น้ำตาลูกผู้หญิง
แม้ว่าผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ได้ผิดไปจากผลการสำรวจของโพลล์ต่างๆ ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง นักวิชาการและผู้รู้ทั้งหลายก็อดจะผิดหวังไม่ได้กับการตัดสินใจของ ‘คนชั้นกลาง’ ใน กทม. จึงพากันออกมาต่อว่าต่อขานประชาชน และวิเคราะห์แง่มุมต่างๆ ของการเลือกตั้งครั้งนี้กันอย่างน่าตื่นเต้น
ในตอนเย็นของวันอาทิตย์เมื่อผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่า คุณสมัคร สุนทรเวช ได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน มีหลายเหตุการณ์ของการแสดงความดีใจและเสียใจที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อท่านผู้ว่าฯ หมาดๆ เริ่มต้นการแถลงข่าวด้วยการดุผู้สนับสนุนของท่านเอง แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ภาพของผู้หญิงแกร่งไม่ธรรมดาอย่างคุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ถึงกับน้ำตาซึมกับผลที่ออกมา (ไทยรัฐ, 24 กรกฎาคม)
ความพ่ายแพ้ของคุณสุดารัตน์ (และผู้สมัครหญิงอีก 3 ทาน รวมทั้ง ‘คุณติ๋ม’ ด้วย) เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและน่าเห็นใจ คนกรุงเทพฯ ไม่เลือกคุณสุดารัตน์ด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป เช่น ความไม่ไว้วางใจพรรคไทยรักไทย หรือความหมั่นไส้กับฐานะทางเศรษฐกิจและความไฮเทคของเธอ แต่ข้อสังเกตประการหนึ่งที่คงจะปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ในที่สุดผู้หญิงก็ไม่ลงคะแนนให้ผู้หญิงอีกเช่นเคย เหมือนกับที่ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาหญิงจำนวนมากที่สอบตกได้เคยตัดพ้อไว้
ดูเหมือนการปลุกกระแสผู้หญิงของคุณสุดารัตน์จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก และน่าจะเป็น ‘การบ้าน’ ให้ทีมงานของคุณสุดารัตน์ไปคิดต่อว่าทำไมผู้หญิงจึงไม่สนับสนุนผู้หญิง ทั้งที่งานในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. มีลักษณะเป็นงาน ‘แม่บ้าน’ ที่น่าจะลองให้ผู้หญิงทำดูบ้างอย่างที่คุณสุดารัตน์พยายามเรียกร้อง
การที่เสียงของผู้หญิงไม่ได้สนับสนุนผู้สมัครหญิงอย่างหนักแน่นนั้นมีคำอธิบายได้หลายอย่าง นักวิชาการที่สนใจประเด็นผู้หญิงได้ตั้งข้อสังเกตว่านโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่เป็นผู้หญิงไม่ได้แตกต่างไปจากนโยบายของผู้สมัครชาย และไม่ได้มีลักษณะใดๆ ที่แสดงให้เห็นถึงแง่มุมของความเป็นผู้หญิง หรือความใส่ใจกับประเด็นของผู้หญิงอย่างเด่นชัด
เรื่องนี้ก็เข้าใจได้อยู่ เพราะผู้สมัครหญิงเหล่านี้ต้องการเสียงสนับสนุนจากผู้ชาย และแข่งขันกับผู้ชายในเวทีของผู้ชาย การมองประเด็นและวิธีการต่อสู้จึงมีลักษณะค่อนไปทางผู้ชาย หรือกลายเป็นผู้ชายไป เพื่อให้เป็นที่ยอมรับหรือเพื่อความอยู่รอดในเวทีการเมือง
นักสังคมศาสตร์ฝรั่งที่ศึกษานักการเมืองหญิงในสังคมตะวันตก พบว่า การที่นักการเมืองมีเพศสภาพเป็นหญิงไม่ได้หมายความว่า จะสนใจหรือเข้าใจในประเด็นของผู้หญิง เพราะความเป็นผู้หญิงนั้นเป็นเพียงแง่มุมหนึ่งของนักการเมืองเท่านั้น มิติอื่นๆ ของตัวตนของนักการเมืองผู้นั้นอาจจะมีความสำคัญมากกว่า เช่น ชนชั้นหรือพรรคการเมืองที่สังกัด อย่างเช่นกรณีของคุณสุดารัตน์ ความเกี่ยวข้องกับพรรคไทยรักไทยดูจะเป็นปัญหาสำหรับเธอมากกว่า ความเป็นผู้หญิงในสายตาของผู้ออกเสียงเลือกตั้งจำนวนไม่น้อย
นักการเมืองหญิงจำนวนไม่น้อยที่ไม่สนใจเรื่องของผู้หญิง หรือไม่ได้สนับสนุนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาของผู้หญิง ในขณะที่ผู้หญิงจำนวนมากในฐานะผู้ออกเสียงเลือกตั้งก็อาจจะให้ความสำคัญกับแง่มุมอื่นๆ ของชีวิตมากกว่าความเป็นผู้หญิงของตนเอง ดังนั้น การปลุกกระแสสนับสนุนจากผู้หญิงโดยยกเพศสภาพของผู้สมัครจึงอาจจะไม่ได้ผลในหลายกรณี
ความยากลำบากของผู้หญิงที่พยายามจะต่อสู้ในการเมืองที่เป็นทางการเช่นนี้ ยังมาจากความคาดหวังในความดีบริสุทธิ์ที่ผู้คนในสังคมมีต่อนักการเมืองหญิง มายาคติประการหนึ่งที่ผู้หญิงที่เข้าสู่แวดวงการเมืองอาศัยเป็นจุดขาย ก็คือ ความเชื่อของคนในสังคมว่าผู้หญิงซื่อสัตย์สุจริต มือสะอาดไม่โกงไม่กินเหมือนนักการเมืองชาย
สังคมคาดหวังให้นักการเมืองหญิงไม่ด่างพร้อยในทางศีลธรรม ทั้งในชีวิตส่วนตัวและงานในหน้าที่ โดยไม่ได้คาดหวังในลักษณะเดียวกันกับนักการเมืองชาย ซึ่งแม้จะกะพร่องกะแพร่งไปบ้างในเรื่องส่วนตัว ก็ไม่ได้ถูกประฌามอย่างรุนแรงเหมือนนักการเมืองหญิง มาตรฐานในทางศีลธรรมที่สังคมคาดหวังจึงดูจะสูงกว่าสำหรับผู้หญิงที่เป็นบุคคลสาธารณะ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะสังคมมองว่าหลายๆ เรื่องเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ชาย สังคมอาจจะคาดหวังความเป็นอภิมนุษย์จากบุคคลสาธารณะที่เป็นชาย โดยให้อภัยได้บ้างเมื่อผู้ชายไม่สามารถจะทำตามความคาดหวังได้ครบถ้วน แต่จะรู้สึกผิดหวังมากกว่าเมื่อนักการเมือง หรือบุคคลสาธารณะไม่สามารถทำตามความคาดหวังได้
ที่สาหัสกว่านั้นก็คือ ความน่าเชื่อถือหรือการยอมรับของสังคมที่มีต่อนักการเมืองหญิงขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์ของความเป็นผู้หญิงที่ดีงาม ไม่ด่างพร้อยในทุกแง่มุมด้วย วิธีการทำลายผู้หญิงในการเมืองที่ได้ผลเป็นอย่างยิ่งคือ การทำให้ภาพลักษณ์ที่ว่านี้สกปรกด้วยการแสดงให้เห็นความบกพร่องบางแง่มุมในชีวิตส่วนตัวทั้งที่เป็นเรื่องจริงและเรื่องเท็จ ข่าวลือ (หรือไม่ลือ) เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของนักการเมืองหญิงจึงเป็นเรื่องที่เราได้ยินได้ฟังกันเป็นระยะๆ ทั้งเรื่องของการทุจริตคอรัปชั่น หรือปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัวหลากหลายรูปแบบ คุณสุดารัตน์เองก็เคยเผชิญกับสถานการณ์เหล่านั้นมาก่อน
นอกจากนี้ นักการเมืองหญิงต้องพยายามรักษาภาพของครอบครัวที่สมบูรณ์ การเป็นแม่และเมียที่ดีไม่บกพร่องด้วย ซึ่งก็ดูจะน่าเหน็ดเหนื่อยไม่ใช่น้อยที่จะต้องทำงานในหน้าที่ของบุคคลสาธารณะ และทำหน้าที่ในครอบครัวอย่างไม่บกพร่องไปด้วย แม้ว่าสื่อมวลชนสมัยใหม่ที่ยึดติดอยู่กับภาพของ ‘ผู้หญิง 2000’ (ซึ่งก็ไม่ค่อยชัดเจนนักว่าคืออะไร แต่น่าจะหมายถึงผู้หญิงเก่งที่ทำได้ดีเลิศทุกอย่างทั้งงาน ทั้งครอบครัว) จะให้ภาพถึงการทำงานที่วุ่นวายจนมีเวลาสำหรับครอบครัวน้อยลงของนักการเมืองหญิง แต่เธอเหล่านี้ก็ต้องยืนยันให้สาธารณชนเห็นว่าได้พยายามจะทำหน้าที่แม่และเมียที่ดีเท่าที่จะทำได้ในข้อจำกัดที่มีอยู่ ถ้าไม่แสดงให้เห็นความพยายามที่ว่านี้ แต่ไปให้ภาพว่าครอบครัวมีความสำคัญรองจากงานสาธารณะก็คงจะถูกประฌามจากสังคมอีกเช่นเคย
สำหรับผู้หญิงการเข้าสู่แวดวงการเมืองที่เป็นทางการจึงไม่ใช่เรื่องของความรู้ความสามารถแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการรักษาภาพลักษณ์ให้สอดคล้องกับความคาดหวังอันสูงส่งของสังคมด้วย
และเพราะความหนักหนาสาหัสทั้งในเรื่องของความสามารถในงานสาธารณะ และการรักษาภาพลักษณ์ส่วนตัวให้สมบูรณ์ตามความคาดหวัง จึงไม่น่าแปลกใจที่น้ำตาลูกผู้หญิงในการเมืองจะไหลรินให้เห็นบ้างเป็นครั้งคราว.....
(เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 426, 31 ก.ค. - 6 ส.ค. 2543)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น