Check List รัฐประหาร
การรัฐประหารได้รับความสนใจทางวิชาการน้อยลง เพราะไม่ค่อยจะมีใครทำให้ได้เห็นนัก หทารประเทศไหนที่ออกมายึดอำนาจมักจะถูกมองว่าอ ‘ล้าหลัง-ไร้สมอง’ อย่างไรอยู่ นักสังเกตการณ์ทางการเมืองหลายคนสรุปว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องพ้นยุคพ้นสมัย ฟันธงอย่างมั่นใจว่าไม่เกิดอีกแล้วอย่างแน่นอนในประเทศนี้ ทั้งที่ถูกหักปากกาเซียนโดยการยึดอำนาจของ รสช. (23 กุมภาพันธ์ 2534) และ คมช. (19 กันยายน 2549) มาแล้ว
การยึดอำนาจของทหารเคยเป็นประเด็นฮ๊อตในช่วงทศวรรษที่ 1970 – 1980 เมื่อความพยายามจะพัฒนาประชาธิปไตยในหลาย ๆ สังคมการเมืองล้มเหลว ทหารในหลายประเทศพากันเคลื่อนกำลังจากที่ตั้งออกมายึดอำนาจรัฐ เปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาล และผู้นำกองทัพเข้าไปใช้อำนาจทางการเมืองในฐานะผู้ปกครอง จนเป็นอภิมหาแนวโน้มในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้มีการศึกษาวิจัยและวิทยานิพนธ์เรื่องการรัฐประหาร (ของข้าพเจ้าก็เป็นหนึ่งในนั้น) ออกมาเป็นองค์ความรู้ที่น่าสนใจ ก่อนที่จะซา ๆ ไปเมื่อกระแสการพัฒนาประชาธิปไตยระลอกปลายศตวรรษที่ 20 เข้ามาแทนที่
ระยะนี้มีข่าวลือว่าจะเกิดรัฐประหารบ่อยมาก แต่การทำความเข้าใจเรื่องรัฐประหารออกแนว ‘เมาท์’ เสียมากกว่า การย้อนกลับไปดูว่าการศึกษารัฐประหารได้บอกอะไรเราไว้บ้าง น่าจะเป็นประโยชน์บ้าง
ลองมาดูเร็ว ๆ ว่าคนที่ศึกษาการยึดอำนาจทางการเมืองโดยทหารเห็นว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ทหารบางกลุ่มเลือกจะยึดอำนาจรัฐ อ่านแล้วลองติ๊กตามก็ได้ว่าตอนนี้มีปัจจัยอะไรบ้างแล้ว เพื่อจะได้สรุปกันเอาเองว่าเป็นไปได้ไหมที่จะเกิดรัฐประหารในเร็ววันนี้
· เงื่อนไข – ปัจจัยหลายประการถูกจัดว่าเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ทหารตัดสินใจยึดอำนาจ
o ความวุ่นวายไร้เสถียรภาพในระบบการเมือง
§ ความขัดแย้งที่กลายเป็นความรุนแรง – ปัจจัยนี้เกิดก่อนการยึดอำนาจในหลายกรณี
o ความสั่นคลอนของระบบเศรษฐกิจ
§ ความยากจนเรื้อรังและขยายในวงกว้าง
§ วิกฤตเศรษฐกิจ – การว่างงานและธุรกิจล้มละลาย
§ รัฐบาลพลเรือน (ดูเหมือน) จะไม่มีความสามารถในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจ
§ การพึ่งพิงรัฐอื่นในทางเศรษฐกิจจนขาดความเป็นอิสระทางการเมืองในด้านอื่น
o ปัจจัยภายนอกรัฐ เช่นการสนับสนุนโดยตรงโดยอ้อมของรัฐมหาอำนาจ
งานวิจัยการรัฐประหารในรัฐต่าง ๆ พบว่าเงื่อนไขเหล่านี้ไม่ค่อยสัมพันธ์ในทางสถิติกับการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นนัก เงื่อนไขจะสำคัญในกรณีที่ทหารไม่เคยทำรัฐประหารมาก่อนหรือว่างเว้นจากการทำรัฐประหารมานาน ๆ แต่ถ้าเคยทำมาแล้ว เงื่อนไขก็จะลดความสำคัญลง ความอยากทำรัฐประหารมีความสำคัญมากกว่า เพียงแต่รอจังหวะหาเหตุการณ์เหมาะ ๆ มาเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจ
เช่นเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถูกยกมาเป็นเหตุผลหลักในการรัฐประหารที่เกิดขึ้นช่วงเย็นวันเดียวกันนั้น เงื่อนไขจึงกลายเป็นเพียงโอกาสเหมาะจะยึดอำนาจมากกว่าเหตุผลของการยึดอำนาจ
· ผลประโยชน์กับความอยากทำ – ผลประโยชน์หลายประเภทเกี่ยวข้องโดยตรงโดยอ้อมกับการยึดอำนาจรัฐ
o ผลประโยชน์ของ ‘ชาติ’ – ผลประโยชน์ของชาติกลายเป็นคำหลวม ๆ ที่คนหลายกลุ่มแย่งชิงกันนิยามความหมาย การรัฐประหารทุกครั้งอ้างอิงถึงการรักษาผลประโยชน์ของชาติเสมอ แต่ก็ถูกตั้งคำถามว่าทหารนิยามผลประโยชน์ของชาติจากมุมของสถาบันและกลุ่มของตัวเองหรือไม่ คนกลุ่มอื่นอาจจะนิยามต่างไป และไม่เห็นด้วยกับการมองของทหาร
การรัฐประหารแต่ละครั้งจะอ้างผลประโยชน์ของชาติโดยอิงกับเงื่อนไขทางการเมือง เช่นความแตกแยกในสังคม การใช้ความรุนแรงระหว่างพี่น้องร่วมชาติ เป็นต้น
o ผลประโยชน์ของ ‘ชนชั้น’
§ ทหารมองว่าตัวเองเป็นใครในเชิงชนชั้น – ไพร่, ชนชั้นกลาง, ฯลฯ
§ ทหารถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง/ ชนชั้นสูงหรือไม่
o ผลประโยชน์ของกองทัพ – กองทัพในฐานะสถาบันทางการเมืองมีผลประโยชน์ในระบบการเมืองหลายประการ
§ ส่วนแบ่งทรัพยากรส่วนรวมที่กองทัพต้องแย่งชิงกับส่วนอื่น ๆ ของสังคมการเมือง
§ เกียรติภูมิของกองทัพ
§ ความสามารถในฐานะสถาบันที่ทำหน้าที่ด้านความมั่นคง – ความแตกแยกในกองทัพกระทบกับความสามารถนี้ได้
o ผลประโยชน์ของกลุ่มทหาร – งานวิจัยพบในสิ่งที่คนไทยน่าจะซาบซึ้งดีในเวลานี้คือ กองทัพไม่ได้มีเอกภาพเป็นกลุ่มก้อนเดียว แต่ประกอบขึ้นด้วยคนที่มีความคิดและความต้องการของตนเองจำนวนมาก คนเหล่านี้มีการจับกลุ่มเป็นพี่น้อง เพื่อนฝูง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ผลประโยชน์ผูกพันกัน หลายกลุ่มจึงต้องสู้ตายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกตน
o ผลประโยชน์ส่วนตัวของทหาร – ทหารเป็นคนเช่นเดียวกับพวกเราทั้งหลาย ที่พยายามจะรักษาผลประโยชน์ของตัวเราเอง จึงไม่น่าประหลาดใจที่ผลประโยชน์ส่วนตัวของทหารบางคนจะผลักให้เกิดการรัฐประหารได้
การรัฐประหารแต่ละครั้งมีองค์ประกอบของกลุ่มคนที่เข้าร่วมไม่เหมือนกัน ผลประโยชน์หลากชนิดนี้ผสมผสานกันในการตัดสินใจยึดอำนาจ ทหารบางคนร่วมการรัฐประหารด้วยเหตุผลที่อาจจะดูแปลก ๆ อยู่ เช่นเพื่อเกียรติยศของวงศ์ตระกูล เป็นต้น
· ความสามารถในการทำรัฐประหาร – เมื่ออยากยึดอำนาจรัฐ ไม่ได้แปลว่าทหารทุกคน ทุกกลุ่มจะทำได้ ปัจจัยหลายอย่าง ‘ขวาง’ การเกิดรัฐประหารได้
o การหาผู้สนับสนุนด้านการเงินและด้านการทหาร
o ความสามารถและความพร้อมในการดำเนินการทางการเมืองหลังยึดอำนาจมาได้
o ความเป็นเอกภาพในกองทัพ
o กองทัพเป็นที่นิยมชมชอบในสังคมการเมือง – ถ้าใคร ๆ ก็ไม่รัก ก็ลำบากหน่อย
· ปัจจัยขัดขวางการรัฐประหาร
o การให้ความสำคัญกับที่มาของผู้ใช้อำนาจทางการเมือง – คนในสังคมยอมรับวิธีการแบบไหนในการเข้าครองอำนาจรัฐ ยอมรับผู้นำที่ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจหรือไม่
o ความกลัวว่ากองทัพจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ เพราะการแย่งอำนาจระหว่างกลุ่มทหาร – ทหารตีกันเองมีพลเมืองอยู่ตรงกลาง ก็คงได้วายวอดร่วมกัน
o ความกลัวการแตกแยกของคนในสังคมที่อาจลุกลามเป็นสงครามการเมือง
o ท่าทีของประชาคมโลกต่อการรัฐประหาร
ปัจจัยเหล่านี้ผสมผสานอย่างแตกต่างกันในการรัฐประหารแต่ละครั้ง ไม่มีสูตรสำเร็จ ลองพิจารณาแต่ละอย่างแล้วลองเอามาประกอบเข้าด้วยกันอาจจะพอเดาอย่างมีฐานทางวิชาการได้บ้างว่าอะไรจะเกิดขึ้น
ข้อควรระวัง – การยึดอำนาจรัฐอาจมีรูปแบบต่างไปจากเดิมที่เราคุ้นเคย คืออาจไม่มีการเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจรัฐให้เห็นทันที แต่อำนาจไม่ได้อยู่ในมือคนที่อยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป การอำพรางเช่นนี้อาจทำให้ผู้ดูทั้งหลายไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่ารัฐประหารได้เกิดไปแล้ว
อีกประการหนึ่งคือรัฐประหารในประเทศไทยมักจะเกิดเป็น 2 ขั้น คือการยึดอำนาจรัฐจากรัฐบาลเดิม แล้วแทนที่ด้วยผู้นำพลเรือนที่คณะรัฐประหารไว้วางใจ เวลาผ่านไปสักพักก็ยึดอำนาจอีกรอบเพื่อรวบอำนาจ และกำจัดสถาบันที่สร้างปัญหาโดยการขัดคอ อย่างรัฐสภา หลังจากขั้นที่สองนี้ ผู้นำการยึดอำนาจมักจะเข้าไปดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลเอง ใช้อำนาจทางการเมืองเองโดยตรง เห็นกันอย่างนี้มาตั้งแต่ 2475 แล้วละ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น