วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

จุดเปลี่ยนเรื่องเพศประเทศไทย -- ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

จุดเปลี่ยนเรื่องเพศประเทศไทย

หัวข้อการอภิปรายนี้สื่อว่ามีการเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศสภาพ/เพศวิถีในสังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่คนอาจเห็นต่างกันได้ว่า
เรื่องเพศเปลี่ยนไปหรือไม่ ประสบการณ์ของบางคนอาจทำให้รู้สึกหรือเข้าใจไปได้ว่าเรื่องเพศไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่วนอยู่กับที่

เป็นไปได้หรือไม่ว่าเราจะมองไม่เห็นหรือไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเพศสภาพ/เพศวิถี การเปลี่ยนแปลงหลายแง่มุมในเรื่องเพศเป็นผลของการสะสมความรู้ การต่อสู้ผลักดันและการโต้เถียงที่เมื่อถึงจุดหนึ่งกลายเป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นตาตื่นใจ ในขณะที่บางเรื่องที่ดูเหมือนจะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ แท้ที่จริงมีการเปลี่ยนในรายละเอียดหรือในระดับประสบการณ์และการเห็นโลกของคนไปมาก

การเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศสภาพ/เพศวิถีในสังคมการเมืองไทยอาจไม่ใช่อะไรที่เห็นได้ชัด หรือตรงไปตรงมานัก

การอภิปรายนี้แกะรอยความต่อเนื่อง/เปลี่ยนแปลงเรื่องเพศในสังคมไทยใน 4 ประเด็น

• เสียงแบบกระแสหลักที่พูดผ่านสื่อและจนท.รัฐ
   การประสานเสียงว่าด้วยเรื่องเพศที่ถูกต้องในลักษณะเดียวกัน ทำให้เกิดภาพลวงตาของความไม่เปลี่ยนแปลงที่ทำให้คนทำงานประเด็นเพศวิถีหลายคนท้อใจ
   แง่มุมที่น่าสนใจของเสียงแบบกระแสหลักได้แก่
   - การเรียกร้อง/ปลูกฝัง/ตอกยำ้ความชัดเจนของความเป็นหญิง-ชาย การจำกัดเรื่องเพศที่ถูกต้องไว้ในการแต่งงานแบบผัวเดียว-เมียเดียว การจัดให้วิถีทางเพศแบบรักต่างเพศ (Heterosexuality) เป็นเรื่องปกติเพยงรูปแบบเดียว และการให้ค่ากับการ "รักนวล" แบบไม่เปิดเผยเนื้อตัวร่างกายหรือยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศนอกสมรส ดูจะเป็นประเด็นหลักที่สื่อกระแสหลักและรัฐสนับสนุนส่งเสริม
   - การใช้เรื่องเพศนอกกรอบโจมตีกันในทางการเมือง กลายเป็นความคล้ายคลึงของการเมืองต่างสี เราได้เห็นการโจมตีศัตรูทางการเมืองโดยหยิบยกวิถีชีวิตทางเพศหรือพฤติหรรมทางเพศมาประณามหรือลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม เช่น การกล่าวถึงความเป็นคนข้ามเพศ/รักเพศเดียวกัน โดยสถาปนาให้นักการเมืองบางคนเป็นเจ๊ หรือการใช้พลังของการนินทาโดยกล่าวอ้างเรื่องความสัมพันธ์ซ้อน ใครเป็นชู้กับใคร
   ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เข้าใจไปได้ว่าเพศวิถีกระแสหลักช่างทรงพลังและมั่นคง

• เสียงวิพากษ์และการโต้เถียง/โต้แย้งเพศวิถีกระแสหลักที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลัก/กระแสรอง
   แม้ว่าเพศวิถีกระแสหลักจะถูกนำเสนอต่อเนื่องและเป็นฐานของการตัดสินถูกผิดในเรื่องเพศหรือการกดดันประณาม คนหลายกลุ่มไม่ยอมให้มีการผูกขาดการชี้ถูกผิดหรือรูปแบบความเหมาะสมทางเพศ เราได้เห็นการตั้งคำถามกับกระแสการตัดสินเรื่องเพศในละคร (ดอกส้มสีทอง) พฤติกรรมทางเพศของดารา (ฟีล์ม-แอนนี่) การตัดสินเรื่องเพศของพิธีกร (Woody) การแก้ผ้าเล่นสงกรานต์
   เราตั้งคำถามกับการตัดสิน/ประณาม เราชวนคิดถึงฐานคติเรื่องเพศของคน เราตั้งคำถามกับอาการ sex panic/ ความกลัวเซ็กส์ของคนบางกลุ่มในสังคม
   มีการตั้งข้อสังเกตต่อเนื่องเกี่ยวกับการบีบบังคับ เบียดขับ และรุมประณามผู้คนบนฐานของตัวตนและวิถีชีวิตทางเพศ หลายคนเรียกร้องการเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิดในเรื่องเพศ
   คำถามก็คือการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้หมายถึงอะไรเราพยายามจะเปลี่ยนอะไร? 
   เป็นไปได้หรือไม่ว่าการทำงานทางวิชาการ กึ่งวิชาการ และการเคลื่อนไหวทางสังคม ในประเด็นเพศวิถี เป็นเรื่องของการตั้งคำถามกับการให้ค่า การตัดสินเรื่องเพศ การผูกขาดความถูกต้อง ไม่ใช่การทำให้คนเปลี่ยนมาคิดเหมือนกัน เช่นมองเรื่องเพศทางบวกหรือลบเหมือนกัน แต่เป็นการทำให้คนเห็นต่างโดยไม่รู้สึกผิดหรือตำ่ต้อย 
   ไม่มีการมองเรื่องเพศแบบไหนที่ดีไปกว่ากัน ถ้าไม่ละเมิดกัน/ ไม่รังแกคนอื่น

• การเรียกร้องการรับรอง/คุ้มครองจากรัฐโดยขบถทางเพศ
   ความสำเร็จในบางเรื่อง?เราได้เห็นการจัดที่ทางที่ทางของเรื่องเพศนอกกรอบในพื้นที่สาธารณะ - การจัดพท.เฉพาะ เช่น LGBT ในแวดวงความสวยงามและบันเทิง ให้ภาพของการยอมรับ?
   รัฐไทยยอมถอยในบางเรื่อง เช่นกรณีศาลปกครองกับสด.43
   ที่น่าสนใจคือเราได้เห็นร่องรอยของการทำงานทางปัญญาที่เป็นฐานการต่อสู้เชิงนโยบาย เช่นประเด็นเพศสภาพและระบบสองเพศสภาพอย่างเคร่งครัด ความจำกัดของเพศวิถีกระแสหลัก และการกำกับโดยอำนาจที่แยบยล 
   การทำงานทางวิชาการ การเคลื่อนไหวทางสังคมเพืื่อนำเสนอประเด็นปัญหาเฉพาะเหล่านี้ทำให้เกิดคำอธิบาย ชุดเหตุผล ภาษา ที่ขบถทางเพศใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ และเป็นตัวช่วยของรัฐและคนในรัฐในการทำความเข้าใจประสบการณ์และวิืถีชีวิตทางเพศที่หลากหลายของคนในสังคม กลายเป็นฐานในการคุ้มครอง รับรองสิทธิ และเพิ่มพูนเสรีภาพในการจัดการชีวิตของตนเองให้กับพลเมือง
   การเขียน ทำวิจัย เปิดวงโต้เถียง รณรงค์สร้างความเข้าใจ ฯลฯ ที่ดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจหรือมีผลกระทบทันที กลายเป็นฐานการเปลี่ยนแปลงหลายประการได้เมื่อถึงเวลาหนึ่ง การทำงานในเรื่องเพศวิถีจึงไม่ได้สูญเปล่า

• การสร้างพท.และเครือข่ายเพื่อสนับสนุนทางเลือก วิถีชีวิต
   หลายกลุ่มไม่รอความเมตตาจากรัฐ แต่สร้างเครือข่ายเพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ปัญหา และความทุกข์จากแง่มุมต่างๆของเรื่องเพศ ชุมชนที่สนับสนุนเกื้อกูลกันและกัน หรือเห็นต่างกันได้อย่างสร้างสรรค์
   การเพิ่มทางเลือกให้กับคนในบางสถานการณ์ เช่น เครือข่ายท้องไม่พร้อม กระเทยไทย 
   กิจกรรมที่คนมองเห็นบ้างไม่เห็นบ้างเหล่านี้ สร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนและการเมืองของพลเมืองในการจัดการกับกิจกรรม/กิจการของตัวเอง นี่ไม่ใช่หรือที่เป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตยในความหมายของการปกครองโดยประชาชน การเพิ่มพูนความสามารถของคนในการนำเสนอปัญหาเฉพาะของตน การเข้าใจสถานการณ์ของตนเอง และการจัดการกับปัญหาร่วมกันของกลุ่มคนโดยไม่ต้องพึ่งพิงรัฐไปทุกเรื่อง

ทั้งหมดนี้คือจุดเปลี่ยนเรื่องเพศประเทศไทยที่มาจากการทำงานทางความคิด ทางใจและจิตวิญญาณของคนมากมาย หลายคนมาร่วมในการประชุมวิชาการเพศวิถีศึกษานี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น