วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2553

ทหารคือ "พลเมืองในเครื่องแบบ" -- Citizen in Uniform


ผู้ปกครองในสังคมการเมืองที่ไม่ได้แบ่งบทบาทหน้าที่ด้านการปกครองและการจัดการทางการเมืองเป็นเรื่อง ๆ โดยแต่ละเรื่องมีหน่วยงานหรือสถาบันเฉพาะทำหน้าที่นั้น ๆ อย่างที่เราคุ้นเคยในนี้ ได้อำนาจมาและรักษาไว้โดยการใช้กำลัง ไม่น่าแปลกที่ผู้ปกครองเหล่านั้นมักจะเป็นนักรบที่เก่งกาจด้วยเสมอ

ในสังคมที่ไม่แบ่งบทบาทหน้าที่เช่นนี้คนหรือสถาบันหนึ่งจึงเล่นบทบาทหรือทำหน้าที่หลายอย่าง ทั้งออกกติกา บังคับใช้กฎ ตัดสินผิดถูก โดยไม่ต้องแบ่งเป็นนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ที่ถูกแบ่งแยกจากกันอย่างที่คนสมัยใหม่เชื่อว่าควรจะเป็น ในบริบทเช่นนั้น กำลังทหารจึงเป็นฐานอำนาจสำคัญของการแสวงหาอำนาจ

ความคิดสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับปัจเจกที่ทรงพลังอำนาจในฐานะเจ้าของอำนาจทางการเมือง และเสรีภาพของปัจเจกในฐานะค่านิยมทางการเมืองสูงสุด พยายามจะจำกัดอำนาจรัฐเพื่อไม่ให้รังแกปัจเจกโดยการแบ่งแยกอำนาจ และการแบ่งหน้าที่บทบาท ความเชื่อใหม่ ๆ เหล่านี้ทำให้กองทัพกลายเป็นเพียงสถาบันที่มีบทบาทหน้าที่เฉพาะและต้องอยู่ภายใต้การบัญชาการของพลเรือนที่เข้าครองอำนาจโดยกระบวนการเลือกตั้งจากปัจเจกหรือพลเมืองซึ่งเจ้าของอำนาจทางการเมืองที่แท้จริง

แต่หลักการ ‘Civilian Supremacy’ นี้ไม่ค่อยปรากฎเป็นจริงในหลายสังคมการเมืองที่พยายามจะรับเอารูปแบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมมาจัดรูประบบการเมืองของตน การแทรกแซงทางการเมืองของผู้นำกองทัพที่ใช้กำลังทหารเป็นฐานอำนาจทางการเมืองของตนกลายเป็นประสบการณ์ร่วมของหลายรัฐ

ในขณะเดียวกันทหารในกองทัพสมัยใหม่ก็ถูกกดขี่ข่มเหงโดยผู้บังคับบัญชา โดยข้ออ้างสำคัญคือการรักษาระเบียบวินัยและการฝึกความแข็งแกร่งในฐานะนักรบ ทหารชั้นผู้น้อยต้องบาดเจ็บล้มตายสังเวยการฝึก การรบซึ่งหลายครั้งหลายหนเป็นเรื่องการการแย่งชิงอำนาจของผู้นำกองทัพ

แนวคิด ‘Citizen in Uniform’ เสนอว่ากองทัพและทหารในกองทัพควรถูกมองในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมการเมือง ไม่ใช่แยกออกเป็นเอกเทศจากส่วนอื่นของสังคม ทหารแต่ละคนมีสิทธิ เสรีภาพ บทบาท และความรับผิดชอบในฐานะพลเมืองของรัฐ โดยสิทธิเหล่านี้อาจจะถูกจำกัดบ้างเท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติงานในฐานะบุคคลากรด้านการทหาร แต่ต้องไม่ละเมิดหลักการสำคัญว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

แนวคิดนี้นอกจากจะเป็นการคุ้มครองทหารจากการถูกละเมิดหรือข่มเหงรังแกโดยบุคคลากรในกองทัพแล้ว ยังเป็นความพยายามจะทำให้กองทัพไม่ถูกแยกออกจากส่วนอื่นของสังคมการเมือง การเน้นบทบาทของทหารในฐานะพลเมืองของรัฐ เพื่อกองทัพจะพ้นจากสภาพการเป็นเครื่องมือของผู้ครองอำนาจรัฐในการกดขี่รังแกพลเรือนที่เป็นพลเรือน การใช้กำลังทหารโดยละเมิดกฎหมายของรัฐ หรือการใช้กองทัพเป็นฐานอำนาจทางการเมือง

มีการเสนอว่า การผลักดันให้กองทัพและบุคคลากรในกองทัพมีความพร้อมรับผิด (Accountability) ต่อสังคมการเมืองโดยรวม และการเปิดให้มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวคิด “ทหารในฐานะพลเมืองในเครื่องแบบ” ปรากฏเป็นจริงได้

แต่ความคิดความเชื่อของบุคคลากรในกองทัพว่าตนเองมีบทบาทหน้าที่ในฐานะพลเมืองด้วย ไม่ได้เป็นทหารของสถาบันใดหรือผู้นำคนไหนอย่างเฉพาะเจาะจงก็สำคัญยิ่ง ที่จะทำให้การตัดสินใจใช้ความรุนแรงกับเพื่อนร่วมสังคมการเมืองเป็นไปได้ยากขึ้

1 ความคิดเห็น:

  1. ทหารยังคงรักษาบทบาท 'ทหารของประชาชน'
    แต่ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่าง ทหาร กับ ประชาชน
    ไม่อาจทำให้ ประชาชน เชื่อได้ว่า ทหาร เป็น 'ทหารของประชาชน' จริงๆ

    ตอบลบ