วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รัฐกับการหยุดเลือกปฏิบัติเพราะความหลากหลายทางเพศ

การเลือกปฏิบัติ หมายถึงการปฏิบัติต่อบุคคลอย่างมีอคติบนฐานของความเป็นสมาชิกกลุ่มอัตตลักษณ์ เช่น สีผิว ภาษา ศาสนา อายุ เพศสภาพ และเพศวิถี ฯลฯ ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเลือกหรือไม่ได้เลือกว่าจะสังกัดกลุ่มอัตตลักษณ์นั้นหรือไม่ องค์ประกอบหลักของการเลือกปฏิบัติเป็นเรื่องของการกีดกันหรือการจำกัดโอกาสและการเข้าถึงทรัพยากรและสิ่งที่สังคมให้คุณค่า อย่างการศึกษา การทำงาน การเลื่อยตำแหน่งหน้าที่ การมีบทบาทในระบบการเมือง ฯลฯ


การเลือกปฏิบัติเป็นปัญหาหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเราเชื่อว่าคนควรจะสัมพันธ์กันอย่างไร สำหรับพวกที่เชื่อในหลักการความเท่าเทียม ว่าพลเมืองของรัฐควรได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันโดยกฎหมาย มีสิทธิทางการเมืองเท่าเทียมกัน และมีโอกาสจะพัฒนาไปตามศักยภาพและในการแข่งขันเท่า ๆ กัน การเลือกปฏิบัติในฐานะอาการของความไม่เท่าเทียมเป็นปัญหาใหญ่


คนที่รับเอาหลักการเสรีนิยมว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียม และการมองรัฐในฐานะผู้คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิ อยากจะเห็นการหยุดเลือกปฏิบัติด้วยอำนาจรัฐ


ความเชื่อในความเท่าเทียมตามกฎหมาย สิทธิทางการเมือง และโอกาส ทำให้อาการปรากฏของการเลือกปฏิบัติเป็นปัญหา เพราะสะท้อนความไม่เท่าเทียม


ภาพรัฐในฐานะผู้ปกป้องสิทธิเสรีภาพของพลเมือง (รัฐไทยยังไม่เป็นเช่นนั้นแต่หลายคนผลักดันให้เป็น) ทำให้การเลือกปฏิบัติโดยรัฐกลายเป็นปัญหา


รัฐสมัยใหม่มีจินตภาพของพลเมืองเพื่อการจัดระเบียบ ควบคุม และการจัดสรรบริการสาธารณะ การมองพลเมืองว่าเป็นหญิงหรือชายเท่านั้น ทำให้รัฐไม่รู้จะทำอย่างไรและไม่ให้ที่ทางกับคนที่ไม่ใช่หญิงหรือไม่ใช่ชาย และไม่ยอมให้คนเลือกที่จะเป็นหรือเปลี่ยนเพศสภาพตามความต้องการ


รัฐมองว่าพลเมืองหญิงชายมีรสนิยมแบบรักต่างเพศ และมีรูปแบบการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวแบบผัว-เมีย/ พ่อ-แม่-ลูก ทำให้มองไม่เห็นความหลากหลายของตัวตนและวิถีชีวิตทางเพศสภาพและเพศวิถี


ภาพของพลเมืองที่จำกัดนี้ทำให้รัฐบังคับ คุ้มครอง และให้บริการพลเมืองไม่เท่ากัน

รัฐไทยคุ้มครองเมียหลวง ไม่รับรองเมียน้อย (แต่กลับรับรองลูกที่เกิดจากเมียน้อยหรือเซ็กส์นอกสมรส)


รัฐคุ้มครองสิทธิเรื่องการจัดการทรัพย์สินและการให้บริการสาธารณะสำหรับผัวเมีย รัฐช่วยผัวเมียที่ให้รัฐรับรองการแต่งงานตามกฎหมายเลี้ยงลูกผ่านระบบภาษีและการให้บริการสาธารณะ คนที่มีวิถีทางเพศต่างไปจากนี้มากบ้างน้อยบ้าง ไม่ได้การคุ้มครอง บริการ หรือสิทธิประโยชน์แบบเดียวกัน


รัฐไทยมีแนวโน้มของการสอดส่องดูแล กำกับและจัดระเบียบวิถีทางเพศของคน มากกว่าจะเป็นรัฐใจดีโอบอุ้มให้คนใช้เสรีภาพได้เต็มที่ เพราะมีภาพพลเมืองไม่สะท้อนความหลากหลาย


รัฐจัดระเบียบไม่เป็นปัญหาถ้าคนเชื่อว่าการรักษาระเบียบเป็นหน้าที่หลักของรัฐ แต่ไม่เวิร์คเมื่อคนหวังให้รัฐเคารพและส่งเสริมเสรีภาพพลเมือง


ความหลากหลายของวิถีทางเพศบวกกับความคาดหวังให้รัฐสนับสนุนเสรีภาพและความเท่าเทียมทำให้หลายคนไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติโดยรัฐบนฐานเรื่องเพศ

II

คนไทยจำนวนไม่น้อยชื่นชอบและยึดมั่นกับแนวคิดเก๋ ๆ อย่างประชาธิปไตย (แบบเสรีนิยม) มองโลกและพูดจาด้วยหลักการและภาษาของเสรีนิยมอย่าง สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียม คนที่เชื่ออะไรประมาณนี้ร่วมกันผลักดันรัฐให้รับรอง เคารพ และเสริมสร้างเสรีภาพของพลเมืองและความเท่าเทียมอย่างแข็งขัน

คนไทยหลายกลุ่มคาดหวังให้รัฐทำหน้าที่รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม โดยเฉพาะกติกาและศีลธรรมอันดีงาม คนที่เรียกร้องประมาณนี้อยากเห็นรัฐกำกับดูแลให้ทุกคนทำตามกรอบกติกาทั้งหลายทั้งปวงอย่างเข้มงวด อย่าปล่อยให้พลมืองทำตามความพอใจในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องส่วนตัว คนเกิดสภาพไร้ระเบียบวุ่นวาย

ความคาดหวังทั้ง 2 นี้ดูเหมือนขัดแย้งกัน แต่ไม่น่าเชื่อว่าบางคนคาดหวังทั้ง 2 อย่างคือ อยากเห็นประชาธิปไตยทางการเมือง แต่อยากให้รัฐประชาธิปไตยที่ตนอยากเห็นรักษาความเป็นระเบียบของสังคมการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องความประพฤติและวิถีชีวิตส่วนตัวของพลเมืองอย่างเรื่องเพศสภาพและเพศวิถี

คงเพราะอย่างนี้การเรียกร้องประชาธิปไตยในฐานะระบบการเมืองและการจัดความสัมพันธ์ทางการเมืองของหลาย ๆ คนจึงจำกัดอยู่เพียงเรื่องสิทธิทางการเมือง อย่างการเลือกตั้งและการด่าทอรัฐบาล แต่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นสิทธิเสรีภาพในเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศ ดูเหมือนสิทธิเสรีภาพจะถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่สาธารณะเท่านั้น ในเรื่องส่วนตัวทุกคนควรประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรม การกระทำและความสัมพันธ์ของคนในเรื่องส่วนตัวถูกประเมินความถูกต้องเหมาะสมจากมาตรฐานทางศีลธรรมของสังคมมากกว่าความพึงพอใจของคน

คำถามก็คือสังคมไทยจะรับเสรีภาพเพียงบางเรื่องหรือมุมแคบ ๆ เท่านั้น หรือจะรับทุกแง่มุมของเสรีภาพ รวมทั้งหลาย ๆ มุมที่เราไม่ชอบ?

คนที่เรียกร้องให้คนอื่นรับรู้และเข้าใจทุกข์ของฉัน เรียกร้องการมีที่ยืนอยู่ในสังคม แต่ไม่ยอมเห็นหรือฟังคนอื่น จะทำให้ความเป็นประชาธิปไตยที่หลายคนสู้ตายเพื่อให้ได้มาหน้าตาเป็นอย่างไร?

เสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยน่าจะมีความหมายต่อชีวิตทางสังคมการเมืองของคนมากที่สุด เมื่อคนสามารถสื่อสารทุกข์ของตนให้ผู้อื่นได้รับรู้และร่วมกันคิดเพื่อจะจัดการกับปัญหาของคนกลุ่มต่าง ๆ ร่วมกัน?

เสรีภาพปรากฏเป็นจริงสำหรับเราแต่ละคนเมื่อเราได้พูดเมื่ออยากพูดในเรื่องที่อยากพูด โดยไม่ถูกปิดปากหรือตำหนิติเตียนว่าเรื่องนี้สำคัญน้อยหรือไร้สาระ

ผู้รักประชาธิปไตยน่าจะเห็นการเปิดพื้นที่ให้ความหลากหลาย เรียนรู้จะอยู่กับความหลากหลาย (โดยไม่จำเป็นต้องรักกัน) และเปิดให้คนคิด-พูด-เป็นอย่างที่เชื่อและปรารถนาตราบเท่าที่เขาไม่ไปละเมิดเสรีภาพของใคร แม้ว่าคนนั้นจะมีตัวตนและวิถีชีวิตทางเพศในรูปแบบที่เราไม่ชอบก็ตาม

อะไรที่ไม่ชอบเราก็ไม่ต้องทำ แต่ปล่อยให้คนอื่นทำในสิ่งที่เขาชอบได้หรือไม่? ทำไมจึงเอาความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่เรายึดมั่นเพียงเพราะเราคุ้นเคยหรือทำให้เรารู้สึกมั่นคง ไปโยนใส่ผู้อื่นและบังคับให้เขาประพฤติอย่างที่จะทำให้เราเป็นสุขและมั่นคง?

การอยู่กับเสรีภาพที่ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของเรา แต่เคารพในเสรีภาพของผู้อื่นด้วยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การรับเอาหลักเสรีภาพแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เพื่อตามใจตนเองเท่านั้นยิ่งหล่อเลี้ยงความขัดแย้งบาดหมางระหว่างผู้คนในสังคมหรือไม่?

ข้อถกเถียงประการสำคัญอีกประการหนึ่งคือ สิทธิความหลากหลายทางเป็นหลักการแบบฝรั่ง คนไม่เห็นด้วยบอกว่าเราไม่ควรจะเลียนแบบฝรั่ง คำถามที่ตามมาคือแล้วประชาธิปไตย เสรีภาพ และอื่น ๆ ในทางการเมืองไม่เป็นฝรั่งหรือ? ความเชื่อเรื่องเพศที่จำกัดเซ็กส์ในการแต่งงานแบบผัวเดียว-เมียเดียว หรือภาพของครอบครัวสุขสันต์แบบพ่อ-แม่-ลูก ที่หลายคนยึดมั่นและให้ค่า ก็นำเข้าและเลียนแบบฝรั่งทั้งสิ้น

ถ้าจะไม่เลียนแบบฝรั่ง โดยย้อนกลับไปหารากเหง้าเดิมในอดีตของคนที่อยู่ในบริเวณสุวรรณภูมิก่อนที่บรรพบุรุษของหลายคนจะอพยพมาถึง จะเห็นจากหลักฐานข้อมูลแสดงให้เห็นการเปิดพื้นที่ให้ความหลากหลายทางเพศอยู่มากและไม่ได้บังคับอย่างเอาเป็นเอาตาย

คนสยามมีมากกว่า 2 เพศสภาพและไม่ได้จำกัดเรื่องเพศไว้ในสถาบันการแต่งงานอย่างเข้มงวด ฯลฯ

ถ้าจะทำตามรากเดิมของคนแถวนี้ก็ต้องเปิดรับความหลากหลายทางเพศมากกว่า?

ขอจบดื้อ ๆ ด้วยประการฉะนี้....