เมื่อประเด็นที่กลายเป็น Talk of the Town เกี่ยวกับสัมพันธ์ลับเชิงชู้สาวในพรรคไทยรักไทย ถูกนำเสนอโดยสื่อไทย บรรดาสาวก ‘ซ้อเจ็ด’ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเหมือนซ้อเธอรีเทิร์นจากการพักร้อน เพราะวิธีการเล่าเรื่องคาว ๆ ลับ ๆ ของคนดังโดยไม่บอกชื่อแต่ให้รายละเอียดชนิดไม่ให้พลาดว่าใครเป็นใครแบบนี้เป็นอะไรที่สาวกซ้อติดอกติดใจกันนัก
สำหรับคนที่ถอดรหัสทำนองนี้ไม่ค่อยเป็นอย่างดิฉัน ก็ต้องอาศัยคำเฉลยของบรรดาคนอ่านที่เข้าไปโพสต์ตามเว็บไซด์ต่อจากเนื้อข่าวกันยาวเหยียดเป็นหางว่าว เลยทำให้ได้รู้ว่าเรื่องลับที่ว่านี้เกี่ยวข้องกับใคร แม้ว่านักการเมืองหญิงที่ชื่อขึ้นต้นด้วยอักษร ‘อ’ จะโดนหางเลขกันไปบ้าง ไม่เว้นแม้แต่ท่านรัฐมนตรีอุไรวรรณ เทียนทอง แต่การวิพากษ์วิจารณ์และการประณามจะไปในทิศทางเดียวกัน
ดูเหมือนคนไทยที่อ่านข่าวทำนองนี้จะพากันเชื่อว่าเรื่องที่เกิดเป็นเรื่องจริง ก็เลยออกความเห็นกันสนุกสนาน บางคนไปไกลและเป็นจริงเป็นจังถึงขนาดช่วยตั้งชื่อลูกที่จะเกิดให้จนกลายเป็นเรื่องฮาคลายเครียดไปได้เหมือนกัน
การต่อประเด็นกันเช่นนี้ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตโดย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ว่า “บางทีคนไทยชอบมุมอะไรที่ปิดลับ และไม่จริง มีคนพูดแล้วลือกัน นี่แหละเป็นเหยื่อของคนที่ชอบทำลายสังคม...คนพูดแล้วไปนินทา เอาเรื่องนินทามาขยายเป็นเรื่องจริง สังคมไทยควรปรับในเรื่องนี้”
อันที่จริงอาการเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่าจะเข้าใจได้ของสังคมไทยที่ไม่ค่อยไว้วางใจผู้มีอำนาจและบุคคลสาธารณะ แต่ก็ไม่นิยมการด่ากันซึ่ง ๆ หน้าไม่ว่าจะเป็นเพราะความเคยชินกับการเมืองแบบเผด็จการอำนาจนิยมจนไม่กล้าวิจารณ์ผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมา หรือเพราะลักษณะร่วมของคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบการเผชิญหน้า
ความเคยชินกับสภาพ ‘เคลือบน้ำตาล’ ที่ข่าวสารที่เป็นทางการให้ภาพด้านเดียวเฉพาะเรื่องทางบวกและการยกย่องสรรเสริญบุคคลสาธารณะจนดูเหนือมนุษย์ ทำให้คนไทยพร้อมจะเชื่ออะไรก็ตามที่เป็นข่าวซุบซิบนินทาในทางเสียหายของบุคคลสาธารณะมากกว่าข่าวสารที่เป็นทางการ เพราะดูเหมือนการนินทาจะเป็นช่องทางเดียวที่มิติที่ซับซ้อนของประเด็นการเมืองจะถูกนำเสนอได้บ้าง
แนวโน้มจะเชื่อข่าวลือเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของบุคคลสาธารณะจึงไม่น่าจะเป็นความไร้สาระของคนไทย แต่สะท้อนแง่มุมที่น่าคิดเกี่ยวกับการตรวจสอบและลงโทษบุคคลสาธารณะด้วยวิธีการของภาคประชาชนในสังคมนี้ต่างหาก การนินทาที่มีนัยของการประณามทางสังคมเช่นนี้ไม่น่าจะถูกมองข้ามหรือมองว่าเป็นเรื่องเล็กที่ไม่ประเทืองปัญญา
การนินทาและด่าทออย่างเมามันของคนไทยหลายกลุ่มตามมาด้วยการแถลงข่าวเคล้าน้ำตาลูกผู้หญิงของคุณ ณหทัย ทิวไผ่งาม ส.ส.กทม. พรรคไทยรักไทย ที่นักข่าวหลายคนถามตรงไปตรงมาและดุเดือดลงไปในรายละเอียดส่วนตัว ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้ในบริบทที่คนทำสื่อไทยเพิ่งจะเจอกับกรณีท้องไม่ท้องของน้องแหม่มเบนโลว์ไปเมื่อไม่นานมานี้
การที่นักการเมืองถูกเล่นงานด้วยเรื่องชู้สาวไม่ใช่เรื่องใหม่ ประเด็นเกี่ยวกับพฤติกรรมและความสัมพันธ์ทางเพศของผู้หญิงในแวดวงการเมืองเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพยิ่งในการทำลายล้างความน่าเชื่อถือของผู้หญิง แง่มุมเช่นนี้ถูกใช้เพื่อตัดสินทุกเรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับผู้หญิงในแวดวงต่าง ๆ ของสังคม เราได้ยินเรื่องราวซ้ำซากเกี่ยวกับผู้หญิงที่เมื่อถูกเปิดโปงว่าแปดเปื้อนคือไม่ได้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในร่องในรอยของกรอบเรื่องเพศที่สังคมยอมรับ แล้วก็สูญเสียการยอมรับนับถือไปเลยทุกเรื่อง จนกลายเป็นว่าผู้หญิงที่ทำผิดในเรื่องเพศเลวไปหมดทุกเรื่อง เรื่องอื่นที่คิดที่ทำก็ไม่ดีหรือผิดไปหมด (ในขณะที่ผู้ชายไม่ได้ถูกประณามหรือปฏิเสธในลักษณะเดียวกัน)
เราจึงมักจะเห็นการใช้มุขเดิม ๆ เช่นนี้กับนักการเมืองหญิงหลายคนจนทำให้น้ำตาลูกผู้หญิงต้องหลั่งรินมาแล้วหลายครั้งหลายหน เรื่องราวทำนองนี้ได้เคยถูก ‘หมายเหตุ’ ไว้แล้วครั้งหนึ่งเมื่อครั้งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่ากทม. และเจอกับยุทธการข่าวลือทำนองนี้มาแล้ว การเล่นงานนักการเมืองหญิงด้วยเรื่องเซ็กส์และความสัมพันธ์ส่วนตัวเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและไม่เลือกพรรค ดูเหมือนคนสวยสาวโสดในสภาจะเคยเจอเข้ากับตัวเองมากบ้างน้อยบ้างกันมาแล้วหลายคน
คุณณหทัยเธอมองว่าในกรณีของเธอ เป้าหมายของการถูกเล่นงานไม่ใช่ตัวเธอเองแต่เธอกลายเป็นเหยื่อของการกระทำความรุนแรงในเกมการเมืองมากกว่า แต่ดูเหมือนคนที่ได้รับฟังการแถลงข่าวของเธอหลาย ๆ คนยังติดใจกับเรื่องท้อง-ไม่ท้องของเธอกันอยู่ และอยากจะเห็นหลักฐานการพิสูจน์ที่เด็ดขาดชัดเจนกว่าคำพูดของคุณณหทัยเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้อีกเมื่อกรณีนี้เกิดตามหลังคุณแหม่มที่ทำให้คนสับสนกับการท้องการอ้วนของเธอได้ไม่นานนัก
กลายเป็นว่าความชัดเจนที่จะเป็นเครื่องมือในการโต้ตอบทางการเมืองที่ได้ผล ต้องอาศัยการเปิดเผยแง่มุมในเรื่องเพศของผู้หญิงอยู่พอสมควร
บางทีการต่อสู้ทางการเมืองที่กฎเกณฑ์กติกาทำให้เรื่องเพศของผู้หญิงกลายเป็นอาวุธทางการเมืองที่สำคัญเช่นนี้ อาจไม่ใช่การยึดติดอยู่กับความเป็น ‘หญิงดี’ เพราะบรรดาหญิงดีอยู่ไม่ค่อยรอดในการเมืองที่เป็นทางการแบบนี้นัก น้ำตาลูกผู้หญิงก็ไม่ค่อยเวิร์คสักเท่าไรถ้าคนไทยที่มีแนวโน้มจะเชื่อข่าวลือยังคลางแคลงใจว่าจะเชื่อคำพูดของนักการเมืองว่าเป็นความจริงได้หรือไม่
การเล่นกับเกมการเมืองแบบนี้อาจต้องอาศัยวิธีการมองเรื่องเพศที่ต่างไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปิดเผยโปร่งใสในเวลาที่เรื่องเพศของผู้หญิงถูกทำให้เป็นประเด็นสาธารณะ อย่างการทดสอบพิสูจน์ในทางการแพทย์ที่หลายคนเรียกร้อง หรือการตั้งคำถามกลับบ้างว่าการไม่อยู่ในร่องในรอยของเรื่องเพศของผู้หญิงเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการทำงานการเมืองหรือไม่ อย่างไร ให้คนไทยหลาย ๆ คนที่เชื่อในการแยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานหรือเรื่องสาธารณะออกจากกันได้ไปคิดต่อกันบ้าง
วิธีการมองของสังคมอย่างที่เป็นอยู่กำลังสื่อว่าผู้หญิงที่เป็นขบถในทางเพศในแง่มุมต่าง ๆ เลวร้ายหรือไม่สามารถจะทำงานเคลื่อนไหวในทางการเมืองได้เลยเช่นนั้นหรือ ถ้าเป็นเช่นนั้นทำไมเรื่องเพศจึงไม่มีผลอย่างเดียวกันสำหรับผู้ชาย
เมื่อประเด็นเรื่องเพศของผู้หญิงถูกทำให้กลายเป็นเรื่องสาธารณะ การอ้ำอึ้งหรือคลุมเครือแบบหญิงดีอาจจะยิ่งตอกย้ำความเชื่อความหมายแบบเดิม ๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศในฐานะปัจจัยหลักในการตัดสินผู้หญิง ความชัดเจนหรือการตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาอาจจะทำให้ได้คิดได้ตั้งคำถามถึงบ้างแง่มุมของเรื่องเพศของผู้หญิงมากขึ้น เพื่อที่ว่าน้ำตาลูกผู้หญิงจะได้ไม่ต้องหลั่งรินให้เห็น (แล้วก็ถูกตั้งคำถามว่าทำไมต้องร้องไห้) เป็นระยะอีกต่อไป
(เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 708, 26 ธ.ค. 2548 – 1 ม.ค. 2549)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น