วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เปรียบเทียบนโนบายผู้หญิงของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ -- เลือกตั้ง 2011

พรรคการเมืองในระบบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนมักมีความชัดเจนด้านนโยบายน้อยลง เพื่อดึงดูดคะแนนเสียงคนหลากหลายกลุ่ม ชัดเจนเกินไปอาจไม่โดนใจบางกลุ่ม

พรรคการเมืองไทยถูกวิจารณ์ว่าไม่มีนโยบาย เพราะการเลือกตั้งแบบไทยๆเป็นการบริหารจัดการฐานเสียงมากกว่าการดึงดูดด้วยนโยบาย

นโยบายที่พรรคการเมืองไทยพูดถึงบ้างมักจะเป็นเรื่องปากท้องเป็นหลัก ออกแนวแจกกึ่งสงเคราะห์ในรูปแบบประชานิยม

คนบางกลุ่มอาจมองหานโยบายเฉพาะที่สนองความต้องการเฉพาะของกลุ่มตน อาจงงกับนโยบายที่เน้นปากท้องและมองหาเรื่องเฉพาะของตนไม่เจอ

นโยบายผู้หญิงมักไม่ค่อยพูดถึงอย่างชัดเจนโดยพรรคการเมือง แต่การเลือกตั้ง 2011 เรื่องผู้หญิงๆเป็นที่ฮือฮาเพราะการก้าวกระโดดของยิ่งลักษณ์

เรื่องผู้หญิงในนโยบายพรรค(ถ้ามี)มักมองจากที่ทางของผู้หญิงในครอบครัวแบบพ่อ-แม่-ลูก นโยบายผู้หญิงจึงออกแนวแม่เมียเป็นหลัก

มองหานโยบายผู้หญิงของปชป.ก็เป็นไปตามคาดคือไม่ได้กล่าวถึง แต่ต้องไปแกะและเดาว่าเรื่องผู้หญิงไปอิงกับกลุ่มนโยบายอะไรได้บ้าง

อาจโมเมได้ว่าผู้หญิงไทยจะได้ประโยชน์จากกลุ่มนโยบาย “เศรษฐกิจต้องเดินหน้า” ของปชป.ในฐานะเกษตรกร แรงงาน ลูกหนี้ และคนชรา

ผู้หญิงหลายกลุ่มน่าจะได้ปย.จากกลุ่มนโยบาย ครอบครัวต้องเดินหน้าของปชป.การลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน ค่าเล่าเรียน ไฟฟ้า น้ำประปา ค่ารักษาพยาบาล

นโยบายหนึ่งของปชป.ที่ดูเหมือนจะตอบโจทย์ผู้หญิงหลายกลุ่มคือ การพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก แต่พวกไม่มีลูกเห็นว่าไม่น่าสนใจ

ดูเหมือนนโยบายปชป.จะเห็นผู้หญิงในฐานะแม่และเมีย พวกที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเหล่านี้ต้องไปรอประโยชน์ร่วมกับคนกลุ่มอื่น

คำถามที่น่าคิดคือแล้วผู้หญิงไทยมีแง่มุมชีวิตอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับความเป็นแม่และเมียไหม หลายเรื่องต้องการแนวทางชัดเจนในการจัดการหรือไม่

ที่น่ากลัวก็คือนโยบายปชป.พลิกโฉมทะเลใต้ขายการท่องเที่ยว ทำให้ผู้หญิงหลายกลุ่มสงสัยในใจว่าจะขายพวกเธอโดยอ้อมหรือไม่

ที่ผ่านมารัฐไทยขายผู้หญิงพ่วงไปกับการท่องเที่ยวโดยไม่ยอมรับรองและคุ้มครองพนักงานบริการทางเพศรูปแบบต่างๆในฐานะแรงงาน

พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายเฉพาะเรื่องผู้หญิง ส่งเสริมสิทธิ ความเท่าเทียม การศึกษาของแม่บ้าน สถานที่ดูแลเด็ก และ “ศูนย์พึ่งได้”

นโยบายผู้หญิงของพท.ดูจะต่างระดับกันอยู่มาก บางเรื่องเป็นหลักการเช่นการสนับสนุนสิทธิเสมอภาค บางเรื่องลงไปในรายละเอียดอย่างการศึกษาของแม่บ้าน

พท.ขายนโยบายกองทุนส่งเสริมบทบาทสตรีจว.ละ100ล้านผ่านป้ายหาเสียง มุ่งส่งเสริมอาชีพและรายได้ของผู้หญิง นโยบายผู้หญิงย้อนกลับไปเป็นเรื่องปากท้อง

นโยบายพท.พูดถึงประเด็นอื่นของผู้หญิง แต่หลักๆก็ยังเห็นผู้หญิงเป็นแม่เมียและโยงกลับไปสู่เรื่องปากท้อง

ปชป.และพท.ไม่บอกเราว่ามีท่าทีอย่างไรในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ ความรุนแรงทางเพศ สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ที่คาใจผู้หญิงหลายกลุ่ม

เป็นไปได้ว่าความไม่ชัดเจนของนโยบายผู้หญิงเป็นเพราะไม่อยากหาเรื่องทำให้บางกลุ่มไม่พอใจ แต่ก็เป็นไปได้ว่าเป็นเพราะไม่ใส่ใจว่าเป็นเรื่องสำคัญ

การมองประเด็นผู้หญิงโดยทึกทักว่าผู้หญิงไทยไม่เป็นแม่ก็ต้องเป็นเมียหรือเป็นทั้ง2อย่าง ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากมายไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ?

ประเด็นผู้หญิงที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับความเป็นแม่-เมียวนอยู่ที่เดิมและถูกบดบังด้วยความขัดแย้งทางการเมืองมาหลายปี คงต้องวนต่อไปเช่นนี้อีกนาน

วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ท้อ/ไม่ท้อเพราะรอรัก

มีคำถามจากสมาชิก ทวิตรักว่า ได้บอกรักคนหนึ่งไป เขาบอกให้รอขอดูไปก่อน แล้วควรจะรอถึงเมื่อไร เรารอรักไปได้เรื่อย ๆ ไม่จบสิ้นหรือไม่? นานแค่ไหนจึงจะนับว่านานเกินไป?

คำถามนี้น่าคิดเพราะคนจำนวนมากกำลัง “รอรัก” ในลักษณะต่าง ๆ อย่างรอความรัก รอให้คนรักเปลี่ยนใจมารัก รอให้เขาชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรกับคสพ. รอให้คนรักที่จากไปกลับมาหา ฯลฯ การรอรักจึงหมายความถึงอะไรหลายอย่างสำหรับแต่ละคน

เมื่อถูกบอกรัก บางคนยินดีทดลองเข้าสู่ความสัมพันธ์ทันทีและศึกษาและปรับเปลี่ยนเรียนรู้กันไปในความสัมพันธ์ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่ต้องรอรัก แต่ต้องลงแรงกาย-ใจจัดการกับความสัมพันธ์

แต่หลายคนต้องการเวลาคิดว่าจะเอาอย่างไรกับการถูกบอกรัก บางคนอยากใช้เวลาพิจารณาว่าคนนี้เหมาะจะใกล้ชิดมากขึ้นหรือไม่ แม้จะเป็นเพื่อนกันมาแล้วก็ขอดูเพราะเป็นเพื่อนไม่เหมือนเป็นแฟน

จากตกหลุมรัก-บอกรัก-เข้าสู่คสพ. บางคนใช้เวลายาวนานเพื่อ ดูใจและทำความรู้จักให้แน่ว่าจะเลือกคนนี้ ทำให้ฝ่ายบอกรักเข้าสู่สถานการณ์รอให้รัก/รอให้ชัดได้

บางครั้งเมื่อบอกรักไปแล้วอีกฝ่ายปฏิเสธ ฝ่ายบอกรักไม่ยอมแพ้แถมเชื่อว่าความรักมากมายที่ตัวเองมีให้อีกฝ่าย + ความจริงใจ+ ความอดทนจะเปลี่ยนใจคนที่เรารักแต่ไม่รักเรา

การรอให้เขารักได้นาน ๆ ถูกมองเป็นการพิสูจน์รักได้เหมือนกัน ยิ่งรอได้นานแปลว่ารักจริงเช่นนั้นหรือ? หรือแปลว่าการเฝ้ารอรักไม่เลิกเป็นเพราะบางคนบอกไม่ได้ว่าถึงเวลาไหนควรเลิกรอ?

หลายครั้งที่อาการรอรักไม่ใช่เรื่องง่าย มีความกระวนกระวายเพราะไม่แน่นอนสูง คนที่รอรักได้นาน ๆ อาจถูกชื่นชมว่ามั่นคง โดยลืมไปว่าการรอรักทำให้หลายคนมองข้ามแง่มุมอื่น ๆ ของชีวิตไปได้ ถ้ายอมสละได้ก็ไม่เป็นไร

ก่อนเริ่มวงสนทนา ได้มีการลองถามสมาชิกผ่านโพลออนไลน์ว่าเคยรอรักนานที่สุดแค่ไหน คำตอบอยู่ระหว่าง 2 เดือนไปจนถึง 8 ปี นอกจากนี้ยังมีคนตอบนอกรอบว่ารอมา 10 ปีแล้ว

การรอรักทำให้บางคนเป็นสุข บางคนเป็นทุกข์

@KAEMz: บอกตัวเองอยู่เสมอว่าตราบใดที่ระหว่างทางที่รอยังมีความสุขกับมันก็จะรอต่อไปอยู่อย่างนั้น -- ตัวอย่างของการรออย่างเป็นสุข
@nrad6949: ระหว่างทางรอมันอาจเจ็บปวดจนไม่สามารถทนรอได้อีกครับ -- ตัวอย่างของคนที่รอแบบอมทุกข์

ความสามารถรอรักของหลายคนผูกพันอยู่กับความหวังที่รุ่งโรจน์ว่าเขาจะรัก และความรู้สึกดีของการเป็นฝ่ายรัก มีความเสี่ยงและไม่แน่นอนเป็นตัวบั่นทอน

@nrad6949: บางครั้งเราก็อยากชัดเจน บางครั้งรอเหมือนจะไม่ชัดเจนครับ -- การรอทำให้ทุกข์เพราะไม่แน่นอนและไม่ชัดเจน และความหวังลางเลือนด้วย
@voffle_vaw: ทำไมการรอใครสักคน บางครั้งก็ยาวนานครับ -- เพราะความไม่แน่นอน และบางทีความไม่แยแสของคนที่เรารอทำให้ทุกข์จนดูเหมือนเนิ่นนาน?
@TORBCC: การเผชิญหน้ากับความเกลียดชังหรือรำคาญของฝ่ายไม่รักถือเป็นความเสี่ยงด้วยมั้ยครับ – อาการรำคาญของคนที่เรารักทำร้ายใจของคนเป็นฝ่ายรอสุดๆ

ความทุกข์เพราะไม่แน่นอน อาการรำคาญและผลักไสของคนที่ไม่รักเรา ฯลฯ ทำให้หลายคนทุกข์จนเริ่มเห็นว่าที่สละตัวตนไปช่างไร้ค่า และกอบกู้ตัวตนได้เหมือนกัน

บางคนที่สละตัวตนเพื่อคนรักจนแตกยับไม่เป็นชิ้น อาจไม่มีความสามารถจะกอบกู้ตัวตนคืนกลับมาได้อีก และทุกข์ทนทำร้ายตัวเองไปเรื่อย ๆ

การรอรักอาจหวานเย็นสำหรับบางคน แต่ร้อนผ่าวและทิ่มแทงสำหรับหลายคน ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบเฉพาะที่แตกต่าง

บางคนสุขกับการแอบรัก ขอเพียงได้รัก บางคนไขว่คว้าอยากครองคู่ ยอมทนสู้เพื่อให้ได้มา ทางเลือกที่ดูเหมือนดีและเป็นสุขสำหรับบางคนอาจจะไม่ได้เรื่องสำหรับคนอื่น

การรอรักต้องรออย่างโดดเดี่ยวไหม ยุทธวิธีของบางคนที่รอรักคือรักคนอื่นไปด้วยเพื่อลดความทุข์ของการรอ อย่างนี้จะเรียกว่ารอรักไหมนะ?

วงสนทนา “ทวิตรัก" ทำให้เห็นว่า "รอรัก" มีหลายแบบ ทำให้คนทุกข์สุขได้แตกต่างกันตามวัยและความคาดหวัง ไม่มีสูตรสำเร็จเพื่อจะบอกว่าเมื่อไรควรเลิกรอ

หลายคนต้องทนทุกข์เพราะสละตัวตนหรือถูกผลักไสโดยคนไม่รัก ทุกข์ถึงที่สุดอาจ ตาสว่างว่าถึงเวลาเลิกรอเสียที มีอย่างอื่นในชีวิตรออยู่มากมาย

บางคนไม่ยอมเลิกรอแม้จะทุกข์แสนทุกข์ และรู้ว่าไม่มีหวัง การได้ย้อนดูทุกข์ของตัวเองอาจทำให้ได้คิดว่าเรากำลังทำอะไรและต้องการทุกข์แบบนี้หรือไม่

บางทีการจัดการกับทุกข์เพราะรักอาจต้องอาศัยการเผชิญหน้ากับทุกข์ เพื่อที่จะเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรกับทุกข์นั้น ติดอยู่กับทุกข์หรือปล่อยมันไป

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ผู้หญิงในการเมือง -- นักเลือกตั้งกับแม่ยกการเมือง

นักการเมืองหญิงถูกคาดหวังให้เป็นตัวแทนผู้หญิง เพียงเพราะมีเพศสภาพหญิงเลยถูกทึกทักว่าต้องรู้ เข้าใจและใส่ใจประเด็นผู้หญิง

ดูเหมือนคนจะไม่ชอบนักการเมืองหญิงที่ไม่รู้เรื่องผู้หญิง แต่ก็ไม่ชอบนักการเมืองหญิงที่พูดแต่เรื่องผู้หญิง เรียกร้องให้ทำอะไรได้หลายอย่าง

นักเลือกตั้งหญิงถูกคาดหวังให้เป็นตัวแทนประชาชนและเป็นตัวแทนของผู้หญิง บางคนทำได้ บางคนเป็นไม่ได้ทั้งสองอย่าง

นักเลือกตั้งหญิงอาจเลือกใช้ประเด็นผู้หญิงในแนวสงเคราะห์สร้างฐานและความเชื่อถือทางการเมือง แต่ไม่ได้พยายามเข้าใจประเด็นจริงจังก็เป็นได้

การเข้าใจประเด็นเฉพาะในสังคมต้องอาศัยการติดตามและศึกษา การผลักดันนโยบายต้องอาศัยความเข้าใจการเชื่อมโยงและลำดับความสำคัญของประเด็นต่าง ๆ

ถามนักเลือกตั้งหญิงในประเด็นผู้หญิง อาจได้เห็นการให้ข้อมูลหรือการดำน้ำแง่มุมต่างๆของชีวิตผู้หญิงอย่างพิสดารขึ้นอยู่กับฐานความรู้ของแต่ละคน

เมื่อถามประเด็นเดี่ยว นักเลือกตั้งตอบแนวคิด นโยบายเหมือนให้ความสำคัญกับเรื่องนั้นมาก แต่เรื่องนั้นอาจไม่ออกเป็นนโยบายหรือไม่มีผลในทางปฏิบัติ

การตอบประเด็นนโยบายแต่ไม่ทำ นอกจากจะเป็นการเบี้ยวแบบตรงไปตรงมาของนักเลือกตั้งแล้ว อาจเป็นผลของการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นนโยบายด้วย

พรรคการเมืองอาจคิดประเด็นผู้หญิงมากน้อยต่างกัน แต่ไม่ได้จัดประเด็นผู้หญิงเป็นอันดับต้นของนโยบาย มีเรื่องอื่นสำคัญกว่า

การซักถามนักเลือกตั้งหญิงเกี่ยวกับประเด็นผู้หญิงไม่พอ ต้องให้เธอจัดให้เห็นว่าประเด็นผู้หญิงอยู่ลำดับไหนหรือไม่อยู่ในสายตาของพรรคที่เธอสังกัด

ประเด็นผู้หญิงอาจไม่ได้ถูกเห็นเป็นเรื่องใหญ่ในสังคม เห็นเป็นประเด็นซ๊อฟต์ๆ ไม่เร่งด่วนขอขาดบาดตาย ทนกันไปก่อนได้

ประเด็นผู้หญิงเกี่ยวข้องกับความยากจน ปากท้อง ความปลอดภัย และการเลี้ยงดูกล่อมเกลาอนาคตของชาติ ไม่น่า soft นัก? ที่เห็นว่า soft เพราะไม่ใส่ใจ?

ผู้หญิงในรัฐไทยอาจเป็นเพียงฐานเสียง แต่ไม่ได้เป็นฐานนโยบาย ประเด็นผู้หญิงจึงไม่ได้ถูกผลักดันในการเมืองของนักเลือกตั้งอย่างจริงจังนัก


ผู้หญิงไทยกลายเป็นแม่ยกนักเลือกตั้ง อุ้มเธอและเขาเข้าสภา แต่ไม่ได้อยู่ในสายตาในการผลักดันนโยบาย 


วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Feminist Mind -- เพศสภาพในการเมือง

ทวิตประเด็นผู้หญิงในการเมือง เพื่อจะบอกว่าคนเพศสภาพหญิงไม่จำเป็นต้องมี feminist mind และ feminist mind ไม่ได้มีแต่ในคนเพศสภาพหญิง

Feminist mind ไม่ใช่การเชิดชูหญิง ว่าหญิงดีกว่าชาย แต่เป็นความตระหนักรู้ว่าเพศสภาพมีผลต่อชีวิตทางสังคม ทำให้ปัญหาและความต้องการของคนต่างเพศสภาพไม่เหมือนกันได้

Feminist mind รู้ว่าความเป็นหญิง/ชายทำให้คนมีบทบาทที่ทางเฉพาะ นโยบายสาธารณะและกติกาของสังคมต้องโอบอุ้มความต่างนี้ไว้เพื่อสร้างความเป็นธรรม

Feminist mind รู้ว่าผู้หญิงหลายคนแบกเอาความเป็นแม่มาที่ทำงานด้วย ทำให้ไม่สอดคล้องกับการทำงานที่คาดหวังให้คนทิ้งเรื่องส่วนตัวไว้บ้าน การมีบริการเลี้ยงดูเด็กเป็นเรื่องจำเป็น

Feminist mind รู้ว่ามีสองมาตรฐานในเรื่องเพศสำหรับชายหญิง ทำให้หญิง/ชายเผชิญกับปัญหาคนละแบบ ทุกข์คนละอย่าง หลายเรื่องไม่เป็นธรรม

Feminist mind ใส่ใจกับผลกระทบของเพศสภาพ และคิดถึงการจัดสรรทรัพยากรที่สอดคล้องกับบทบาทที่แตกต่างกันของชายหญิง ไม่ใช่ยึดผู้ชายเป็นแม่แบบในการกำหนดกติกาและนโยบาย

Feminist mind พร้อมจะเปลี่ยนจะปรับเพศสภาพ โดยไม่ยึดติดว่าความเป็นหญิงและความเป็นชายอย่างที่คุ้นเคยกันนี้ต้องอยู่คู่ฟ้าดิน

Feminist mind ไม่ใช่ Female chauvinism ไม่คลั่งหญิง ตั้งคำถามกับความไม่เป็นธรรมในระบบนิยมชาย และพร้อมจะต่อสู้กับการกดขี่รังแกทุกรูปแบบ