกลเท่าไร ยิ่งไกลมาก ชัดมาก แรงมาก ก็จะเจออาการรับไม่ได้หนัก ๆ โดนอัดแรง ลงโทษแรง ๆ อย่างที่ Insects in the Backyard โดน

คนที่มีโอกาสได้ดูหนัง Insects in the Backyard อาจจะรู้สึกคล้าย ๆ กันว่า หนังเรื่องนี้ออกจะ “เยอะ” นำเสนอประเด็นเพศวิถีหลายเรื่องมาก แค่ 10 นาทีแรกของหนังก็ได้เห็นประเด็นการข้ามเพศ จิตนาการทางเพศ  (Rape Fantasy) เพศของวัยรุ่น การ “กิน” หรือการใช้อาหารเพื่อจัดการกับความเครียด/ความทุกข์ การจูบในที่สาธารณะ เซ็กส์แบบชายกับชาย การเอากันหลากหลายรูปแบบ

Insects in the Backyard ทำให้นึกถึง “จัน ดารา” ทั้งที่เป็นนิยายและเป็นภาพยนต์ ในฐานะนิยาย “จัน ดารา” นำเสนอ “ความมากเกินไปของเรื่องเพศ” ที่ทำให้ “ฝ่อ” มากกว่า “หื่น คือมากล้นเหลือจนไม่กระตุ้นเร้า เมื่อเป็นภาพยนต์ก็ทำให้เกิดการโต้เถียงกว้างขวาง โดยกรรมการเซ็นเซอร์หนังที่เป็นสุภาพสตรีท่านหนึ่งบอกว่า ดูหนังแล้วทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศในขณะที่หลายคนยืนยันว่าดูแล้วยังไง ๆ ก็ไม่เร้าความอยาก ทำให้เห็นความต่างของการกระตุ้นเร้าทางเพศในแต่ละคนอยู่ไม่ใช่น้อย

อะไรที่ทำให้บางคนเกิดความต้องการทางเพศ อาจไม่มีผลแบบเดียวกันกับคนอื่นก็เป็นได้ เพราะรสนิยมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเห็นชายจูบชายแล้วแหวะ บางคนเห็นแล้วซาบซ่าน ฯลฯ

เหตุผลหลัก ๆ ของการห้าม จำกัด หรือกำจัดการนำเสนอเรื่องเพศผ่านสื่อ คือความเชื่อมสื่อเรื่องเพศกับการกระตุ้นเร้าทางเพศ และความกลัวการเลียนแบบการกระทำทางเพศที่เห็นในสื่อ

Sexual arousal - -> Sexual behavior – การดูหนังที่มีเรื่องเพศ/เห็นร่างกายหรืออวัยวะเพศ - -> เกิดความต้องการทางเพศ - -> ระบายความต้องการทางเพศในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม เช่นร่วมเพศนอกสมรส ซื้อบริการทางเพศ มีความสัมพันธ์ซ้อน ฯลฯ หรือทำอะไรต่ออะไรเกี่ยวกับเพศมากเกินไป/บ่อยเกินไป

อีกประการหนึ่งที่มักถูกหยิบยกในการเซ็นเซอร์สื่อคือการเลียนแบบ ความกลัวว่าคนจะทำตามรูปแบบเรื่องเพศนอกกรอบที่เห็นในสื่อ

ความกลัวว่าการเสพสื่อที่มีเรื่องเพศจะทำให้คน “หื่น” กลัวว่าความหื่นจะเกินความสามารถในการควบคุม หลงลืมหรือมองข้ามไปว่ากรอบเรื่องเพศว่าด้วยความถูกผิด/เหมาะควรที่ใช้ศีลธรรม ศาสนา ปรัชญา และวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นตัวกำกับความเชื่อและค่านิยมเรื่องเพศ มีพลังในการกำกับคนอย่างมหาศาล คนไม่สามารถทำตามใจได้ในเรื่องเพศ การระบายออกหรือแสดงออกในเรื่องเพศถูกจำกัดโดนกรอบ กำกับแม้แต่ว่าอะไรบ้างเร้าความต้องการทางเพศของคน และเมื่อเกิดความต้องการจะแสดงออกในรูปใดได้บ้าง หรือต้องเก็บงำความต้องการไว้ ระบายออกโดยการกระทำทางเพศไม่ได้

ความไม่เชื่อมั่นในพลังของกรอบเรื่องเพศในการบังคับกำกับคน สวนทางกับมุมมองของคนทำงานวิชาการและนักเคลื่อนไหวประเด็นเพศวิถี ที่เห็นว่ากรอบเรื่องเพศช่าวงทรงพลังในการกุมความเชื่อของคนจนไม่ยอมฟังความรู้ความเห็นที่ต่างไป

เสรีภาพกับเพศวิถี

เราเชื่อว่าเรื่องเพศเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” แปลว่าคนเลือกและทำได้อย่างที่ต้องการ แต่จริง ๆ แล้วเรื่องเพศถูกกำกับอย่างเข้มงวด แม้ในเวลาที่เราเชิดชูเสรีภาพ

ภาครัฐและหลายกลุ่มในประชาสังคมไม่เชื่อในความสามารถในการคิดใคร่ครวญและเลือกทางเลือกต่าง ๆ ของคน กลัวคนจะเลือกผิด จึงต้องคอยดูแลเหมือนผู้ใหญ่ดูแลเด็กอยู่ตลอดเวลา โดยเลือกว่าควรจะรับรู้อะไร ทำหรือไม่ทำอะไรได้บ้าง คงเพราะอย่างนี้การทะเลาะของคนไทยจึงมีลักษณะเหมือนเด็กไม่รู้จักโต เช่นวิธีคิดว่าฉันถูกเสมอ คนที่เห็นไม่เหมือนฉันผิดเสมอ หรือฉันผิดแกก็ผิดเหมือนกัน แปลว่าไม่ผิดเพราะเสมอกัน ฯลฯ ซึ่งดูไม่ต่างจากเด็กทะเลาะกันนัก

ความกลัวว่าคนจะทำตามทุกอย่างที่เห็นในสื่อ เช่นเห็นคนข้ามเพศก็จะข้ามบ้าง เห็นคนรักเพศเดียวกันก็จะทำตาม ฯลฯ ความกลัวนี้มองไม่เห็นความเฉพาะเจาะจงของคนในเรื่องความต้องการและรสนิยม กรอบเรื่องเพศจะกำกับวิถีปฏิบัติและค่านิยมทางเพศในรูปแบบเดียวกัน ทำให้เรื่องบางเรื่องดูน่าขยะแขยงเกินกว่าจะทำตามหรือเลียนแบบเพียงเพราะเห็นคนอื่นทำ

ความเฉพาะเจาะจงของคนทำให้บางคนมีรสนิยมหรือวิถีปฏิบัติต่างไปจากกรอบเรื่องเพศ หลายคนพยายามขัดขืนและลุกขึ้นสู้กับกรอบเรื่องเพศ บางคนพ่ายแพ้และสยบยอมต่อ บางคนเป็นขบถที่ต้องสู้กับการถูกกดดันและการหาที่ยืน การออกนอกกรอบเรื่องเพศจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ราคาสูงสำหรับคนเป็นขบถที่ต้องรับปะทะในหลายรูปแบบ

ท่ามกลางการกำกับของกรอบเรื่องเพศกระแสหลัก คนอาจมีรสนิยมและวิถีเรื่องเพศต่างกัน เห็นรูปแบบและระดับความน่าขยะแขยงของเรื่องเพศต่างกันได้ การไม่ปล่อยให้คนเลือกเองว่าอะไรน่าขยะแขยงและควรปฏิเสธ อะไรทำให้พึงพอใจในทางเพศส่วนตัวโดยไม่ละเมิดผู้อื่น ดูจะเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมกำกับเรื่องเพศ โดยปฏิเสธสิทธิเสรีภาพในการเลือกทางเลือกในอาณาบริเวณที่ “ส่วนตัว” สุด ๆ ของคน

ฐานคิดหลักของการเซ็นเซอร์สื่อไม่ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของคนแต่มองภาพใหญ่ของสังคมมากกว่า โดยอ้างว่าปล่อยให้คนทำตามใจไม่ได้เพราะอาจส่งผลให้ระเบียบของสังคมที่บอกว่าทุกคนควรดำเนินชีวิตและมีรสนิยมแบบเดียวกันจะล่มสลาย วิธีคิดแบบนี้ไม่เชื่อว่าคนควรมีเสรีภาพโดยมีข้อจำกัดว่าการใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ไปละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น

ความไม่เชื่อมั้นในความสามารถการเลือกทางเลือกของมนุษย์ ดูจะขัดกับภาพของมนุษย์ในฐานะผู้ถือครองสิทธิ และหลักการความเชื่อเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่ให้คุณค่าสูงสุดกับปัจเจกและการสนองความต้องการของปัจเจก ซึ่งเป็นฐานหลักของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมหรือไม่

เสรีภาพเรื่องเพศวิถีกับเสรีภาพทางการเมือง – Freedom of Expression

ในระบบการเมืองไทย เราได้เห็นความต่อเนื่องของการจำกัดเรื่องเพศในสื่อ การเรียกร้องให้รัฐเซ็นเซร์สื่อ และการลงโทษคนที่สั่นคลอนเพศวิถีกระแสหลัก แต่ก็ได้เห็นการโหยหาประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่พลเมืองมีสิทธิเสรีภาพไปด้วยพร้อม ๆ กัน โดยไม่เห็นความขัดแย้งกันเองของสิ่งที่เรียกร้อง

ดูเหมือนคนหลายกลุ่มจะให้ความสำคัญกับสิทธิที่เป็นทางการ/สิทธิทางการเมือง แต่มองไม่เห็นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกในเรื่อง “ส่วนตัว” ที่ไปกันไม่ได้กับการกำกับเรื่องเพศอย่างเข้มงวด

หลายคนอาจจะเถียงว่าเสรีภาพในเรื่องเพศ/การเสพสื่อที่มีเนื้อหาเรื่องเพศเป็นเพียงเรื่องเล็ก เมื่อเทียบกับเรื่องบ้านเมืองซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ การละเมิดเสรีภาพทางการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ควรเอามาเทียบกัน ข้อถกเถียงเช่นนี้ยิ่งดูประหลาดในเวลาของการเรียกร้องประชาธิปไตยหรือไม่

ถ้าเรื่องเพศเป็นเรื่องเล็กแต่เราไม่เปิดให้คนได้เลือกและแสดงออกได้ เพราะกลัวจะเลือกผิดหรือสร้างปัญหา แล้วเราจะปล่อยให้คนเลือก “เรื่องใหญ่” อย่างการเลือกตัวแทนทางการเมืองหรือผู้ใช้อำนาจทางการเมืองได้หรือ? เรื่องเล็กยังทำผิดแล้วจะทำเรื่องใหญ่ ๆ ถูกต้องได้อย่างไร?

ที่น่าคิดอีกเรื่องหนึ่งคือ แล้วอะไรคือเสรีภาพทางการเมือง เราหมายถึง Freedom of Expression – เสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็น วิถีชีวิต ระบบความเชื่อ ค่านิยม วัฒนธรรม และตัวตนในแง่มุมต่าง ๆ ของคน ใช่หรือไม่? การเรียกร้องเสรีภาพที่จะวิพากษ์ชนชั้นนำและผู้ใช้อำนาจทางการเมืองตั้งอยู่บนฐานการมองเสรีภาพแบบนี้มิใช่หรือ ถ้าใช่เสรีภาพทางการเมืองก็ไม่ใช่เพียงการแสดงออกเพื่อจะเขย่าศูนย์กลางของอำนาจทางการเมืองภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงเสรีภาพในการปล่อยให้คนแสดงออกในแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิต รวมทั้งการนำเสนอและแสดงออกในเรื่องเพศด้วย

เสรีภาพในอาณาบริเวณที่ถูกมองว่าเป็นเรืองเล็กอย่างเพศวิถี เป็นเรื่องสำคัญยิ่งและทำให้ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมมีความหมายในชีวิตของผู้คนมากมาย แต่ความที่เรื่องเพศ/เพศวิถีเป็นส่วนสำคัญของแก่นแกนของโลกทางสังคมของคน เป็นส่วนหนึ่งของระบบระเบียบที่คนคุ้นเคยและเป็นเรื่อง “ใกล้ใจ” ที่สะเทือนอารมณ์ความรู้สึกและกระตุ้นความกลัวการสูญเสียผิดหวังของคนได้โดยง่าย การเปิดให้มีเสรีภาพในการเลือกและแสดงออกเรื่องเพศวิถีจึงเป็นเรื่องยากเย็น เพราะเสรีภาพในเรื่องเพศวิถีสั่นคลอนและท้าทายโลกทางสังคมของผู้คนที่คุ้นกับการอยูกับระเบียบเรื่องเพศที่ชัดเจนเข้มงวด

การนำเสนอรูปแบบและค่านิยมทางเพศที่ต่างไปจากกรอบกระแสหลัก จึงเท่ากับเป็นการกระแทกเรื่องศักดิ๋สิทธิ์/ต้องห้ามที่ทำให้โลกทางสังคมดำรงอยู่อย่างที่ผู้คนรู้จัก คุ้นเคยและไม่อยากให้เปลี่ยนแปลง (เพราะกลัวความไม่แน่นอนและไม่ชัดเจนที่จะมากับการเปลี่ยนแปลง/เปลี่ยนผ่าน)

เข้าใจได้ที่คนจะไม่อยากให้เปิดเสรีในการนำเสนอแง่มุมต่าง ๆ ของเพศวิถีผ่านสื่อ แต่คำถามที่ตามมาก็คือการไม่เปิดเช่นนี้ไปกันไม่ได้กับฐานความเชื่อสำคัญของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม การเปิด ๆ ปิด ๆ ในเรื่องเสรีภาพเช่นนี้จะทำให้ประชาธิปไตยที่หลายคนโหยหาปรากฏเป็นจริงได้หรือ??

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

เรื่องเพศแบบไม่ไทย-ไม่พุทธ กับการโต้เถียงประเด็นเปลื้องผ้าเล่นสงกรานต์

การหยิบยกความเป็นไทยโยนใส่กันในการถกเถียงประเด็นเปลือยอกเล่นสงกรานต์น่าหวาดหวั่น เพราะสะท้อนเข้าใจผิดบวกยึดมั่นถือมั่นที่น่ากลัว

ฝ่ายเสียงดังมองว่าการเปิดเผยเนื้อตัวในที่สาธารณะสะท้อนความไม่รักนวลตามแบบวัฒนธรรมไทย อีกฝ่ายบอกว่าคนสยามแต่เดิมเปลือยอกเป็นเรื่องธรรมดา

พูดกันในวงวิชาการมานานว่าค่านิยมเรื่องเพศกระแสหลักที่ภาครัฐยึดถือ "ไม่ไทยและไม่พุทธ" แต่นำเข้าความเชื่อและวิถีแบบฝรั่งห่อหุ้มด้วยความเป็นไทย (อ่านรายละเอียดประเด็นนี้ได้ใน "ประวัติศาสตร์ของเพศวิถี" อีกหนึ่งงานวิจัยที่โดนแบนของชลิดาภรณ์)

คนไทยจำนวนไม่น้อยความจำสั้น ลืมไปหมดแล้วว่าค่านิยมเรื่องเพศที่เน้นการปกปิดร่างกายและขังเซ็กส์ในการแต่งงานเป็นของนำเข้าช่วงกลางรัตนโกสินทร์

ความทรงจำคลาดเคลื่อนว่าค่านิยมเรื่องเพศแบบฝรั่งหลายอย่างเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทย ทำให้เกิดการประณามคนที่ไม่ทำตามว่าไม่รักษาความเป็นไทย

การอ้างอิงความเป็นไทยประณามการกระทำหลุดกรอบค่านิยมเรื่องเพศแบบนำเข้า ทำให้การโต้เถียงหรือชวนคิดเป็นไปได้ยาก เพราะเห็นต่าง=ไม่ไทย=ทำลายสังคม

ดูเหมือนค่านิยมเรื่องเพศหลายชุดที่ผสมปนเประหว่างของเดิม ของนำเข้า และวิถีปฏิบัติและการมองโลกที่เปลี่ยนไปตามเวลา ดำรงอยู่ไปพร้อมกันในสังคมไทย

การเถียงกันเรื่องเพศไม่น่าจะอ้างความเป็นไทยแบบมักง่าย หรืออ้างวิถีเดิมของสยามแบบผู้รู้ เพราะดูเหมือนคนไทยจะไม่ได้เป็นอย่างที่แต่ละฝ่ายเห็น

เรื่องเพศของคนไทยไม่เหมือนคนสยาม ไม่ใช่พุทธตามคำสอน (แต่เป็นพุทธแบบบอกเล่า+นิยมเทพและผี) แต่ผสมอะไรไว้หลายอย่างจนเถียงกันบนฐานเดียวลำบาก

การผสมปนเปของค่านิยมเรื่องเพศ+การให้ค่ากับความกล้าแสดงออกและความพอใจของบุคคล ทำให้ได้เห็นการกระทำทางเพศมากมายที่ไม่เป็นตามกรอบหลัก

น่ามหัศจรรย์ที่คนไม่สงสัยว่าความเชื่อและค่านิยมที่ตัวเองยึดถือเป็นจินตนาการที่เชื่อมกับความเป็นไทย ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีของผู้คนในสังคมนี้

คนไม่ตั้งคำถามกับค่านิยมหลักเรื่องเพศแบบนำเข้า แต่โกรธประณามเมื่อเห็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับจินตนาการว่าด้วยความถูกต้องเรื่องเพศของตนเอง

คนไทยมักอธิบายสาเหตุของปัญหาต่างๆโดยโทษคนบางคน ตั้งแต่สาวถอดเสื้อเล่นสงกรานต์ไปถึงทักษิณ คิดว่าจัดการกับคนที่เป็นต้นเหตุได้ปัญหาก็จบ

การยึดมั่นค่านิยมเรื่องเพศแบบนำเข้าและไม่อยากเผชิญหน้ากับความซับซ้อนของปัญหา ทำให้หลายคนสบายใจ+พอใจกับการขอโทษของสาวที่ถอดเสื้อเล่นสงกรานต์

การโต้เถียงเรื่องค่านิยมเรื่องเพศ ความเป็นไทย ผลกระทบของนโยบายขายประเพณีเพื่อการท่องเที่ยว เงียบงันไปเพราะคนพอใจที่ได้เห็นการขอโทษของ 3 สาว

ประมาณว่าเมื่อ คนผิดสำนึกผิดและขอโทษ (แพะถูกบูชายัญ) สังคมก็กลับไปสงบสุขเหมือนเดิม จนกว่าจะถูกเขย่าอีกครั้งด้วยเรื่องน่าตกใจอื่นๆต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

แก้ผ้าเล่นสงกรานต์ 2011 -- ภาค 2

ประเด็นเปลื้องผ้าเล่นสงกรานต์ 2011 ถูกมองแบบแคบตามคาดเพราะง่ายสำหรับทุกฝ่าย เลยจำเป็นต้องตั้งข้อสังเกตภาค 2

ประเด็นเปลือยอกเล่นสงกรานต์ถูกนำเสนอในแนวประณาม มองเป็นปัญหาของตัวคนมากกว่าจะยกระดับตั้งคำถามกับนโยบายรัฐและการเปลี่ยนของประเพณี

มองปัญหาเป็นเรื่องเฉพาะตัวคนทำให้คนอื่นไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นรัฐที่เน้นขายวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวหรือคนที่เน้นสนุกแบบรวมหมู่

สนุกรวมหมู่ผสมสัญชาตญานฝูงทำให้คนทำอะไรหลายอย่างที่จะไม่ทำในเวลา "ปกติ" อย่างแก้ผ้าหรือใช้ความรุนแรง เพราะความมันบวกแรงเร้าของคนรอบข้าง

การเปลื้องผ้าของหญิงชายช่วงสงกรานต์เป็นเพราะปัจจัยหลายอย่าง เอาผิดที่ตัวคนอย่างเดียวไม่ยกระดับประเด็นอาจไม่ทำให้อะไรดีขึ้น

หลายคนเรียกร้องจิตสำนึกรักนวลเพื่อป้องกันการอวดเนื้อหนัง นอกจากจะเข้าใจผิดเรื่องรักนวลแล้วอาจผิดหวังเพราะสำนึกช่วยไม่ได้เมื่อคนขาดสติ

การขายประเพณีกระตุ้นให้ใช้เงินมีผลที่น่าคิด เช่นการลอยกระทงของคนหลายล้านเกิดขยะรกแม่น้ำ หรือเล่นสงกรานต์โหดเพราะอารมณ์แบบฝูงชนของคนจำนวนมาก

องค์ประกอบที่เปลี่ยนไป เช่นจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นและการเน้นแง่มุมการเล่นสนุกอย่างเดียว ทำให้การทำตาม "ประเพณี" ไม่น่ารักเหมือนในจินตนาการได้

ไหนๆก็ตกใจและด่าทอคนเปลื้องผ้าเล่นสงกรานต์แล้ว ลองยกระดับสำรวจนโยบายการรักษาประเพณีและเน้นขายการท่องเที่ยว และวิธีเล่นสนุกของเรากันด้วยดีไหม


วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2554

แก้ผ้าเล่นสงกรานต์ -- ทำไมใคร ๆ ก็รับไม่ได้

เห็นอาการรับไม่ได้ของหลายคนกับภาพการถอดผ้าเล่นสงกรานต์แล้วทั้งเข้าใจและงงไปพร้อมกัน เพราะเหมือนคนเพิ่งสร่างเมาไม่ชอบอาการเมาของคนอื่น

การเล่นสงกรานต์รวมหมู่ขนาดใหญ่โดยเน้นความสนุกสนานสุด ๆ ของคนเล่นเป็นที่ตั้ง ทำให้ได้เห็นรูปแบบการเล่นสนุกที่หลายคนตกใจ

หลายสังคมมีเทศกาลที่เปิดให้คนได้เล่นสนุกในรูปแบบที่ทำไม่ได้ในชีวิตประจำวัน และมักเกิดการข้ามเส้นข้อห้ามของรัฐและสังคมเพื่อหาความสนุกสนาน

Spring Break ของนศ.ใน US ก็เคยเกิดกรณีการเชียร์ให้นศ.หญิงที่เต้นบนท้ายรถแก้ผ้ามาแล้ว พอไม่แก้ก็มีคนเข้าไปรุมถอดผ้าให้กลายเป็นจลาจลย่อม ๆ

การเล่นสนุกตาม “ประเพณีไทย” แปรรูปไปไม่เหมือนเดิม กลายเป็นการรวมตัวของคนแปลกหน้าจำนวนมากที่คาดหวังจะเล่นสนุก จนเกิดสภาพคล้ายม็อบได้

สงกรานต์เป็นโอกาสเล่นสนุกแบบข้ามเส้นข้อห้ามหลายประการ ความสนุกของบางคนอาจดูไม่เหมาะของหลายคนที่มาใช้พื้นที่ร่วมกันก็เป็นได้

คำถามน่าคิดคือการเน้นความสนุกแบบรวมหมู่ในโอกาสที่ข้อห้ามถูกยกเว้น ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับเหล้ายาหรือไม่ ทำให้ยากที่จะบอกว่าควรหยุดที่ตรงไหน

สื่อพูดถึงการปลุกจิตสำนึกไม่ให้เล่นสงกรานต์เกินงาม น่าจะต้องคิดว่าจะทำให้คนสนุกกับการยกเว้นข้อห้ามบางข้อและไม่ละเมิดข้อห้ามอื่นได้อย่างไร?

การเล่นสงกรานต์เวลานี้อาจจะเกินอุบายของประเพณีที่เปิดให้คนคลายเครียดหน้าร้อนไปมาก จนกลายเป็นการละเมิดข้อห้ามไปทุกเรื่องได้เพื่อจะสนุก