วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

วิธีจัดการกับอาการอกหัก – รักคุด

วิธีจัดการกับอาการอกหัก – รักคุด (via @iHowTo แปลเก็บความแบบใส่สีสุด ๆ โดย @chalidaporn)

1. เศร้าให้สุด ๆ ก่อนตะเกียกตะกายขึ้นจากหลุมแห่งความเศร้าหมอง – เช่น ลางาน/ขาดเรียน กินไอติม, เค็ก และอะไรทั้งหลายที่ไม่พึงกินแต่กินแล้วเบิกบาน นอนทั้งวัน ร้องไห้น้ำตาไหลริน เป็นต้น

2. ยินดีและชื่นชมกับความเป็นมนุษย์ของตัวเอง การเปิดใจรักและอกหักคือลักษณะสำคัญและเป็นธรรมดาของความเป็นคน

3. หาคาถาประจำใจเอาไว้บอกตัวเองซ้ำ ๆ เวลาหวั่นไหว เช่น “แล้วความเศร้านี้ก็จะผ่านไป” “ฉันจะผ่านช่วงเวลานี้ไปได้แน่นอน” หรือ “อกหักดีกว่ารักไม่เป็น น้ำแห้วเย็น ๆ ดีกว่าน้ำเปล่า” เป็นต้น

4. เพื่อนมีไว้ให้พึ่ง ระบายความเศร้าเสียใจ หม่นหมองกับเพื่อนสนิทของเรา เวลาแบบนี้ทำให้ได้รู้ว่าใครเป็นเพื่อนที่ห่วงใยเรา

5. ดูหนังดูละครเพื่อดึงความสนใจของเราจากความเศร้าของตัวเอง ดูหนังตลกดีกว่านะ หนังผีหรือพวกไล่ฆ่ากันเลือดท่วมจอก็ไม่เลว

6. ทำตัวให้ยุ่งเข้าไว้ เช่น หาลูกหมาลูกแมว (หรือสัตว์อะไรก็ได้ที่พอจะเลี้ยงได้) มาเลี้ยง เรียนทำซาละเปาไส้พุทราจีน ฯลฯ

7. เดินไปข้างหน้า อย่าเหลียวหลัง เหลียวไปมองก็ไม่เห็นอะไรนอกจากจะเมื่อยคอ

8. “ทวิตรัก” ช่วยได้เสมอ ไปฝากคำถามไว้ได้ ยินดีตอบ


วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รัฐกับการหยุดเลือกปฏิบัติเพราะความหลากหลายทางเพศ

การเลือกปฏิบัติ หมายถึงการปฏิบัติต่อบุคคลอย่างมีอคติบนฐานของความเป็นสมาชิกกลุ่มอัตตลักษณ์ เช่น สีผิว ภาษา ศาสนา อายุ เพศสภาพ และเพศวิถี ฯลฯ ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเลือกหรือไม่ได้เลือกว่าจะสังกัดกลุ่มอัตตลักษณ์นั้นหรือไม่ องค์ประกอบหลักของการเลือกปฏิบัติเป็นเรื่องของการกีดกันหรือการจำกัดโอกาสและการเข้าถึงทรัพยากรและสิ่งที่สังคมให้คุณค่า อย่างการศึกษา การทำงาน การเลื่อยตำแหน่งหน้าที่ การมีบทบาทในระบบการเมือง ฯลฯ


การเลือกปฏิบัติเป็นปัญหาหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเราเชื่อว่าคนควรจะสัมพันธ์กันอย่างไร สำหรับพวกที่เชื่อในหลักการความเท่าเทียม ว่าพลเมืองของรัฐควรได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันโดยกฎหมาย มีสิทธิทางการเมืองเท่าเทียมกัน และมีโอกาสจะพัฒนาไปตามศักยภาพและในการแข่งขันเท่า ๆ กัน การเลือกปฏิบัติในฐานะอาการของความไม่เท่าเทียมเป็นปัญหาใหญ่


คนที่รับเอาหลักการเสรีนิยมว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียม และการมองรัฐในฐานะผู้คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิ อยากจะเห็นการหยุดเลือกปฏิบัติด้วยอำนาจรัฐ


ความเชื่อในความเท่าเทียมตามกฎหมาย สิทธิทางการเมือง และโอกาส ทำให้อาการปรากฏของการเลือกปฏิบัติเป็นปัญหา เพราะสะท้อนความไม่เท่าเทียม


ภาพรัฐในฐานะผู้ปกป้องสิทธิเสรีภาพของพลเมือง (รัฐไทยยังไม่เป็นเช่นนั้นแต่หลายคนผลักดันให้เป็น) ทำให้การเลือกปฏิบัติโดยรัฐกลายเป็นปัญหา


รัฐสมัยใหม่มีจินตภาพของพลเมืองเพื่อการจัดระเบียบ ควบคุม และการจัดสรรบริการสาธารณะ การมองพลเมืองว่าเป็นหญิงหรือชายเท่านั้น ทำให้รัฐไม่รู้จะทำอย่างไรและไม่ให้ที่ทางกับคนที่ไม่ใช่หญิงหรือไม่ใช่ชาย และไม่ยอมให้คนเลือกที่จะเป็นหรือเปลี่ยนเพศสภาพตามความต้องการ


รัฐมองว่าพลเมืองหญิงชายมีรสนิยมแบบรักต่างเพศ และมีรูปแบบการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวแบบผัว-เมีย/ พ่อ-แม่-ลูก ทำให้มองไม่เห็นความหลากหลายของตัวตนและวิถีชีวิตทางเพศสภาพและเพศวิถี


ภาพของพลเมืองที่จำกัดนี้ทำให้รัฐบังคับ คุ้มครอง และให้บริการพลเมืองไม่เท่ากัน

รัฐไทยคุ้มครองเมียหลวง ไม่รับรองเมียน้อย (แต่กลับรับรองลูกที่เกิดจากเมียน้อยหรือเซ็กส์นอกสมรส)


รัฐคุ้มครองสิทธิเรื่องการจัดการทรัพย์สินและการให้บริการสาธารณะสำหรับผัวเมีย รัฐช่วยผัวเมียที่ให้รัฐรับรองการแต่งงานตามกฎหมายเลี้ยงลูกผ่านระบบภาษีและการให้บริการสาธารณะ คนที่มีวิถีทางเพศต่างไปจากนี้มากบ้างน้อยบ้าง ไม่ได้การคุ้มครอง บริการ หรือสิทธิประโยชน์แบบเดียวกัน


รัฐไทยมีแนวโน้มของการสอดส่องดูแล กำกับและจัดระเบียบวิถีทางเพศของคน มากกว่าจะเป็นรัฐใจดีโอบอุ้มให้คนใช้เสรีภาพได้เต็มที่ เพราะมีภาพพลเมืองไม่สะท้อนความหลากหลาย


รัฐจัดระเบียบไม่เป็นปัญหาถ้าคนเชื่อว่าการรักษาระเบียบเป็นหน้าที่หลักของรัฐ แต่ไม่เวิร์คเมื่อคนหวังให้รัฐเคารพและส่งเสริมเสรีภาพพลเมือง


ความหลากหลายของวิถีทางเพศบวกกับความคาดหวังให้รัฐสนับสนุนเสรีภาพและความเท่าเทียมทำให้หลายคนไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติโดยรัฐบนฐานเรื่องเพศ

II

คนไทยจำนวนไม่น้อยชื่นชอบและยึดมั่นกับแนวคิดเก๋ ๆ อย่างประชาธิปไตย (แบบเสรีนิยม) มองโลกและพูดจาด้วยหลักการและภาษาของเสรีนิยมอย่าง สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียม คนที่เชื่ออะไรประมาณนี้ร่วมกันผลักดันรัฐให้รับรอง เคารพ และเสริมสร้างเสรีภาพของพลเมืองและความเท่าเทียมอย่างแข็งขัน

คนไทยหลายกลุ่มคาดหวังให้รัฐทำหน้าที่รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม โดยเฉพาะกติกาและศีลธรรมอันดีงาม คนที่เรียกร้องประมาณนี้อยากเห็นรัฐกำกับดูแลให้ทุกคนทำตามกรอบกติกาทั้งหลายทั้งปวงอย่างเข้มงวด อย่าปล่อยให้พลมืองทำตามความพอใจในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องส่วนตัว คนเกิดสภาพไร้ระเบียบวุ่นวาย

ความคาดหวังทั้ง 2 นี้ดูเหมือนขัดแย้งกัน แต่ไม่น่าเชื่อว่าบางคนคาดหวังทั้ง 2 อย่างคือ อยากเห็นประชาธิปไตยทางการเมือง แต่อยากให้รัฐประชาธิปไตยที่ตนอยากเห็นรักษาความเป็นระเบียบของสังคมการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องความประพฤติและวิถีชีวิตส่วนตัวของพลเมืองอย่างเรื่องเพศสภาพและเพศวิถี

คงเพราะอย่างนี้การเรียกร้องประชาธิปไตยในฐานะระบบการเมืองและการจัดความสัมพันธ์ทางการเมืองของหลาย ๆ คนจึงจำกัดอยู่เพียงเรื่องสิทธิทางการเมือง อย่างการเลือกตั้งและการด่าทอรัฐบาล แต่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นสิทธิเสรีภาพในเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศ ดูเหมือนสิทธิเสรีภาพจะถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่สาธารณะเท่านั้น ในเรื่องส่วนตัวทุกคนควรประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรม การกระทำและความสัมพันธ์ของคนในเรื่องส่วนตัวถูกประเมินความถูกต้องเหมาะสมจากมาตรฐานทางศีลธรรมของสังคมมากกว่าความพึงพอใจของคน

คำถามก็คือสังคมไทยจะรับเสรีภาพเพียงบางเรื่องหรือมุมแคบ ๆ เท่านั้น หรือจะรับทุกแง่มุมของเสรีภาพ รวมทั้งหลาย ๆ มุมที่เราไม่ชอบ?

คนที่เรียกร้องให้คนอื่นรับรู้และเข้าใจทุกข์ของฉัน เรียกร้องการมีที่ยืนอยู่ในสังคม แต่ไม่ยอมเห็นหรือฟังคนอื่น จะทำให้ความเป็นประชาธิปไตยที่หลายคนสู้ตายเพื่อให้ได้มาหน้าตาเป็นอย่างไร?

เสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยน่าจะมีความหมายต่อชีวิตทางสังคมการเมืองของคนมากที่สุด เมื่อคนสามารถสื่อสารทุกข์ของตนให้ผู้อื่นได้รับรู้และร่วมกันคิดเพื่อจะจัดการกับปัญหาของคนกลุ่มต่าง ๆ ร่วมกัน?

เสรีภาพปรากฏเป็นจริงสำหรับเราแต่ละคนเมื่อเราได้พูดเมื่ออยากพูดในเรื่องที่อยากพูด โดยไม่ถูกปิดปากหรือตำหนิติเตียนว่าเรื่องนี้สำคัญน้อยหรือไร้สาระ

ผู้รักประชาธิปไตยน่าจะเห็นการเปิดพื้นที่ให้ความหลากหลาย เรียนรู้จะอยู่กับความหลากหลาย (โดยไม่จำเป็นต้องรักกัน) และเปิดให้คนคิด-พูด-เป็นอย่างที่เชื่อและปรารถนาตราบเท่าที่เขาไม่ไปละเมิดเสรีภาพของใคร แม้ว่าคนนั้นจะมีตัวตนและวิถีชีวิตทางเพศในรูปแบบที่เราไม่ชอบก็ตาม

อะไรที่ไม่ชอบเราก็ไม่ต้องทำ แต่ปล่อยให้คนอื่นทำในสิ่งที่เขาชอบได้หรือไม่? ทำไมจึงเอาความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่เรายึดมั่นเพียงเพราะเราคุ้นเคยหรือทำให้เรารู้สึกมั่นคง ไปโยนใส่ผู้อื่นและบังคับให้เขาประพฤติอย่างที่จะทำให้เราเป็นสุขและมั่นคง?

การอยู่กับเสรีภาพที่ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของเรา แต่เคารพในเสรีภาพของผู้อื่นด้วยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การรับเอาหลักเสรีภาพแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เพื่อตามใจตนเองเท่านั้นยิ่งหล่อเลี้ยงความขัดแย้งบาดหมางระหว่างผู้คนในสังคมหรือไม่?

ข้อถกเถียงประการสำคัญอีกประการหนึ่งคือ สิทธิความหลากหลายทางเป็นหลักการแบบฝรั่ง คนไม่เห็นด้วยบอกว่าเราไม่ควรจะเลียนแบบฝรั่ง คำถามที่ตามมาคือแล้วประชาธิปไตย เสรีภาพ และอื่น ๆ ในทางการเมืองไม่เป็นฝรั่งหรือ? ความเชื่อเรื่องเพศที่จำกัดเซ็กส์ในการแต่งงานแบบผัวเดียว-เมียเดียว หรือภาพของครอบครัวสุขสันต์แบบพ่อ-แม่-ลูก ที่หลายคนยึดมั่นและให้ค่า ก็นำเข้าและเลียนแบบฝรั่งทั้งสิ้น

ถ้าจะไม่เลียนแบบฝรั่ง โดยย้อนกลับไปหารากเหง้าเดิมในอดีตของคนที่อยู่ในบริเวณสุวรรณภูมิก่อนที่บรรพบุรุษของหลายคนจะอพยพมาถึง จะเห็นจากหลักฐานข้อมูลแสดงให้เห็นการเปิดพื้นที่ให้ความหลากหลายทางเพศอยู่มากและไม่ได้บังคับอย่างเอาเป็นเอาตาย

คนสยามมีมากกว่า 2 เพศสภาพและไม่ได้จำกัดเรื่องเพศไว้ในสถาบันการแต่งงานอย่างเข้มงวด ฯลฯ

ถ้าจะทำตามรากเดิมของคนแถวนี้ก็ต้องเปิดรับความหลากหลายทางเพศมากกว่า?

ขอจบดื้อ ๆ ด้วยประการฉะนี้....

วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

'นางร้าย' สไตล์ 'พิสมัย'

กำเนิด 'นางร้าย' -- "วนิดา" ใกล้จบ แต่หลายคนยังติดใจกับกระบวนการกลายเป็นนางร้ายของพิสมัย เธอร้ายเพราะรักมากไป?

นางร้ายมีหลายประเภท อย่างพิสมัยร้ายได้ใจเพราะทำตามกติกาความรักทุกประการ แต่ถูกฉกของรักไปแบบไม่คาดฝัน แถมคนฉกกลายเป็นนางเอกไปเสียอีก ปล่อยให้เธองงงันกับการแปรผันของสถานการณ์และใจคน

ผู้หญิงหลายรุ่นยึดถือและทำตามกติกาความรักประเภทชายรุกหญิงสนองและรักเดียวอย่างซื่อสัตย์ กว่าจะรู้ว่ากติกาไม่ลงโทษผู้ชายที่ไม่ทำตาม กติกาบังคับแต่ผู้หญิงแต่ไม่ได้ให้รางวัลน่าชื่นใจแก่หญิงดีเท่าไรนัก

นางร้ายประเภทถูกฉกของรักมักไม่โทษชายคนรัก เธอเข้าใจไม่ได้ว่าความรักมีเกิดมีดับเป็นธรรมดาโลก แต่มองผู้ท้าชิงเป็นนางมารทำลายความรักที่ต้องล้างผลาญให้วอดวายด้วยมาตรการด่าทอไปถึงไล่ตบ ไล่ยิงและสาดน้ำกรด

นางร้ายมักคิดว่าการสู้ยิบตากับคนไม่รักษากติกาเพื่อรักษาชายคนรักเป็นเรื่องชอบธรรม นางร้ายหลายคนมีผู้สนับสนุนและสมรู้ร่วมคิดในความร้ายมากมาย เพราะมองว่าเธอต่างหากที่ถูกรังแกจากการโดนแย่งคนรัก คนในสังคมจำนวนไม่น้อยจึงไม่ลังเลที่จะร่วมมือกับเธอเพื่อบีบบังคับให้ผู้ชายเลือกคนรักเก่าหรือเมียหลวง การร่วมมือกันร้ายนี้เป็นไปเพื่อการรักษากติกาเรื่องเพศให้อยู่ต่อไป

เมื่อถูกแย่งคนรัก หญิงที่ยอมกลืนน้ำตาไม่สู้กลายเป็นนางเอก พวกสู้ตายเพื่อรักษาชายคนรักแบบราวีไม่เลิกก็กลายเป็นนางร้ายไปอย่างพิสมัยไงคะ



วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

กายกรรมในธรรมศาสตร์

เป็นธรรมดาที่ประเด็นว่าด้วยทิศทางการเปลี่ยนแปลงของธรรมศาสตร์จะถูกผลักมาจากหลายทิศทางในขั้นตอนการสรรหาอธิการบดี อย่างเรื่องการขยาย/ย้ายป.ตรีไปรังสิตก็ถูกนำเสนอใหม่ หลายคนลืมไปว่าธรรมศาสตร์ไม่ได้มีสภาพของการยืนคล่อม 2 ที่ แต่ต้องกางขายืนเหยียบท่าพระจันทร์ รังสิต ลำปาง พัทยา เหมือนกายกรรมวิบาก เพราะการใช้บุคลลากรทำงานหลายที่พร้อมกัน

หลายคนที่เข้ามาร่วมโต้เถียงไม่รู้หรือลืมไปแล้วว่าเขาเคยโต้กันในประเด็นอะไรบ้าง จะกลับไปเถียงกันแบบเดิม ๆ ก็คงลำบากเพราะเวลาผ่านมาพอจะเห็นผลกระทบหลายประการทั้งเล็กและใหญ่ เลยอยากขอนำเสนอบางเรื่องให้ได้คิดและเถียงกันต่อ

ประเด็นที่คนธรรมศาสตร์นำเสนอในสื่อเป็นเรื่องการรวมศูนย์อำนาจที่สภามหาวิทยาลัย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลายประการของการจัดการสถาบันการศึกษา ที่รูปแบบการบังคับสั่งการทำให้เกิดการฝ่อทางปัญญาทั้งในเรื่องการสร้างความรู้และการจัดการเรียนการสอน แต่มีอีกหลายประเด็นที่ควรจะได้ร่วมกันคิดร่วมกันในเวลานี้ด้วย

ความกังวลหลายประการของผู้ไม่เห็นด้วยกับการย้ายป.ตรีทั้งหมดไปรังสิตในช่วงรอยต่อ 2 อธิการบดี (นริศ ชัยสูตร และ สุรพล นิติไกรพจน์) ปรากฏเป็นจริงอย่างรวดเร็ว เช่นการรับนักศึกษาป.ตรีได้ไม่เต็มจำนวนที่ธรรมศาสตร์สามารถรับเข้าเรียนได้ เพราะเด็กมัธยมสนใจจะเลือกคณะด้านสังคมศาสตร์ของธรรมศาสตร์น้อยลงกว่าเดิม น่าสนใจว่าแนวโน้มนี้จะเป็นเรื่องชั่วคราวของระยะเปลี่ยนผ่าน หรือหมายถึงการเปลี่ยนใหญ่ที่หลายคณะจะต้องดิ้นรนปรับรับ ฯลฯ

องค์ประกอบรวมของนักศึกษามธ.ที่เปลี่ยนไปเพราะการย้ายที่เรียน ทำให้เกิดคำถามว่าการเปลี่ยนนี้ถูกมองเห็นหรือไม่ และต้องมีการปรับรับเชิงหลักสูตรและเนื้อหาอย่างไรหรือไม่ ที่สำคัญยิ่งกว่าคือความเข้มแข็งทางวิชาการที่เกี่ยวกับ “เมือง” (วิถีชีวิต โลกทัศน์ การโต้เถียงสาธารณะ ฯลฯ) จะทำให้เราปรับรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้หรือไม่ เพราะดูเหมือนความรู้เรื่องเมืองและคนเมืองที่สะสมกันมายาวนานอาจจะไม่ตอบโจทย์ทิศทางใหญ่ที่มหาวิทยาลัยถูกผลักไปนัก

ฝั่งอาจารย์ที่รับผิดชอบดูแลหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนยังมีภาพฝันถึงคืนวันเมื่อครั้งตัวเองยังเป็นนักศึกษามธ. จึงพยายามจะคงรูปแบบหลายประการไว้ รวมทั้งการพยายามทำให้เด็กมัธยมที่เข้ามาสู่มธ.กลับไปมีคุณสมบัติเดิม ๆ อย่างที่ตัวเองเคยเป็น อย่างหนึ่งที่ท่านเหล่านี้ลืมไปคือ เมื่อครั้งตนเองยังเป็นนักศึกษามธ.จำนวนคนเรียนทั้งมหาวิทยาลัยน้อยกว่านี้หลายสิบเท่าตัว การให้นักศึกษาหลายพันเรียนหนังสือไปพร้อม ๆ กันเหมือนเมื่อครั้งยังอยู่ท่าพระจันทร์เดินไปเรียนวิชาพื้นฐานด้วยกันที่ศิลปศาสตร์ กลายเป็นการสร้างความโกลาหล และความแตกต่างในการจัดการของแต่ละวิชา จนดูเหมือนทิ้งขว้างเด็กอย่างไรอยู่

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับบุคคลากรทุกระดับให้เดินทางข้าม 3 จังหวัดไปปฏิบัติงานที่ศูนย์รังสิต (รวมทั้งเหาะเหินเดินอากาศไปลำปางและพัทยา) สร้างความเดือดร้อนในระดับต่าง ๆ กันให้คนในหน่วยงานต่าง ๆ กำลังความสามารถของคณะในการจัดการกับปัญเหล่านี้แตกต่างกัน จนทำให้ต้องตั้งคำถามว่าการปล่อยให้การจัดการย้ายที่ปฏิบัติงานเป็นเรื่องระดับคณะจะเป็นการซ้ำเติมความยากลำบากของบุคคลากรหลายกลุ่มที่ต่อรองไม่ได้หรือไม่

วิธีคิดราวกับว่าท่าพระจันทร์ – รังสิต (รวมทั้งศูนย์อื่น ๆ ของธรรมศาสตร์) ห่างกันเพียงหนึ่งป้ายรถเมล์ ทำให้ประเด็นการเดินทางกลายเป็นปัญหาสาหัสของคนจำนวนมาก ภาพผู้คนยืนรอรถตู้ (ที่ไม่รู้ว่าอีก 3 วันจะมาถึงไหม) เป็นแถวยาวเหยียดเกิดขึ้นซ้ำซาก เพราะความจำเป็นต้องวิ่งไปมาระหว่างศูนย์ต่าง ๆ ของธรรมศาสตร์ การไม่จัดการกับการขนส่งสาธารณะที่ดีพอเป็นปัญหาใหญ่ อาจมีคนเถียงว่าทำไมไม่ขับรถไปกันเอง (ราวกับว่าบุคคลากรของธรรมศาสตร์ทุกคนควรจะมีรถขับเอง) โดยลืมนึกไปว่าค่าน้ำมันในการเดินทางระยะไกลมากกว่าเงินเดือนของคนหลาย ๆ คนได้

คำแนะนำที่ว่าบุคคลากรควรย้ายไปอยู่รังสิตก็เป็นอะไรที่น่ามหัศจรรย์ เพราะจะให้เขาไปอยู่ที่ไหน ที่พักของมหาวิทยาลัยไม่ได้เพียงพอจะรองรับ ถ้าจะให้แต่ละคนดูแลตัวเอง ต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม และวิชาการก็สูงมากเกินกว่าที่คนธรรมศาสตร์จะแบกรับไหว

คนที่ใส่ใจกับความเป็นไปของธรรมศาสตร์จะช่วยกันบ่น-คิด-เถียงกันต่อก็ดี และจะดีมาก ๆ ถ้าไปชวนว่าที่อธิการคิดและเถียงในเรื่องเหล่านีได้...

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ท่าพระจันทร์ - รังสิต กับการเล่น "แม่งู" ในธรรมศาสตร์


ตัวเก็งอธิการบอกว่าจะย้ายการเรียนการสอนป.ตรี บางคณะ (ซึ่งน่าจะหมายถึง 8 คณะด้านสังคมศาสตร์) กลับมาท่าพระจันทร์ ใครที่สนใจประเด็นนี้น่าจะลองคิดต่อว่าการย้ายกลับหมายถึงอะไร การตัดสินใจในประเด็นนี้น่าจะคงข้อเสนอของฝ่ายค้านการย้ายไปรังสิตว่าด้วย "ไม่บังคับย้าย - ไม่บังคับอยู่" เพราะบางคณะอาจจะไม่ได้อยากกลับมาด้วยเหตุผลนานาประการ เช่นการขาดแคลนพื้นที่ เป็นต้น


ตอนย้ายไปอาศัยการบังคับ ทำให้เกิดปัญหาเพราะความไม่พร้อมและขาดความสามารถจะจัดการการเรียนการสอน 2 ที่ไปพร้อมกันในระดับคณะ เมื่อจะย้ายกลับก็น่าจะเปิดให้แต่ละคณะได้เลือกและจัดการตามความเหมาะสมเพื่อจะไม่สร้างปัญหาแบบเดิมหรือไม่?

ที่น่าคิดต่อคือจะทำอย่างไรกับโครงการพิเศษของคณะต่าง ๆ ที่ใช้พื้นที่ท่าพระจันทร์อยู่ ณ เวลานี้ โดยเฉพาะการใช้พื้นที่ของบางคณะที่แผ่ขยายมาใช้พื้นที่ส่วนกลางไปมาก (โดยหลักคิดน่าสนใจว่าออกสตางค์สร้างตึกใหม่เยอะ จึงต้องได้สิทธิใช้พื้นที่มากกว่าพวกคณะยาจกทั้งหลาย)

การย้ายไปมาระหว่างท่าพระจันทร์ - รังสิตน่าจะเปิดให้คนในประชาคมได้ร่วมคิดและร่วมเสนอด้วยหรือไม่? และน่าจะยืดหยุ่นพอที่จะโอบอุ้มความต่างของคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ของธรรมศาสตร์ เพื่อจะได้ไม่เกิดสภาพสับสนอลหม่านเหมือนวงเล่น "แม่งู" ขนาดใหญ่เมื่อครั้งต้องย้ายไปรังสิตรอบที่แล้ว

คนธรรมศาสตร์ไม่ได้คิดเหมือนกัน ปัญหาที่มีก็ต่างกัน หวังว่าท่านว่าที่อธิการจะทำให้ธรรมศาสตร์กลับมามีน้ำจิตน้ำใจ เพื่อจะเข้าใจ ไม่ซ้ำเติม และช่วยเหลือผู้คนที่ยากลำบากเพราะการโตแบบอิงตลาดของมหาวิทยาลัยในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา

โศกนาฏกรรมของธรรมศาสตร์


ปัญหาของการขยายตัวทุกทิศทางของธรรมศาสตร์ -- ขยายปริญญาตรี-โท-เอก และเพิ่มศูนย์รังสิต ลำปาง พัทยา -- เป็นการขยายแบบมหัศจรรย์คือใช้คนเกือบจะเท่าเดิมให้ทำทุกอย่างที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่แลกไปในการเติบโตแบบนี้คือคุณภาพการศึกษาและการผลิตความรู้โดยนักวิชาการของธรรมศาสตร์เอง เพราะแค่วิ่งพล่านในระยะทางไกล ๆ เพื่อสอนหนังสือก็ไม่เหลือแรงกายและสมองจะทำอะไรได้อีกมากนัก

เด็ก ๆ ป.ตรีที่รังสิตจะรู้บ้างไหมว่าความเหนื่อยของอาจารย์ที่วิ่งไปมาระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตรต่อวัน ทำให้สิ่งที่คนเรียนได้ไม่ใช่อะไรที่ดีที่สุดที่คนสอนหนังสือจะให้ได้ แต่เป็นซากที่หมดแรงแต่ใจสู้เพราะเห็นว่าอนาคตของธรรมศาสตร์แท้ที่จริงคือเด็กป.ตรีราคาถูกที่ถูกเฉดหัวไปอยู่รังสิต สำหรับอาจารย์หลาย ๆ คนการย้ายตามไปอยู่ปทุมธานีมีต้นทุนทางวิชาการ สังคม เศรษฐกิจ และชีวิตส่วนตัวเกินกว่าจะทำเช่นนั้นได้ มธ.จึงเป็นผีดิบที่ตายไปแล้วยังพิกลพิการอีกต่างหากเช่นนั้นเอง

คนที่แย่ยิ่งกว่าคือบรรดาข้าราชการสาย ค และลูกจ้าง ที่ไม่มีทางเลือก ต้องไปรังสิตตามบัญชา ทำให้สภาพของบุคคลากรของธรรมศาสตร์อ่อนล้าและอ่อนแรง

น่าสมเพทว่าคนของธรรมศาสตร์หลายคนออกไปต่อสู้เพื่อคนจนผู้ยากไร้ในสังคมไทยอย่างแข็งขัน แต่ไม่สามารถจะทำอะไรเพื่อปกป้องคนยากไร้ ไร้อำนาจต่อรองในมหาวิทยาลัยเองอีกมากมาย

เพราะเป็นศิษย์เก่าและเป็นอาจารย์ของธรรมศาสตร์ที่เคยสู้ไม่ถอยในประเด็นเหล่านี้จนถูกตั้งฉายาว่าเป็นนักหาเรื่องของมหาวิทยาลัย สภาพที่เห็นทำให้สลดใจอย่างสุด ๆ จริง ๆ ....


วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ระยะห่างกับการปรับใจ

@bgmong ห่างกันสักพัก ห่างแค่ไหนถึงจะพอครับ เพราะแต่ละคนกำหนดระยะห่างไม่เท่ากัน

@bgmong ปัญหาอยู่ที่การนิยามคำว่า"ห่าง"ของทั้งคู่ ระยะห่างของแต่ละคนกำหนดไว้ไม่เท่ากัน

ขึ้นอยู่กับว่าห่างเพื่ออะไร ถ้าห่างเพื่อปรับความสัมพันธ์โดยไม่คิดจะเลิกกันไปก็คงต้องตกลงกันให้ดีว่า การห่างกันแปลว่าอะไร อย่างไร และจะประเมินความสัมพันธ์ใหม่เมื่อห่างไปนานแค่ไหน ถ้าเข้าใจไม่ตรงกัน ความสัมพันธ์ที่เป็นปัญหาอยู่แล้วจะย่ำแย่ลงไปอีก

แต่ถ้าระยะห่างเป็นเพราะการตัดความสัมพันธ์ แปลว่าเราต้องการจะกอบกู้ใจเราเพื่อจะเดินไปจากความสัมพันธ์นั้น การไม่เจอ ไม่เห็นหรือรับรู้ความเป็นไปของกันและกัน เป็นวิธีการที่ได้ผลที่สุด แต่ต้องใช้เวลากว่าทุกอย่างจะคลาย

คำถามคือห่างกันแค่ไหนถึงจะพอ ถ้าการห่างกันเป็นเพราะจะตัดขาดความสัมพันธ์แบบเดิม ก็เอาตัวเราตั้งค่ะ ห่างแค่ไหน อย่างไร เราจึงจะไม่เจ็บปวดกับความเคยชินหรือความรู้สึกเดิม ๆ ไม่ต้องสนใจว่าอีกฝ่ายอยากจะใกล้จะห่างแค่ไหน เขาอาจจะอยากห่างไปเลยไม่พบเจอ (ถ้าเรายังตัดใจไม่ได้ ก็เซ็งอีก) หรือเขาไม่ยอมปล่อยให้เราห่าง ไม่ว่าจะอย่างไร ใจเราก็พัวพันกับคนนั้นไม่จบสิ้น

ระยะห่างที่ทำให้เราไม่ถูกกระตุ้นเร้าให้เจ็บปวดเป็นอะไรที่ดีที่สุด และไม่มีใครบอกได้ว่าคืออะไร อยู่ตรงไหน นอกจากตัวเราเองค่ะ อย่าเอาอีกคนหนึ่งเป็นตัวตั้งเพราะจะพัวพันไม่สิ้นสุดและตัดไม่ขาดเสียที

การจะตัดความสัมพันธ์ที่ทำให้เราไม่เป็นสุข วิธีการที่ดีที่สุดคือเดินหนีไปให้ห่างที่สุด ไม่ต้องรับรู้อะไร จะได้ไม่ต้องเจ็บไปเรื่อย ๆ ไง แล้ววันหนึ่งความรู้สึกเดิม ๆ ก็จะคลายไปค่ะ


วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553

สันติวิธีไม่แพ้ -- ถ้านักสันติวิธีไม่ยอมแพ้

พี่น้องที่สมาทานแนวทางสันติวิธีท้อใจกับความรุนแรงที่เกิดต่อเนื่องในสังคมไทย และได้บ่นผ่าน FB มาให้ได้รับรู้ เลยขอตัดต่อคำตอบในประเด็นนี้มาให้ช่วยกันคิดต่อเกี่ยวกับสันติวิธีและนักสันติวิธี...

ความรุนแรงหลายระลอกที่ทำให้เกิดการเจ็บการตายในสังคมไทย ทำให้พี่น้องที่สมาทานแนวทางสันติวิธีท้อถอย ท้อใจ คิดว่าสันติวิธีพ่ายแพ้ และเจ็บปวดกับความพ่ายแพ้นั้น

อย่าลืมว่านักสันติวิธีไม่ใช้ความรุนแรงแม้เมื่อถูกกระทำความรุนแรง โดยจะยอมแบกรับทุกข์นั้นไว้เอง การแบกรับทุกข์เป็นอะไรที่ต้องฝึก ความโกรธเป็นธรรมดาของมนุษย์ และที่โกรธก็เพราะตัวตนถูกกระแทกกระทั้น ยิ่งมองตัวตนของตัวเองใหญ่หรือสำคัญ ก็ยิ่งโกรธปี๊ดได้ง่าย ความโกรธยังมาจากความกลัวด้วย กลัวว่าจะถูกทำร้ายเลยต้องทำร้ายเขาก่อน

คำถามน่าจะอยู่ที่จะทำอย่างไรกับความโกรธของตัวเองต่างหาก เมื่อโกรธแล้วก็อย่ายึดอยู่กับความโกรธ หรือปล่อยให้ความโกรธผลักดันการกระทำ โกรธแล้วไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง

ส่วนคนที่ท้อแท้เพราะใช้สันติวิธีแล้วคนก็ไม่ยอมกัน ยังใช้ความรุนแรงต่อกัน ถ้าท้อสิ่งที่แพ้คือตัวคุณเอง ไม่ใช่สันติวิธี เพราะท้อใจก็เลยปล่อยมือจากสันติวิธี

อย่าคิดใน mode แบบโปรดสัตว์เลย คือคิดว่าฉันทำดี ทำไมพวกแกไม่สำนึก อะไรประมาณนั้น ถ้าคนเหล่านั้นจะใช้ความรุนแรงกัน เราอาจสลดใจ แต่ไม่ควรท้อถอย อย่าลืมว่านักสันติวิธียอมจะแบบรับทุกข์ของการกระทำความรุนแรงไว้เอง

การเป็นนักสันติวิธีไม่ได้แปลว่าเรากลายเป็น God ที่ทุกอย่างจะดีไปได้อย่างใจ หรือกำกับควบคุมทุกอย่างไปได้หมด เมื่ออะไรไม่เป็นอย่างใจ ก็น่าจะพยายามเข้าใจ สงบใจ และวางอุเบกขาเสียบ้าง

บางทีคำถามทั้งหมดนี้มีคำตอบเดียวกัน คือการฝึกใจและตัวตนของนักสันติวิธีเอง ใจอย่าวูบไหว หรือวูบก็อย่าสั่นอยู่นาน ส่วนตัวตนก็ฝึกทำให้มันเล็กเสียบ้าง บางครั้งก็ให้อ่อนนุ่มเพื่อจะโอบรับความต่างและโหดร้ายของคนไว้ให้ได้

วันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2553

ตัดใจแต่ทำไมไม่ขาด

@Nuttheera หลายๆครั้งที่เราคิดว่าเราสามารถตัดใจได้แล้ว แต่พอเห็นหน้า ความตั้งใจที่จะตัดใจก็หายไปหมดเลยค่ะ เบื่อตัวเองมาก

การเลิกหรือตัดขาดจากคนรักไม่ใช่เรื่องง่าย วิธีการที่จะช่วยให้ตัดใจได้ขาดสะบั้นทันทีคือมีแฟนใหม่ ทางเลือกนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

คนที่อยู่ในสถานการณ์ต้องตัดใจ ด้วยเหตุผลนานาประการไม่ว่าจะเป็นคนที่เรารักไม่รักเรา รักแต่พัฒนาความสัมพันธ์ไม่ได้ เคยรักแต่ไม่รักเราแล้ว ฯลฯ ต่างก็ยังรักคนรักที่จำต้องพรากอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ใยในใจที่ทำให้โหยหาคน ๆ นั้นมาตั้งแต่แรกยังคงอยู่และมักจะเหนียวดี เลยเกิดอาการตัดใจไม่ขาดให้ยิ่งทุกข์ทรมานหนักเข้าไปใหญ่

การตั้งใจว่าจะตัดใจแต่เพียงอย่างเดียว โดยยังต้องพบปะ เจอะเจอ คงไม่พอ เพราะการเจอกันทำให้ ใยในใจออกฤทธิ์กระตุ้นหรือหล่อเลี้ยงความโหยหาหรือความเคยชินเดิม ๆ

บางทีการหลีกเลี่ยงไม่เห็นหน้า ไม่พบปะ ไม่ยุ่งเกี่ยวไปพักใหญ่ ๆ ให้หลายอย่างในใจ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความหลง ความโกรธ คลายตัวลงมาก ๆ จนความผูกพันแบบเดิม ๆ ไม่หลงเหลืออยู่ จะดีกับใจคุณมากกว่านะค่ะ

อย่าไปเชื่อถ้าจะมีคนบอกว่าไม่รักกันแล้วก็ยังเป็นเพื่อนกันได้ คำพูดแบบนี้อาจจะจริงเมื่ออะไรในใจคลายไป แต่ไม่เวิร์คเลยถ้าหลายเรื่องยังคุกรุ่น

ถอยไปไกล ๆ เพื่อตั้งหลัก รักษาใจเราเอง เมื่ออะไรในใจจางหายไปหมดแล้วค่อยดูว่าจะวางคน ๆ นั้นไว้ในชีวิตเราอย่างไรค่ะ

อย่าเบื่อตัวเอง เพราะคนในสถานการณ์ต้องตัดใจก็เป็นแบบนี้ด้วยกันทั้งนั้น เขาไม่บอกคุณว่าเขาก็ทุกข์ทรมานเหมือนคุณเท่านั้นเอง


Check List รัฐประหาร -- อะไรทำให้ทหารยึดอำนาจรัฐ

Check List รัฐประหาร

การรัฐประหารได้รับความสนใจทางวิชาการน้อยลง เพราะไม่ค่อยจะมีใครทำให้ได้เห็นนัก หทารประเทศไหนที่ออกมายึดอำนาจมักจะถูกมองว่าอ ล้าหลัง-ไร้สมองอย่างไรอยู่ นักสังเกตการณ์ทางการเมืองหลายคนสรุปว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องพ้นยุคพ้นสมัย ฟันธงอย่างมั่นใจว่าไม่เกิดอีกแล้วอย่างแน่นอนในประเทศนี้ ทั้งที่ถูกหักปากกาเซียนโดยการยึดอำนาจของ รสช. (23 กุมภาพันธ์ 2534) และ คมช. (19 กันยายน 2549) มาแล้ว

การยึดอำนาจของทหารเคยเป็นประเด็นฮ๊อตในช่วงทศวรรษที่ 1970 – 1980 เมื่อความพยายามจะพัฒนาประชาธิปไตยในหลาย ๆ สังคมการเมืองล้มเหลว ทหารในหลายประเทศพากันเคลื่อนกำลังจากที่ตั้งออกมายึดอำนาจรัฐ เปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาล และผู้นำกองทัพเข้าไปใช้อำนาจทางการเมืองในฐานะผู้ปกครอง จนเป็นอภิมหาแนวโน้มในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้มีการศึกษาวิจัยและวิทยานิพนธ์เรื่องการรัฐประหาร (ของข้าพเจ้าก็เป็นหนึ่งในนั้น) ออกมาเป็นองค์ความรู้ที่น่าสนใจ ก่อนที่จะซา ๆ ไปเมื่อกระแสการพัฒนาประชาธิปไตยระลอกปลายศตวรรษที่ 20 เข้ามาแทนที่

ระยะนี้มีข่าวลือว่าจะเกิดรัฐประหารบ่อยมาก แต่การทำความเข้าใจเรื่องรัฐประหารออกแนว เมาท์เสียมากกว่า การย้อนกลับไปดูว่าการศึกษารัฐประหารได้บอกอะไรเราไว้บ้าง น่าจะเป็นประโยชน์บ้าง

ลองมาดูเร็ว ๆ ว่าคนที่ศึกษาการยึดอำนาจทางการเมืองโดยทหารเห็นว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ทหารบางกลุ่มเลือกจะยึดอำนาจรัฐ อ่านแล้วลองติ๊กตามก็ได้ว่าตอนนี้มีปัจจัยอะไรบ้างแล้ว เพื่อจะได้สรุปกันเอาเองว่าเป็นไปได้ไหมที่จะเกิดรัฐประหารในเร็ววันนี้

· เงื่อนไข ปัจจัยหลายประการถูกจัดว่าเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ทหารตัดสินใจยึดอำนาจ

o ความวุ่นวายไร้เสถียรภาพในระบบการเมือง

§ ความขัดแย้งที่กลายเป็นความรุนแรง – ปัจจัยนี้เกิดก่อนการยึดอำนาจในหลายกรณี

o ความสั่นคลอนของระบบเศรษฐกิจ

§ ความยากจนเรื้อรังและขยายในวงกว้าง

§ วิกฤตเศรษฐกิจ – การว่างงานและธุรกิจล้มละลาย

§ รัฐบาลพลเรือน (ดูเหมือน) จะไม่มีความสามารถในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจ

§ การพึ่งพิงรัฐอื่นในทางเศรษฐกิจจนขาดความเป็นอิสระทางการเมืองในด้านอื่น

o ปัจจัยภายนอกรัฐ เช่นการสนับสนุนโดยตรงโดยอ้อมของรัฐมหาอำนาจ

งานวิจัยการรัฐประหารในรัฐต่าง ๆ พบว่าเงื่อนไขเหล่านี้ไม่ค่อยสัมพันธ์ในทางสถิติกับการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นนัก เงื่อนไขจะสำคัญในกรณีที่ทหารไม่เคยทำรัฐประหารมาก่อนหรือว่างเว้นจากการทำรัฐประหารมานาน ๆ แต่ถ้าเคยทำมาแล้ว เงื่อนไขก็จะลดความสำคัญลง ความอยากทำรัฐประหารมีความสำคัญมากกว่า เพียงแต่รอจังหวะหาเหตุการณ์เหมาะ ๆ มาเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจ

เช่นเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถูกยกมาเป็นเหตุผลหลักในการรัฐประหารที่เกิดขึ้นช่วงเย็นวันเดียวกันนั้น เงื่อนไขจึงกลายเป็นเพียงโอกาสเหมาะจะยึดอำนาจมากกว่าเหตุผลของการยึดอำนาจ

· ผลประโยชน์กับความอยากทำ ผลประโยชน์หลายประเภทเกี่ยวข้องโดยตรงโดยอ้อมกับการยึดอำนาจรัฐ

o ผลประโยชน์ของ ชาติ ผลประโยชน์ของชาติกลายเป็นคำหลวม ๆ ที่คนหลายกลุ่มแย่งชิงกันนิยามความหมาย การรัฐประหารทุกครั้งอ้างอิงถึงการรักษาผลประโยชน์ของชาติเสมอ แต่ก็ถูกตั้งคำถามว่าทหารนิยามผลประโยชน์ของชาติจากมุมของสถาบันและกลุ่มของตัวเองหรือไม่ คนกลุ่มอื่นอาจจะนิยามต่างไป และไม่เห็นด้วยกับการมองของทหาร

การรัฐประหารแต่ละครั้งจะอ้างผลประโยชน์ของชาติโดยอิงกับเงื่อนไขทางการเมือง เช่นความแตกแยกในสังคม การใช้ความรุนแรงระหว่างพี่น้องร่วมชาติ เป็นต้น

o ผลประโยชน์ของ ชนชั้น

§ ทหารมองว่าตัวเองเป็นใครในเชิงชนชั้น – ไพร่, ชนชั้นกลาง, ฯลฯ

§ ทหารถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง/ ชนชั้นสูงหรือไม่

o ผลประโยชน์ของกองทัพ – กองทัพในฐานะสถาบันทางการเมืองมีผลประโยชน์ในระบบการเมืองหลายประการ

§ ส่วนแบ่งทรัพยากรส่วนรวมที่กองทัพต้องแย่งชิงกับส่วนอื่น ๆ ของสังคมการเมือง

§ เกียรติภูมิของกองทัพ

§ ความสามารถในฐานะสถาบันที่ทำหน้าที่ด้านความมั่นคง – ความแตกแยกในกองทัพกระทบกับความสามารถนี้ได้

o ผลประโยชน์ของกลุ่มทหาร งานวิจัยพบในสิ่งที่คนไทยน่าจะซาบซึ้งดีในเวลานี้คือ กองทัพไม่ได้มีเอกภาพเป็นกลุ่มก้อนเดียว แต่ประกอบขึ้นด้วยคนที่มีความคิดและความต้องการของตนเองจำนวนมาก คนเหล่านี้มีการจับกลุ่มเป็นพี่น้อง เพื่อนฝูง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ผลประโยชน์ผูกพันกัน หลายกลุ่มจึงต้องสู้ตายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกตน

o ผลประโยชน์ส่วนตัวของทหาร ทหารเป็นคนเช่นเดียวกับพวกเราทั้งหลาย ที่พยายามจะรักษาผลประโยชน์ของตัวเราเอง จึงไม่น่าประหลาดใจที่ผลประโยชน์ส่วนตัวของทหารบางคนจะผลักให้เกิดการรัฐประหารได้

การรัฐประหารแต่ละครั้งมีองค์ประกอบของกลุ่มคนที่เข้าร่วมไม่เหมือนกัน ผลประโยชน์หลากชนิดนี้ผสมผสานกันในการตัดสินใจยึดอำนาจ ทหารบางคนร่วมการรัฐประหารด้วยเหตุผลที่อาจจะดูแปลก ๆ อยู่ เช่นเพื่อเกียรติยศของวงศ์ตระกูล เป็นต้น

· ความสามารถในการทำรัฐประหาร เมื่ออยากยึดอำนาจรัฐ ไม่ได้แปลว่าทหารทุกคน ทุกกลุ่มจะทำได้ ปัจจัยหลายอย่าง ขวางการเกิดรัฐประหารได้

o การหาผู้สนับสนุนด้านการเงินและด้านการทหาร

o ความสามารถและความพร้อมในการดำเนินการทางการเมืองหลังยึดอำนาจมาได้

o ความเป็นเอกภาพในกองทัพ

o กองทัพเป็นที่นิยมชมชอบในสังคมการเมือง – ถ้าใคร ๆ ก็ไม่รัก ก็ลำบากหน่อย

· ปัจจัยขัดขวางการรัฐประหาร

o การให้ความสำคัญกับที่มาของผู้ใช้อำนาจทางการเมือง – คนในสังคมยอมรับวิธีการแบบไหนในการเข้าครองอำนาจรัฐ ยอมรับผู้นำที่ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจหรือไม่

o ความกลัวว่ากองทัพจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ เพราะการแย่งอำนาจระหว่างกลุ่มทหาร ทหารตีกันเองมีพลเมืองอยู่ตรงกลาง ก็คงได้วายวอดร่วมกัน

o ความกลัวการแตกแยกของคนในสังคมที่อาจลุกลามเป็นสงครามการเมือง

o ท่าทีของประชาคมโลกต่อการรัฐประหาร

ปัจจัยเหล่านี้ผสมผสานอย่างแตกต่างกันในการรัฐประหารแต่ละครั้ง ไม่มีสูตรสำเร็จ ลองพิจารณาแต่ละอย่างแล้วลองเอามาประกอบเข้าด้วยกันอาจจะพอเดาอย่างมีฐานทางวิชาการได้บ้างว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ข้อควรระวัง – การยึดอำนาจรัฐอาจมีรูปแบบต่างไปจากเดิมที่เราคุ้นเคย คืออาจไม่มีการเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจรัฐให้เห็นทันที แต่อำนาจไม่ได้อยู่ในมือคนที่อยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป การอำพรางเช่นนี้อาจทำให้ผู้ดูทั้งหลายไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่ารัฐประหารได้เกิดไปแล้ว

อีกประการหนึ่งคือรัฐประหารในประเทศไทยมักจะเกิดเป็น 2 ขั้น คือการยึดอำนาจรัฐจากรัฐบาลเดิม แล้วแทนที่ด้วยผู้นำพลเรือนที่คณะรัฐประหารไว้วางใจ เวลาผ่านไปสักพักก็ยึดอำนาจอีกรอบเพื่อรวบอำนาจ และกำจัดสถาบันที่สร้างปัญหาโดยการขัดคอ อย่างรัฐสภา หลังจากขั้นที่สองนี้ ผู้นำการยึดอำนาจมักจะเข้าไปดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลเอง ใช้อำนาจทางการเมืองเองโดยตรง เห็นกันอย่างนี้มาตั้งแต่ 2475 แล้วละ