เราอยู่ในเวลาที่คนเชิดชูและต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพในการเลือกทางเลือกต่าง ๆ ในชีวิตของคน แต่กลับมีหลายเรื่องหลายราวที่คนหลายกลุ่มไม่ลังเลที่จะลดทอนเสรีภาพในการเลือกของคนอื่น โดยเฉพาะในเรื่องส่วนตัวที่ไม่ถูกมองเห็นหรือจัดว่าเป็นประเด็นทางการเมือง
ตัวอย่างโหด ๆ และสุดแสนอมตะของการเบียดขับเสรีภาพในอาณาบริเวณส่วนตัว ได้แก่การเลือกทางเลือกของคนที่เผชิญสถานการณ์ “ท้องไม่พร้อม”
ปรากฏการณ์ “ท้องไม่พร้อม” ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 2 ประการคือ “การท้อง” และ “ความไม่พร้อม” ซึ่งมีแง่มุมน่าคิดว่าด้วยการเลือกและความสามารถในการเลือกของมนุษย์หลายประการ
การท้องของคนประกอบด้วยขั้นตอนที่ต้องอาศัยการตัดสินใจอยู่หลายขั้น
· การเลือกว่าจะท้องหรือไม่ และท้องกับใคร วิวัฒนาการด้านการคุมกำเนิดเวลานี้มีประสิทธิภาพ สะดวกและราคาไม่สูงนัก แปลว่าเราอยู่ในเวลาที่คนควรจะเลือกได้ทุกครั้งการร่วมเพศว่าจะท้องหรือไม่ท้อง แต่ก็ยังมีคนมากมายที่เผชิญสถานการณ์ “ท้องไม่พร้อม” โดยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือไม่รู้หรือเข้าไม่ถึงการคุมกำเนิด คำถามน่าคิดคือการรู้บ้าง/ไม่รู้บ้างหรือรู้ไม่เท่ากันว่าด้วยการคุมกำเนิดและเรื่องเพศที่ปลอดภัยนี้เป็นเพราะอะไร ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำที่ซับซ้อนอยู่แล้วของสังคมไทยอย่างไร
ความสามารถในการเลือกว่าจะท้องเมื่อไร กับใคร อย่างไร กระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้หญิงและคนที่เกี่ยวข้อง โดยแนวทางกระแสหลักแบบไทยที่เน้นการ “ห้าม + อั้น” คือบอกให้คนรอไปมีเซ็กส์และท้องเมื่อแต่งงานแล้วเท่านั้น ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตทางเพศของคนมากมาย และการแต่งงานก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะทำให้การท้องที่เกิดขึ้นมีความพร้อมไปทุกกรณี
ประเด็นชวนคิดคือ ทางเลือก/การได้เลือก/และความสามารถในการเลือกของคนไม่เท่ากันว่าด้วยการท้อง
· การเลือกว่าจะอุ้มท้องต่อไปเมื่อรู้ตัวว่าท้องหรือไม่ – หลายกรณีที่ “ท้อง” มาเจอกับ “ไม่พร้อม” ในขั้นตอนนี้
อะไรบ้างที่ทำให้การท้องเกิดสภาพ “ไม่พร้อม” – เป็นไปได้ตั้งแต่การท้องเป็นผลมาจากรูปแบบเรื่องเพศ “นอกกรอบ” ของเพศวิถีกระแสหลัก (ที่นิยามความถูกต้องเหมาะสมของเรื่องเพศอย่างเฉพาะเจาะจงว่า ต้องเกิดในสถาบันการแต่งงาน แบบผัวเดียว-เมียเดียว เพื่อการเจริญพันธุ์เท่านั้น) เช่น ท้องนอกสมรส ท้องในวัยเรียน ฯลฯ
เรื่องเพศนอกกรอบถูกจัดเป็นบาปผิดใหญ่หลวง พร้อมการประณามที่รุนแรงมหาโหดชนิดที่หลายคน “ตายทางสังคม” ได้ คนไทยจำนวนไม่น้อยนิยมประณามเรื่องเพศนอกกรอบทันทีโดยไม่ดูที่มาที่ไป หรือองค์ประกอบเฉพาะของแต่ละเรื่อง ทำให้การออกนอกกรอบเรื่องเพศที่เกิดร่องรอยให้คนรู้เห็นได้กลายเป็นเรื่องน่าหวาดหวั่นถึงเป็นถึงตายได้ การประณามเช่นนี้ปิดทางเลือกและการเข้าถึงความช่วยเหลือและบริการที่จำเป็นของคนจำนวนมาก
แต่ความไม่พร้อมจำนวนมากไม่ได้เป็นผลมาจากปัจจัยเดียว แต่เป็นการผสมปนเปของหลายเรื่องอย่างซับซ้อนและเฉพาะเจาะจงที่ไม่เหมือนกันในแต่ละคน ปัญหาความยากจนหรือข้อจำกัดทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักประการหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงมากมายเลือกจะไม่อุ้มท้องต่อไปจนคลอด แม้ว่าเธอจะแต่งงานมีสามีอยู่ด้วยสอดคล้องตามมาตรฐานเรื่องเพศที่ถูกต้องของสังคม
ความพร้อมในการตั้งท้องของหลายคนอาจจะเปลี่ยนเป็นความ “ไม่พร้อม” ได้เมื่ออายุครรภ์ผ่านไป เช่นหญิงบางคนตั้งใจจะท้องและมีลูก แต่ท้องไปได้พักหนึ่งเธอถูกปลดออกจากงานเพราะวิกฤตเศรษฐกิจที่กระทบโรงงานของเธอ หรือบางคนเกิดปัญหาในความสัมพันธ์รุนแรงมาก ๆ จนทำให้ความพร้อมแต่เดิมกลายเป็นความไม่พร้อมไปได้
น่าสนใจว่าสังคมไทยมองไม่เห็นภาพความไม่พร้อมของการท้องที่สลับซับซ้อน แต่ท่องคาถาแบบเดิม ๆ ว่าการท้องไม่พร้อมเป็นเรื่องของวัยรุ่นใจแตก โดยไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่า “ใจแตก” ที่ว่านั้นคืออะไร แท้ที่จริงซับซ้อนไม่แพ้ความไม่พร้อมของการท้องเลยทีเดียว
· คลอดแล้วจะเลี้ยงเด็กที่เกิดมาหรือไม่ อย่างไร – ความไม่พร้อมด้วยปัจจัยมากมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อาจทำให้หลายคนเลือกจะไม่เลี้ยงทารกที่จะเกิดมา เพราะภาระเรื่องการเลี้ยงเด็กถูกจัดให้เป็นของ “แม่” ที่คลอดออกมาเป็นหลัก ความไม่พร้อมจะเลี้ยงทำให้คนเลือกทำอะไรได้หลายอย่าง ตั้งแต่ส่งต่อให้ครอบครัวของตัวเองเลี้ยงให้ไปจนถึงการทิ้งเด็ก ประเด็นเรื่องความไม่พร้อมของการท้องที่ทำให้ไม่พร้อมจะเลี้ยงเด็กด้วยนี้ สะท้อมการขาดความสามารถในการเลือกของคนตั้งท้องในขั้นตอนก่อนหน้านี้ด้วย
“ความไม่พร้อม” ที่มาประกอบกับการตั้งท้องของคนในหลายกรณี เป็นผลของปัจจัยมากมายทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การประณามและกดดันเรื่องเพศนอกกรอบ การกล่อมเกลาให้คนไม่ตระหนักรู้เกี่ยวกับความต้องการทางเพศรวมทั้งทางเลือกและความรับผิดชอบในทางเพศ การผลักภาระในเรื่องเพศและการเลี้ยงดูเด็กให้ผู้หญิง ฯลฯ
การคิดเรื่อง “ท้องไม่พร้อม” อย่างจริงจังจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในที่สุดแล้วรัฐและสังคมต้องรับภาระโดยตรงโดยอ้อมของสถานการณ์ท้องไม่พร้อมและการจำกัดทางเลือกของคน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ การเลี้ยงดูเด็ก และการจัดการกับปัญหาต่อเนื่องทางเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากคุณภาพของพลเมืองของรัฐที่จะตามมาในอนาคต ฯลฯ
กฎหมายและนโยบายที่อิหลักอิเหลื่อเกี่ยวกับทางเลือกเมื่อท้องไม่พร้อม อย่างการยุติการตั้งครรภ์ หรือข้อจำกัดเรื่องการเรียนหนังสือในโรงเรียน ทำให้ทางเลือกและการเลือกว่าจะจัดการกับสถานการณ์ท้องไม่พร้อมอย่างปลอดภัยของพลเมืองไทยไม่เท่าเทียมกัน เช่น คนจำนวนไม่น้อยเผชิญกับอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพอันเนื่องมาจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย
คำถามพื้นฐานที่น่าคิดคือ การท้องประกอบด้วยขั้นตอนที่คนเลือกได้อยู่หลายขั้น ความไม่พร้อมมีองค์ประกอบเฉพาะเจาะจงในแต่ละกรณี ใครควรจะเป็นผู้เลือกว่าควรจะทำอะไร อย่างไร ในสถานการณ์ “ท้องไม่พร้อม” ถ้ารัฐและสังคมไทยจะทำหน้าที่เลือกให้พลเมืองในเรื่องนี้ ก็ต้องเตรียมบริการสาธารณะรองรับในขั้นตอนต่าง ๆ ของการท้อง คลอดลูก เลี้ยงลูก ซึ่งรัฐและสังคมเองไม่ยินดีที่จะทำ
สิ่งที่รัฐและสังคมไทยทำอย่างต่อเนื่องคือการจำกัดทางเลือกหลายทาง ทำให้การเข้าถึงทางเลือกที่ปลอดภัยเป็นไปได้ยากสำหรับคนหลายกลุ่ม การเป็นการสร้างและหล่อเลี้ยงความไม่เท่าเทียมในการเลือกของคนต่างชนชั้นต่างสถานะที่เผชิญสถานการณ์ท้องไม่พร้อม เพราะกำลังเงินและตำแหน่งแห่งที่ในสังคมทำให้บางคนเข้าถึงบริการที่ปลอดภัยได้ แต่คนอีกมากมายเข้าไม่ถึง
ในเวลาที่คนหลายกลุ่มในสังคมการเมืองนี้ให้ความสำคัญกับพลังอำนาจของพลเมือง เราน่าจะคิดใคร่ครวญถึงทางเลือกและความสามารถในการเลือกของพลเมืองที่เผชิญสถานการณ์ท้องไม่พร้อมด้วยเหตุและองค์ประกอบของชีวิตต่างกัน และถามตัวเองว่าในสถานการณ์เช่นนี้รัฐควรจะเลือกทางเลือกแทนพลเมือง เราแต่ละคนควรจะเลือกแทนคนอื่นผ่านการประณามโดยไม่ลืมหูลืมตาหรือไม่?
หรือเราควรจะเสริมสร้างพลังอำนาจของพลเมืองในการเลือกทางเลือกในง่มุมส่วนตัวยิ่งของเธอและเขา ถ้าเราให้คุณค่ากับเสรีภาพของคนอย่างจริงจัง
(ดัดแปลงมาจากบางส่วนของหนังสือ สิทธิ เพศ และกรรม: การโต้เถียงสาธารณะและทางเลือกเชิงนโยบายเรื่อง ‘ท้องไม่พร้อม’ ของ ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ที่อยู่ในขั้นตอนการตีพิมพ์)