วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

หึง - หวง

หึง - หวงถูกมองเป็นเรื่องความระแวง+ยึดมั่นกับความเป็นเจ้าของ กับความเจ้าชู้ไม่รู้จักพอ ความหึงอาจเป็นเรื่องของความไม่พอดีของคนในคสพ.ด้วย?

อาการหึงหวงทำให้คนหึงเจ็บเพราะความไม่ไว้ใจ+ระแวง+เหนื่อยกับการไล่ล่า ฝ่ายถูกหึงเห็นเป็นเรื่องน่ารำคาญหรือเสียความรู้สึกเพราะอีกฝ่ายไม่ไว้ใจ

การมองคสพ.ว่าเป็นเรื่องของความเป็นเจ้าของคนรัก ทำให้ความหึงหวงกลายเป็นส่วนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงยากของคสพ. โดยเฉพาะกรณีที่ความคาดหวังไม่ตรงกัน

เพราะคนเริ่มรัก รักถดถอย และเลิกรักไม่พร้อมกัน อัตราความเบื่อและต้องการความตื่นเต้นใหม่ไม่เท่ากัน ทำให้คสพ.ไม่พอดีกันได้โดยง่าย

ในคสพ.คนยังต้องการความเป็นส่วนตัว แต่มักจะนิยามความเป็นส่วนตัวและการแบ่งปันเวลาและอารมณ์ไม่เหมือนกัน ความหวาดระแวงจึงตามมา

เมื่อเผชิญอาการหึง ความรำคาญบังตาคนถูกหึงจนไม่ยอมมองหาเหตุแห่งความหึง ฝ่ายคนหึงก็ถูกบดบังด้วยความระแวงจนไม่เห็น 'ใจ' คนที่ตัวเองรัก

ความระแวง-หึงหวงอาจลดน้อยลงเพราะการทำความเข้าใจและสื่อสารกัน แต่คนมักเชื่อว่าเพียงเพราะรักกันต้องรู้กันโดยไม่ต้องพูดเลยต้องปวดหัวยืดเยื้อ

หลายกรณีความหึงหวงบอกถึงความต่างพื้นฐานเกินปรับเข้าหากัน เมื่อรู้แล้วก็ลาจากอย่ายึดยื้อเลี้ยงไข้ ทำร้ายกันไปมาจนกลายเป็นเกลียดกันเลย

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

ตีตรา-ใส่ร้าย- ป้ายสี: รัฐไทย กฎหมายและการค้าบริการทางเพศ

ตีตรา-ใส่ร้าย- ป้ายสี: รัฐไทย กฎหมายและการค้าบริการทางเพศ

ทัศนะเรื่องการค้าบริการที่แย้งกันเอง 
• การค้าบริการในฐานะความชั่วร้ายที่จำเป็น คือเป็นการกระทำที่เลวร้ายแต่ไม่มีก็ไม่ได้ เพราะจำเป็นต่อการสนองความต้องการทางเพศของผู้ชายเพื่อไม่ให้ไปล่วงละเมิด "หญิงดี" คนอื่นในสังคม ถ้ามองว่าไม่ดีไปเลยอาจยุ่งน้อยกว่านี้
• ความเข้าใจเกี่ยวกับการค้าบริการทางเพศสุภาพคนซื้อเป็นผู้ชาย คนขายเป็นผู้หญิง มองไม่เห็นความซับซ้อนของปรากฏการณ์ที่ฝ่ายผู้ขายเป็นไปโดยซับซ้อน
• การประณามหญิงค้าบริการ/ คนค้าบริการ - whore stigma (ตีตรา "กะหรี่")
   การปลูกฝัง/ ตอกยำ้ผ่านหลายช่องทาง
   ตัวอย่างความละมุนของการตีตรา "กะหรี่" จากละคร "กลรัก ลวงใจ" เคนบอกว่า "บัวระวงเธอไม่น่าเป็นผู้หญิงขายตัวเลย" (ไม่เช่นนั้นก็จะได้อยู่ร่วมกันได้?) ทำให้คนดูไม่รู้ตัวว่ากำลังรับเอาวิธีมองคนค้าบริการทางเพศในทางลบ??

กฎหมายสะท้อนความขัดแย้งกันเองนี้ คือเน้นการปรามไม่ใช่การปราบหรือจำกัดให้สิ้นซาก 
แต่การบังคับใช้กฎหมายตั้งบนฐานอคติและความไม่ชัดเจน
ผลคือการรังแกคนมากมายโดยรัฐ
การตีตรากับความเป็นพลเมือง - การมองตัวเองและถูกคนอื่นมอง

• ตีตราคน
    -  กฎหมายให้ภาพของคนค้าบริการที่เฉพาะ เช่น ยากจน โง่เขลาเบาปัญญา ถ้าไม่ได้มีภาพตามนี้ก็ชั่วเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
    -  อาการ สัญญาณ และพฤติกรรมที่สื่อว่าค้าบริการ -- ไล่ปราบหรือรีดไถ??
    -  คนที่ไม่เหมือนภาพที่กฎหมายกำหนด หรือความเข้าใจทั่วไป ถูกตีตราซำ้ซ้อน -- TGs/ male sex workers เจอกับการกล่าวหาโดยรัฐในแง่มุมอื่น เช่นยาเสพติดหรือโขมยของเพิ่มเติมไปจากค้าบริการทางเพศ
    -  Whore stigma - การถูกลงโทษโดยกฎหมายอื่นแม้เมื่อไม่ได้ละเมิดพรบ.ปราม/ เปิดให้คนด่ากันได้ซึ่งหน้า/ ประณามได้/ รังแกได้ เช่นขายบริการโดนข่มขืนไม่ได้ ตร.ไม่รับแจ้งความเมื่อโดนกระทำความรุนแรง หรือเบี้ยวค่าตัว

• ใส่ร้าย/ ป้ายสี - พฤติกรรมบางอย่างทำให้ถูกจัดว่าขายบริการ โดนดูหมิ่นเหยียดหยามได้ ลงโทษแบบมั่วๆโดยอ้างกฎหมายผิดๆถูกๆได้
    ใส่ร้ายได้โดยไม่เห็นว่าเป็นความอยุติธรรม

การตีตรา-ใส่ร้าย-ป้ายสี ทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครอง เข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพและบริการสาธารณะอื่น ถูกกระทำความรุนแรง/เอารัดเอาเปรียบ - ความเป็นมนุษย์กับความเป็นพลเมืองลดลง

การใช้กฎหมายแบบนี้ทำให้คนเข้าใจกฎหมายผิด และตอกยำ้อคติของคน กลายเป็นว่าการค้าบริการผิดเพราะทั้งออกนอกกรอบเรื่องเพศ และผิดกฎหมาย กลายเป็นการตอกยำ้กันไปมา วนเวียนไปเรื่อย ๆ

การค้าบริการจึงถูกประณามแบบย้อนแย้งกันเอง และรังแกคนโดยไม่เห็นความซับซ้อนของประเด็น

ความไม่เท่าเทียมและการต่อสู้ในโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียม อำนาจต่อรองไม่เหมือนผู้หญิงชนชั้นกลาง คนค้าบริการลุกขึ้นสู้ไม่ได้ง่ายนัก มีแนวโน้มสยบยอม เพราะมีตำแหน่งแห่งที่เสียเปรียบในทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบกับการถูกตีตรา "กะหรี่" ทำให้รู้สึกตำ่ต้อย 

วิธีมองการค้าบริการในสังคมไทย - รังเกียจแต่ซื้อ ไม่เปลี่ยนโครงสร้างที่เชื่อว่าทำให้คนค้าบริการ ไม่ช่วยคนนอกจากจะเลิกค้า หรือไม่ช่วยเพราะรังเกียจ การมองเช่นนี้เป็นฐานของการรังแกและเบียดขับโดยประชาสังคมและรัฐที่น่าคิดต่อร่วมกัน

การสู้ในประเด็นการค้าบริการทางเพศไม่ได้เรียกร้องให้สงสาร แต่เป็นเรื่องการทำความเข้าใจ เคารพคนในฐานะคน- ท้าทายวิธีการมองโลกและการยึดหลักความเป็นพลเมืองและสิทธิในบริบทของความไม่เท่าเทียมและหลากหลายที่มีมิติของการตีตรา

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

จุดเปลี่ยนเรื่องเพศประเทศไทย -- ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

จุดเปลี่ยนเรื่องเพศประเทศไทย

หัวข้อการอภิปรายนี้สื่อว่ามีการเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศสภาพ/เพศวิถีในสังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่คนอาจเห็นต่างกันได้ว่า
เรื่องเพศเปลี่ยนไปหรือไม่ ประสบการณ์ของบางคนอาจทำให้รู้สึกหรือเข้าใจไปได้ว่าเรื่องเพศไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่วนอยู่กับที่

เป็นไปได้หรือไม่ว่าเราจะมองไม่เห็นหรือไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเพศสภาพ/เพศวิถี การเปลี่ยนแปลงหลายแง่มุมในเรื่องเพศเป็นผลของการสะสมความรู้ การต่อสู้ผลักดันและการโต้เถียงที่เมื่อถึงจุดหนึ่งกลายเป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นตาตื่นใจ ในขณะที่บางเรื่องที่ดูเหมือนจะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ แท้ที่จริงมีการเปลี่ยนในรายละเอียดหรือในระดับประสบการณ์และการเห็นโลกของคนไปมาก

การเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศสภาพ/เพศวิถีในสังคมการเมืองไทยอาจไม่ใช่อะไรที่เห็นได้ชัด หรือตรงไปตรงมานัก

การอภิปรายนี้แกะรอยความต่อเนื่อง/เปลี่ยนแปลงเรื่องเพศในสังคมไทยใน 4 ประเด็น

• เสียงแบบกระแสหลักที่พูดผ่านสื่อและจนท.รัฐ
   การประสานเสียงว่าด้วยเรื่องเพศที่ถูกต้องในลักษณะเดียวกัน ทำให้เกิดภาพลวงตาของความไม่เปลี่ยนแปลงที่ทำให้คนทำงานประเด็นเพศวิถีหลายคนท้อใจ
   แง่มุมที่น่าสนใจของเสียงแบบกระแสหลักได้แก่
   - การเรียกร้อง/ปลูกฝัง/ตอกยำ้ความชัดเจนของความเป็นหญิง-ชาย การจำกัดเรื่องเพศที่ถูกต้องไว้ในการแต่งงานแบบผัวเดียว-เมียเดียว การจัดให้วิถีทางเพศแบบรักต่างเพศ (Heterosexuality) เป็นเรื่องปกติเพยงรูปแบบเดียว และการให้ค่ากับการ "รักนวล" แบบไม่เปิดเผยเนื้อตัวร่างกายหรือยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศนอกสมรส ดูจะเป็นประเด็นหลักที่สื่อกระแสหลักและรัฐสนับสนุนส่งเสริม
   - การใช้เรื่องเพศนอกกรอบโจมตีกันในทางการเมือง กลายเป็นความคล้ายคลึงของการเมืองต่างสี เราได้เห็นการโจมตีศัตรูทางการเมืองโดยหยิบยกวิถีชีวิตทางเพศหรือพฤติหรรมทางเพศมาประณามหรือลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม เช่น การกล่าวถึงความเป็นคนข้ามเพศ/รักเพศเดียวกัน โดยสถาปนาให้นักการเมืองบางคนเป็นเจ๊ หรือการใช้พลังของการนินทาโดยกล่าวอ้างเรื่องความสัมพันธ์ซ้อน ใครเป็นชู้กับใคร
   ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เข้าใจไปได้ว่าเพศวิถีกระแสหลักช่างทรงพลังและมั่นคง

• เสียงวิพากษ์และการโต้เถียง/โต้แย้งเพศวิถีกระแสหลักที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลัก/กระแสรอง
   แม้ว่าเพศวิถีกระแสหลักจะถูกนำเสนอต่อเนื่องและเป็นฐานของการตัดสินถูกผิดในเรื่องเพศหรือการกดดันประณาม คนหลายกลุ่มไม่ยอมให้มีการผูกขาดการชี้ถูกผิดหรือรูปแบบความเหมาะสมทางเพศ เราได้เห็นการตั้งคำถามกับกระแสการตัดสินเรื่องเพศในละคร (ดอกส้มสีทอง) พฤติกรรมทางเพศของดารา (ฟีล์ม-แอนนี่) การตัดสินเรื่องเพศของพิธีกร (Woody) การแก้ผ้าเล่นสงกรานต์
   เราตั้งคำถามกับการตัดสิน/ประณาม เราชวนคิดถึงฐานคติเรื่องเพศของคน เราตั้งคำถามกับอาการ sex panic/ ความกลัวเซ็กส์ของคนบางกลุ่มในสังคม
   มีการตั้งข้อสังเกตต่อเนื่องเกี่ยวกับการบีบบังคับ เบียดขับ และรุมประณามผู้คนบนฐานของตัวตนและวิถีชีวิตทางเพศ หลายคนเรียกร้องการเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิดในเรื่องเพศ
   คำถามก็คือการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้หมายถึงอะไรเราพยายามจะเปลี่ยนอะไร? 
   เป็นไปได้หรือไม่ว่าการทำงานทางวิชาการ กึ่งวิชาการ และการเคลื่อนไหวทางสังคม ในประเด็นเพศวิถี เป็นเรื่องของการตั้งคำถามกับการให้ค่า การตัดสินเรื่องเพศ การผูกขาดความถูกต้อง ไม่ใช่การทำให้คนเปลี่ยนมาคิดเหมือนกัน เช่นมองเรื่องเพศทางบวกหรือลบเหมือนกัน แต่เป็นการทำให้คนเห็นต่างโดยไม่รู้สึกผิดหรือตำ่ต้อย 
   ไม่มีการมองเรื่องเพศแบบไหนที่ดีไปกว่ากัน ถ้าไม่ละเมิดกัน/ ไม่รังแกคนอื่น

• การเรียกร้องการรับรอง/คุ้มครองจากรัฐโดยขบถทางเพศ
   ความสำเร็จในบางเรื่อง?เราได้เห็นการจัดที่ทางที่ทางของเรื่องเพศนอกกรอบในพื้นที่สาธารณะ - การจัดพท.เฉพาะ เช่น LGBT ในแวดวงความสวยงามและบันเทิง ให้ภาพของการยอมรับ?
   รัฐไทยยอมถอยในบางเรื่อง เช่นกรณีศาลปกครองกับสด.43
   ที่น่าสนใจคือเราได้เห็นร่องรอยของการทำงานทางปัญญาที่เป็นฐานการต่อสู้เชิงนโยบาย เช่นประเด็นเพศสภาพและระบบสองเพศสภาพอย่างเคร่งครัด ความจำกัดของเพศวิถีกระแสหลัก และการกำกับโดยอำนาจที่แยบยล 
   การทำงานทางวิชาการ การเคลื่อนไหวทางสังคมเพืื่อนำเสนอประเด็นปัญหาเฉพาะเหล่านี้ทำให้เกิดคำอธิบาย ชุดเหตุผล ภาษา ที่ขบถทางเพศใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ และเป็นตัวช่วยของรัฐและคนในรัฐในการทำความเข้าใจประสบการณ์และวิืถีชีวิตทางเพศที่หลากหลายของคนในสังคม กลายเป็นฐานในการคุ้มครอง รับรองสิทธิ และเพิ่มพูนเสรีภาพในการจัดการชีวิตของตนเองให้กับพลเมือง
   การเขียน ทำวิจัย เปิดวงโต้เถียง รณรงค์สร้างความเข้าใจ ฯลฯ ที่ดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจหรือมีผลกระทบทันที กลายเป็นฐานการเปลี่ยนแปลงหลายประการได้เมื่อถึงเวลาหนึ่ง การทำงานในเรื่องเพศวิถีจึงไม่ได้สูญเปล่า

• การสร้างพท.และเครือข่ายเพื่อสนับสนุนทางเลือก วิถีชีวิต
   หลายกลุ่มไม่รอความเมตตาจากรัฐ แต่สร้างเครือข่ายเพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ปัญหา และความทุกข์จากแง่มุมต่างๆของเรื่องเพศ ชุมชนที่สนับสนุนเกื้อกูลกันและกัน หรือเห็นต่างกันได้อย่างสร้างสรรค์
   การเพิ่มทางเลือกให้กับคนในบางสถานการณ์ เช่น เครือข่ายท้องไม่พร้อม กระเทยไทย 
   กิจกรรมที่คนมองเห็นบ้างไม่เห็นบ้างเหล่านี้ สร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนและการเมืองของพลเมืองในการจัดการกับกิจกรรม/กิจการของตัวเอง นี่ไม่ใช่หรือที่เป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตยในความหมายของการปกครองโดยประชาชน การเพิ่มพูนความสามารถของคนในการนำเสนอปัญหาเฉพาะของตน การเข้าใจสถานการณ์ของตนเอง และการจัดการกับปัญหาร่วมกันของกลุ่มคนโดยไม่ต้องพึ่งพิงรัฐไปทุกเรื่อง

ทั้งหมดนี้คือจุดเปลี่ยนเรื่องเพศประเทศไทยที่มาจากการทำงานทางความคิด ทางใจและจิตวิญญาณของคนมากมาย หลายคนมาร่วมในการประชุมวิชาการเพศวิถีศึกษานี้